ผลสรุปข้างต้นถือเป็นชัยชนะ สำหรับนายอัลวิน แบรกก์ อัยการเขตแมนฮัตตัน ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนคนแรกในสหรัฐ ที่ยื่นฟ้องคดีอาญาต่ออดีตประธานาธิบดี คดีดังกล่าวเป็น 1 ใน 4 คดีอาญาที่ทรัมป์ต้องเผชิญ ซึ่งมีแนวโน้มว่า ทุกคดีจะได้รับการพิจารณาเสร็จสิ้น ก่อนถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ในเดือน พ.ย. ปีนี้
ทรัมป์ถูกตัดสินว่ามีความผิด 34 กระทง ฐานปลอมแปลงข้อมูลทางการเงินให้กับนายไมเคิล โคเฮร อดีตทนายความของเขา ซึ่งอัยการกล่าวว่า ทรัมป์สั่งให้โคเฮน นำเงิน 130,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4.78 ล้านบาท) ไปจ่ายให้แก่ น.ส.สตอร์มี แดเนียลส์ นักแสดงภาพยนตร์ผู้ใหญ่ เพื่อไม่ให้ฝ่ายหญิงเปิดโปงความสัมพันธ์ฉันชู้สาว ระหว่างเธอกับทรัมป์ ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อปี 2559
สำหรับขั้นตอนต่อไป นายฮวน เมอร์แชน ผู้พิพากษา จะตัดสินโทษทรัมป์ ในวันที่ 11 ก.ค. 2567 หรือเพียง 4 วันก่อนการประชุมใหญ่ของพรรครีพับลิกัน ซึ่งจะเป็นการเสนอชื่อทรัมป์อย่างเป็นทางการ ในฐานะตัวแทนพรรครีพับลิกัน ที่ลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดี ในวันที่ 5 พ.ย. ที่จะถึง
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ต้องหาที่มีความผิดทางอาญา จะถูกตัดสินให้รับโทษจำคุก แต่ผู้พิพากษาอนุญาตให้ทรัมป์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อีกทั้งเมอร์แชน อาจตัดสินคุมประพฤติทรัมป์แทน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเขาตัดสินว่า ทรัมป์สมควรได้รับการลดหย่อนโทษ เนื่องจากอดีตประธานาธิบดีคนนี้มีอายุ 77 ปี รวมถึงเป็นผู้กระทำความผิดครั้งแรก และไม่มีประวัติอาชญากรรม แม้ทรัมป์อาจถูกสั่งให้จ่ายค่าปรับบางอย่างก็ตาม
กระนั้น เมอร์แชนชี้แจงอย่างชัดเจนว่า เขามีความจริงจังกับ “อาชญากรรมคอปกขาว” หรืออาชญากรรมซึ่งกระทำโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง และเคยเตือนทรัมป์ไปแล้วว่า เขาสามารถส่งทรัมป์เข้าเรือนจำได้ หากมีการละเมิดคำสั่งซ้ำหลายครั้ง
แน่นอนว่าทรัมป์สามารถยื่นอุทธรณ์คำตัดสินได้ ซึ่งภายหลังการประกาศมติของคณะลูกขุน ทรัมป์ให้คำมั่นในทันทีว่า เขาจะโต้แย้งคำตัดสินข้างต้น พร้อมกับกล่าวว่า การต่อสู้ครั้งนี้ “ยังอีกยาวไกล”
แม้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ทรัมป์จะได้รับโทษจำคุกหรือไม่ แต่หน่วยสืบราชการลับสหรัฐ ซึ่งให้การคุ้มครองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน และอดีตประธานาธิบดี ได้พบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลกลาง, เจ้าหน้าที่ระดับรัฐ และเจ้าหน้าที่เทศบาล เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะถูกจำคุกแล้ว
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ยังสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้เหมือนเดิม เนื่องจากรัฐธรรมนูญของสหรัฐ กำหนดคุณสมบัติไม่กี่ประการสำหรับตำแหน่งนี้ รวมถึงไม่มีข้อจำกัดตามลักษณะนิสัย หรือประวัติอาชญากรรม
จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่า คำตัดสินของคณะลูกขุนจะส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้งอย่างไร แต่ถ้าทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง นั่นหมายความว่า สหรัฐจะมีผู้ต้องหาเป็นผู้นำประเทศ “เป็นครั้งแรก” ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในโลกเลย.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP