สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เป็นองค์กรอิสระที่มีจำนวนบอร์ด 7 คน คือหน่วยงานกุมงบประมาณรายจ่ายประจำปี สำหรับใช้แจกจ่าย-อุดหนุนโครงการต่างๆ วงเงินรวมกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี งบประมาณส่วนนี้เรียกว่า “กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “กองทุนยูโซ่ (USO)”

งบฯกองทุน USO มากกว่าอย่างน้อย 5 กระทรวง
งบฯแต่ละปีของกองทุน USO ยังมากกว่าของหน่วยงานขนาดใหญ่ระดับกระทรวง อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 5 กระทรวง ดูจากข้อมูลสำนักงบประมาณ พบว่า 5 อันดับกระทรวงที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยที่สุด ได้แก่
1.กระทรวงวัฒนธรรม 7,016 ล้านบาท
2.กระทรวงพาณิชย์ 6,822 ล้านบาท
3.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 5,591 ล้านบาท
4.กระทรวงอุตสาหกรรม 4,559 ล้านบาท
5.กระทรวงพลังงาน 2,834 ล้านบาท

มหาดไทยนำโด่ง! ส่องงบประมาณ2567 กระทรวงไหนมากสุด-น้อยสุด

จากเอกสารรายงานผลการปฏิบัติงาน กสทช. ประจำปี 2566 กองทุนฯ มีเงินคงเหลือกว่า 56,000 ล้านบาท และมีรายได้ในส่วนเงินสมทบจากผู้ได้รับใบอนุญาตฯ รวมกว่า 7,600 ล้านบาท

รายงานวิจัยเรื่อง “จับตางบ USO กสทช. : 8 พันล้านบาทกับการใช้เงินนอกเหนือภารกิจหลัก” ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ระบุว่า จากข้อมูลอย่างเป็นทางการของสำนักงาน กสทช. นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา กสทช. ได้จัดทำแผนงาน USO มาแล้วทั้งหมด 3 ฉบับ และในปัจจุบันกำลังดำเนินการร่างแผนฉบับที่ 4
-แผน USO ฉบับที่ 1 ปี 2555-2559 มีกรอบงบประมาณ 20,468 ล้านบาท
-แผน USO ฉบับที่ 2 ปี 2560-2564 มีกรอบงบประมาณ 45,456 ล้านบาท
-แผน USO ฉบับที่ 3 ปี 2565 มีกรอบงบประมาณ 8,000 ล้านบาท
-แผน USO ฉบับที่ 4 ปี 2566 มีกรอบงบประมาณ 8,000 ล้านบาท

‘บอร์ดกสทช.’เคาะอนุมัติ แผนยูโซ่ 3 และ 4 หลังวาระค้างมากว่าปี

ทั้งนี้ จากรายงานวิจัยเรื่อง “การจัดสรรเงินทุนและธรรมาภิบาลของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)” จัดทำภายใต้ความร่วมมือระหว่างสภาองค์กรของผู้บริโภค และ The101.world ซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นปี 2566 พบว่า เมื่อพิจารณาข้อมูลการจัดสรรเงินทุนของ กทปส. โดยจำแนกตามพันธกิจสาธารณะในมาตรา 52 ระหว่างปี 2561-2564 พบว่าได้จัดสรรงบประมาณมากกว่า 17,580 ล้านบาทให้กับ 366 โครงการ

พันธกิจที่ได้รับงบประมาณสูงสุดคือ การสนับสนุนให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึงและส่งเสริมผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน (วงเงิน 9,907 ล้านบาท) รองลงมาคือ การสนับสนุนการใช้ความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพ (วงเงิน 3,683 ล้านบาท) ตามมาด้วย การพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส (วงเงิน 1,933 ล้านบาท) ส่วนลำดับท้ายสุดคือ การจัดสรรงบสำหรับ 52(4) เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค (42 ล้านบาท)

ขณะเดียวกัน มีการตั้งข้อสังเกต วิพากษ์วิจารณ์ และตั้งคำถามว่าที่ผ่านมา มีการจัดสรรเงินทุนที่ไม่ค่อยตรงกับวัตถุประสงค์เท่าไหร่หรือไม่? และถูกตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของกระบวนการให้ทุน ยกตัวอย่างที่เป็นข่าวดัง ก็คือการอนุมัติกรอบงบประมาณสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก (FIFA World Cup 2022) ที่กาตาร์ (รอบสุดท้าย) เป็นเงิน 600 ล้านบาท ให้การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) โดยประธาน กสทช. นำทีมเสียงข้างมาก ระบุว่าเป็นการดําเนินการตามมาตรา 52 (1) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการเนื้อหาได้ อย่างทั่วถึง รวมถึงอ้างอิงมาตรา 36 และมาตรา 52 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงรายการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาค ทว่าข้ออ้างอิงดังกล่าวถูกองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึง คณะกรรมการ กสทช. เสียงข้างน้อย วิจารณ์ว่าการให้เงินสนับสนุนการซื้อลิขสิทธิ์บอลโลกไม่เข้าข่ายตามข้อกล่าวอ้างดังกล่าว

ผลการศึกษาในรายงานวิจัยฉบับนี้ ระบุด้วยว่า ยังมีอีกหลายโครงการที่ได้รับทุนจาก กทปส. ที่ถูกตั้งข้อสังเกตและคำถามว่าดูจะไม่ตรงวัตถุประสงค์กองทุนฯ และอาจมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาลหรือไม่ อย่างไร เช่น อนุมัติทุนสนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคาร โครงการที่เน้นนำเงินไปจัดซื้อวัสดุครุภัณฑ์มากกว่ามุ่งงานวิจัยและพัฒนา การประกวดร้องเพลง รวมถึงบางโครงการที่ดูเหมือนจะเอื้อวัตถุประสงค์เฉพาะของหน่วยงานผู้ขอรับทุนเป็นหลักมากกว่า”เพื่อประโยชน์สาธารณะ”หรือไม่? เป็นต้น

USO ส่อ“ห่างไกล” ชนบท-ผู้มีรายได้น้อย
จากข้อมูลในรายงานวิจัยเรื่อง “จับตางบ USO กสทช. : 8 พันล้านบาทฯ” ยังตีแผ่ข้อมูลที่น่าเป็นห่วงว่า กสทช. อาจกำลังเริ่มหลงลืม Keywords สำคัญของกองทุน กทปส. นี้ คือคำว่า “เพื่อประโยชน์สาธารณะ”หรือไม่? และหนึ่งในภารกิจหลักของ กสทช, ที่มีหน้าที่จัดให้มีบริการโทรคมนาคพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (Universal Service Obligation : USO) โดยพิจารณาจากการจัดสรรเงินในกองทุนฯ ที่เริ่ม “ไกลห่าง” จากพื้นที่ชนบท และกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณในแผนงาน USO ฉบับที่ 1-3 พบว่า แผนฉบับที่ 1 มีสัดส่วนการจัดสรรงบฯ ร้อยละ 93 ไปยังพื้นที่ชนบท-ผู้มีรายได้น้อย และร้อยละ 7 ไปที่คนพิการ

ขณะที่แผนฉบับที่ 2 ซึ่งเริ่มใช้ในปี 2560 สัดส่วนการจัดสรรงบฯ ไปให้โครงการที่มุ่งส่งเสริมประโยชน์ให้พื้นที่ชนบท-ผู้มีรายได้น้อย ลดลงเหลือ ร้อยละ 48 และคนพิการ เหลือร้อยละ 2 โดยมีผู้ได้รับทุนกลุ่มใหม่เข้ามา คือหน่วยงานรัฐ (เช่น โรงเรียน/โรงพยาบาล) ได้งบไปในสัดส่วนร้อยละ 24 ตามมาด้วยภาคสังคมและประโยชน์สาธารณะ ร้อยละ 23 และการพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ร้อยละ 3

จากนั้นกลุ่มเป้าหมายในส่วนของพื้นที่ชนบท และผู้มีรายได้น้อยดูเหมือนจะ “เลือนหายไป” ตั้งแต่แผนงาน USO ฉบับที่ 3 (ปี 2565) โดยครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 4,000 ล้านบาทของงบประมาณทั้งหมด เป็นการสนับสนุนระบบโทรคมนาคมด้านสาธารณสุข ซึ่ง กสทช. เสนอให้ใช้อุดหนุนบริการบรอดแบนด์ ระบบคลาวด์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลรัฐ ที่เหลือแบ่งเป็น ร้อยละ 37.5 เป็นงบสำหรับระบบโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะและความมั่นคง แต่ตัดทิ้งงบในหมวดโครงการขยายบริการโทรคมนาคมแก่สังคมโดยตรง เหลืออีกร้อยละ 12.5 เป็นงบบริการโทรคมนาคมเพื่อคนพิการ

สำหรับร่างแผน USO ฉบับที่ 4 (ปี 2566) ก็ยังมีการจัดสรรงบสนับสนุนแก่หน่วยงานรัฐ  มากกว่าการขยายบริการโทรคมนาคมเพื่อสังคม โดยงบเกินครึ่งเป็นการสนับสนุนบริการโทรคมนาคมเพื่อบริการศึกษา สาธารณสุข และความมั่นคง ส่วนที่เหลือร้อยละ 25 เพื่อประโยชน์สาธารณะ ร้อยละ 12.5 เป็นบริการโทรคมนาคมเพื่อคนพิการ และจัดสรรงบ ร้อยละ 5 สำหรับใช้จ่ายการติดตามและประเมินผลโครงการ

เปิดเผยข้อมูลบนเว็บไซต์ยังไม่ครบถ้วน?
ทั้งนี้ มาตรา 55 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ระบุว่า “ให้คณะกรรมการบริหารกองทุนเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดสรรเงินกองทุนและการดำเนินการตามวรรคหนึ่งให้ประชาชน ทราบผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน กสทช. โดยต้องแสดงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่ขอและผู้ที่ได้รับ การจัดสรรจากกองทุนและจำนวนเงินที่ได้รับการจัดสรรทั้งหมดด้วย”

จากการตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ btfc.nbtc.go.th  (เว็บไซต์หลักของ กทปส.) ภายใต้หัวข้อ ผลการจัดสรรทุน (https://btfp.nbtc.go.th/MoneyAllocation.aspx)  และผลงานกองทุน(https://btfp.nbtc.go.th/portfolio.aspx) พบว่าเว็บไซต์ของ กทปส. ยังดูเหมือนจะเปิดเผยข้อมูลไม่ครบถ้วน ดังจะเห็นได้ชัดเจนจากทุนประเภท 3 หรือทุนที่ กสทช. ประกาศ กำหนด พบว่ามีการเปิดเผยเพียง 3 โครงการ  ทั้งที่มีการให้ทุน 93 โครงการ ระหว่างปี 2561-2564 หรือผลงานกองทุน หัวข้อประเภทของทุน “USO” พบการเผยแพร่ข้อมูลแค่ 15 โครงการ (ระหว่างปี 2558-2564) เป็นต้น