เป็นเรื่องที่คนไทย ’จับตาตามดูซัคเซส??“ กับกรณีภาครัฐจะ ’ตัด ตอนสัญญาณโทรศัพท์มือถือกำราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์“ ที่มีฐานในพื้นที่ประเทศเพื่อนบ้านไทย… โดยมีทั้งการสั่ง “กำจัดเสาสัญญาณเถื่อน” บริเวณตะเข็บชายแดนในเขตไทย รวมถึง “กวดขันเสาสัญญาณไม่เถื่อน” ในฝั่งไทย ไม่ให้มีการหันเข้าไปยังฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจ หลังจากทาง กสทช. ได้เผยว่า…จากการลงพื้นที่สุ่มตรวจติดตามการปรับเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ตาก พบว่า…มีเสาสัญญาณบางจุดหันไปฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงกรณี ’แก๊งคอลเซ็นเตอร์“

ภัยนี้ ’คนไทยเป็นเหยื่อกันมาก!!“…
นี่ ’เป็นทั้งภัยสังคม-ภัยความมั่นคง!!“

กล่าวสำหรับเรื่อง “เสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่” กับเรื่อง “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” นั้น ทาง กสทช. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้มีการเปิดเผยไว้ภายหลังจากลงพื้นที่ “ตรวจสอบเสาสัญญาณ” ในพื้นที่ชายแดน อย่างพื้นที่ อ.แม่สอด และ อ.แม่ระมาด จ.ตาก โดยได้ระบุไว้ว่า…พบว่ามี “เสาสัญญาณที่ไม่เถื่อน” บางจุด ที่ติดตั้งโดย “ตัวเสาสัญญาณตั้งอยู่ในเขตประเทศไทย”แต่ “ตัวรับส่งสัญญาณหันไปทางประเทศเพื่อนบ้าน” ซึ่งทาง กสทช. ระบุว่า…เรื่องนี้ไม่เพียงผิดกฎหมาย แต่ยังอาจจะเอื้อให้เกิดการทำร้ายคนไทย??

ทั้งนี้ เรื่องเสาสัญญาณไม่เถื่อน…แต่อาจเป็นปัญหา?? นั่นก็ว่ากันไป ซึ่งก็เชื่อว่าผู้ประกอบการย่อมมิได้มีเจตนาเอื้อให้เกิดการใช้สัญญาณในทางที่ผิด ส่วนเรื่อง ’เสาสัญญาณเถื่อน“นั้น…มีด้วยหรือ?? คืออะไร?? อย่างไร?? วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลที่น่าสนใจ จากที่ได้ลองไล่เรียงดูจากแหล่งข้อมูลด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่ได้มีการอธิบายแจกแจงไว้ โดยสรุปมีดังนี้คือ…. เสาสัญญาณเถื่อน หมายถึง เสาสัญญาณโทรศัพท์มือถือที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ติดตั้ง หรือติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสาที่ติดตั้งในพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต

ปัญหาจากเสาสัญญาณเถื่อน” หรือ “อันตรายจากเสาสัญญาณเถื่อน” นั้น…หลายแหล่งข้อมูลระบุไว้ตรงกันว่า… เสาสัญญาณเถื่อนอาจทำให้เกิดการ รบกวนสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆนอกจากนี้ยัง อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและความปลอดภัยของประชาชน อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ …นี่คือปัญหา-อันตราย

ขณะที่ ผู้รับผิดชอบในการจัดการกับเสาสัญญาณเถื่อน นั้น จากที่มีข้อมูลระบุไว้ก็ได้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น… กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. หรือสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่ง มีหน้าที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ ติดตาม และกำจัดเสาสัญญาณเถื่อน และนอกจากนั้น นอกจากหน่วยงานรัฐแล้ว… เจ้าของพื้นที่ หรือผู้ประกอบการโทรคมนาคม ที่พบเห็นเสาสัญญาณเถื่อน ก็มีหน้าที่ต้องแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ เพื่อดำเนินการตรวจสอบและกำจัดเสาเหล่านั้น ทั้งนี้ การกำจัด ’เสาสัญญาณเถื่อน“ เหล่านี้ ต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากหน่วยงานรัฐ เจ้าของพื้นที่ และผู้ประกอบการโทรคมนาคม

เพื่อไม่ให้ ’สร้างปัญหา-ก่ออันตราย“
ที่รวมถึงกรณี ’ภัยแก๊งคอลเซ็นเตอร์“

ปุจฉา” ที่ก็มีคนสงสัย??… เสาสัญญาณเถื่อน” เหล่านี้ “เกี่ยวข้องเช่นไรกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์??” ซึ่งกับเรื่องนี้ก็มีข้อมูลที่อธิบายเอาไว้เช่นกัน ประมาณว่า… สาเหตุที่เสาสัญญาณเถื่อนมีความเชื่อมโยงกับกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็คือ… เสาสัญญาณเถื่อน ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์หาเหยื่อจากพื้นที่ที่ไม่ถูกตรวจสอบ รวมถึง ช่วยให้เปลี่ยนทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์ได้บ่อย ๆ เพื่อหลบหนีการติดตาม แก๊งคอลเซ็นเตอร์สามารถใช้เสาสัญญาณเถื่อนเพื่อให้ ดำเนินกิจกรรมหลอกลวงผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ …นี่เป็นความเชื่อมโยงของ ’เสาสัญญาณเถื่อน“ที่จะ’ต้องกำจัด“

จากรายงานข่าวก่อนหน้านี้ ที่มีการ “โฟกัสพื้นที่ตรวจกำจัดเสาสัญญาณเถื่อน” โดยพุ่งเป้า พื้นที่ชายแดนด้าน จ.ตาก นั้น ความสำคัญของการกวดขันและเข้มงวดในบริเวณนี้ ก็เนื่องเพราะพื้นที่ดังกล่าวนี้ อยู่ใกล้กับ “พื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญ” อย่าง “เมืองชเวก๊กโก” ซึ่งเป็นที่รู้กันทั่วว่าคือพื้นที่ที่มี ฐานใหญ่ขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ดังนั้นการกำจัดเสาเถื่อนบริเวณนี้จึงสำคัญต่อภารกิจปราบ ’แก๊งคอลเซ็นเตอร์“ ที่มัก ใช้เสาสัญญาณเถื่อนบริเวณดังกล่าวนี้เป็นโครง สร้างพื้นฐานในการดำเนินกิจกรรมหลอกลวงประชาชน ใช้เสาสัญญาณเถื่อนทั้ง ใช้ในการกระทำผิดในการปกปิดตัวตน

ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดถึง “จำนวนเสาสัญญาณเถื่อน” ทั้งหมดในไทย เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกฎหมาย มีการติดตั้งแบบลับ ๆ แต่ก็มีข้อมูลย้อนหลังบางส่วนที่ได้มีการเปิดเผยเกี่ยวกับตัวเลขจำนวนเสาเถื่อนเหล่านี้เอาไว้ อาทิ ปี 2563 กสทช. รายงานว่า…มีการรื้อถอนเสาสัญญาณเถื่อนไป กว่า 1,600 ต้น ทั่วประเทศ ขณะที่ ปี 2564 มีตัวเลขที่เปิดเผยไว้โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระบุว่า…มีการพบเสาสัญญาณเถื่อน กว่า 2,000 ต้น

ซึ่งแม้จะไม่มีตัวเลขที่แน่นอนแบบชัดเจนเกี่ยวกับ ’เสาสัญญาณเถื่อนในไทย“ แต่จากข้อมูลที่เคยมีการเปิดเผยไว้ ก็สามารถที่จะสะท้อนว่า…

“เสาสัญญาณเถื่อน” นี่ ’มีจริง-มีมาก!!“
แต่ ’ไฉนจึงมี?“และ ’มีได้อย่างไร?“
’ปุจฉา“ นี้ ’สังคมยังรอการวิสัชนา“.