วันนี้คอลัมน์ ตรวจการบ้าน จึงต้องมาสนทนากับ หัวขบวนกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ “นันทนา นันทวโรภาส” สว. กลุ่ม 18 สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม ซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยในวุฒิสภา ว่า จากนี้จะเดินหน้าท้าชนการทำงานในสภาสูงอย่างไร และสว.ชุดนี้จะเป็นความหวังของประชาชนได้หรือไม่
งานนี้ “อาจารย์นันทนา” เปิดประเด็น ว่า ที่แน่ๆ คือ สว.ชุดนี้แตกต่างจาก สว. ชุดเดิม เพราะที่มามีความแตกต่างกัน และลักษณะของการลงมติก็อาจจะไม่พร้อมเพรียงแบบของเดิม แต่ว่าก็อาจจะเป็นกลุ่มก้อนใหญ่พอสมควร ตรงนี้ก็จะเป็นความหลากหลายของวุฒิสภา ซึ่งแตกต่างจากวุฒิสภาชุดที่ผ่านมา ส่วนลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อนใหญ่จะทำหน้าที่เป็นความหวังของประชาชนได้หรือไม่นั้น เราก็ไม่อาจที่จะไปรับประกัน สว.กลุ่มที่เขามาเป็นปึกเป็นแผ่นได้ แต่ว่าในกลุ่มของเราก็ คือ สว.พันธุ์ใหม่ เราก็จะพยายามผลักดันวาระของประชาชนอย่างเต็มที่ ตามวิสัยทัศน์ที่ได้นำเสนอไป
@ผลจากการเลือกประธานและรองประธานวุฒิสภามองเห็นอะไรในสภาสูงต่อจากนี้
การมีกลุ่มที่มาอย่างเป็นปึกแผ่นลักษณะแบบนี้ และกลุ่มที่เป็น “อิสระ” รวมทั้งกลุ่ม “สว.พันธุ์ใหม่” มีจำนวนที่น้อยกว่าครึ่ง ตามผลโหวตที่เห็นสูงสุดถึง 167 คะแนน จริงๆ มันก็เกือบจะ 70-80 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว ก็สะท้อนให้เห็นทิศทางของการลงมติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่เราก็ยังมีความหวังว่าการที่ สว.ชุดนี้ ไม่ได้มาจากกลุ่มก้อนแบบ คสช. ที่มาอย่างไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน อย่างน้อยที่สุดก็ยังมีการเลือกไขว้เลือกกันไปเลือกกันมา ก็น่าจะสามารถมองไปถึงว่าบรรดา สว.ทั้งหลายที่ได้มา ก็น่าจะมีเจตจำนงในการรับใช้ประชาชน ตรงนี้ความร่วมไม้ร่วมมือที่จะเกิดขึ้นก็น่าจะผลักดันสิ่งที่เป็นวาระประชาชนได้ไม่มากก็น้อย
@ สว.พันธุ์ใหม่เสียงไม่น่าจะสู้กลุ่มใหญ่ได้ จะมีแนวทางต่อสู้อย่างไรเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน หากเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
ในฐานะที่เราเป็นเสียงข้างน้อย เราก็คงจะใช้วิธีการสื่อสารและส่งเสียงกับประชาชน คือเราจะสื่อสารกับประชาชนในทุกๆ เรื่องที่เราจะผลักดัน เราจะออกมาส่งเสียงกับประชาชนว่า วันนี้เราได้ทำอะไรไป และมตินี้ทำไมถึงไม่ผ่าน เราพยายามผลักดันอะไรในกรรมาธิการชุดต่างๆ แล้วก็ได้ผลเป็นอย่างไร ตรงนี้ก็เป็นกลยุทธ์ของเราในการที่จะเชื่อมโยงกับประชาชน ให้เข้ามาสู่สถาบันของวุฒิสภา ในขณะเดียวกันเราก็จะใช้วิธีการโน้มน้าวจูงใจให้กลุ่ม สว.ที่เป็นปึกแผ่นนั้น มองเห็นประเด็นปัญหาของสังคม ความต้องการของประชาชน ตรงนี้ถ้าเผื่อว่าสามารถที่จะทำงานร่วมกันในกรรมาธิการชุดต่างๆ ได้ ก็จะพยายามผลักดันโดยใช้วิธีการโน้มน้าวและร่วมมือกัน โดยมองเห็นประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ
@ ก่อนหน้านี้ระบุว่ากลุ่มสว.พันธุ์ใหม่มีประมาณ 30 คน แต่ผลโหวตที่ออกมาไม่เป็นไปตามนั้น เกิดอะไรขึ้นระหว่างทาง
ต้องบอกว่าฝั่งของเราๆ ยึดโยงกันด้วยแนวคิด อุดมการณ์ ซึ่งก็หอบหิ้วกันมาตั้งแต่สมัยที่ลงเลือก สว.จากรอบอำเภอ จังหวัด มาจนถึงประเทศ และเราเป็นผู้รอด ซึ่งเราก็มีกันอยู่ประมาณนี้ การทำงานของเรา ๆ เคารพเอกสิทธิ์ของแต่ละท่านเมื่อตัดสินใจร่วมกันมีมติลงมาแล้ว เราก็ไปทำตามมตินั้น มติบอกว่าเราจะลงกัน 3 ตำแหน่ง คือประธานวุฒิสภา รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 และ 2 เรามีการพูดคุยกันถึงตัวบุคคล จนกระทั่งตกผลึกมาได้เป็น 3 คนตามที่ปรากฏ
เราคาดว่าจะมีการแข่งเพียงแค่ กลุ่มที่เป็นปึกแผ่นกับกลุ่มของเรา ก็จะมีผู้เป็นแคนดิเดตแค่ 2 คน แต่พอเราไปเจอปรากฏการณ์จริง มันมีมากกว่า 2 คน ก็คือประธานวุฒิสภา มี 3 คน รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 และ 2 ไปถึง 4 คนเลย ดังนั้นตรงนี้ก็อาจจะมีมุมมองในเรื่องตัวบุคคลที่อาจจะแตกต่างกันไป เพราะดูจากคะแนนที่กระจายไป ก็กระจายอยู่ในกลุ่มของ สว.ที่เป็นอิสระ ตรงนี้เราก็เคารพในเอกสิทธิ์ของแต่ละท่าน ถ้าเราลองรวมคะแนนดูสำหรับแคนดิเดตแต่ละคนที่ไม่ใช่กลุ่มที่เป็นบ้านใหญ่ ก็จะเห็นว่ามีจำนวนประมาณกว่า 30 คน และยืนยันว่า เป็นเอกสิทธิ์ เราไม่ได้ยึดโยงกันด้วยคำสั่ง หรือว่าต้องทำอย่างนั้นทำอย่างนี้ ซ้ายหัน ขวาหัน กดปุ่ม เราไม่ได้อยู่ด้วยกันแบบนั้น
@ คิดว่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในวุฒิสภาตามที่ สว.พันธุ์ใหม่ตั้งใจไว้หรือไม่
เราก็พยายามจะที่ผลักดันสิ่งที่เป็นปัญหาของประชาชน โดยจะเริ่มจากการตั้งกรรมาธิการ และกรรมาธิการในแต่ละคณะก็ไปผลักดันภารกิจต่างๆ ไมว่าจะเป็นเรื่องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม เราก็อาจจะหยิบเรื่องทับลานมา ว่า เราจะผลักดันกันอย่างไร เราจะไปทำประชามติดีหรือไม่ หรือในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม เรื่องรัฐธรรมนูญ ก็ไปดูว่า มีขั้นตอนตรงไหนอย่างไร ที่ทาง สว.จะได้ช่วยสนับสนุนให้ปฏิบัติการนี้รวดเร็ว เชื่อว่าน่าจะเป็นสัปดาห์หน้า เมื่อได้กรรมาธิการต่างๆ แล้ว เราก็จะเริ่มขับเคลื่อนวาระต่างๆ ตามบทบาทของแต่ละกรรมาธิการ โดยวุฒิสภาก็จะมีงานที่เราต้องเริ่มอย่างรวดเร็ว เป็นวาระเร่งด่วนคือการแต่งตั้ง หรือให้การเห็นชอบบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ศาลปกครองสูงสุด ซึ่งเราก็จะเข้าไปอภิปรายกันในวุฒิสภาต่อไป
ส่วนกระแสข่าวในเรื่องที่กลุ่มก้อนใหญ่มีการจับจองเก้าอี้กรรมาธิการสำคัญ ๆ ไว้แล้วนั้น เรายอมรับว่าเขามากันเป็นปึกแผ่นและเสียงเยอะมาก ถ้าใช้การโหวตอย่างไรเขาก็ชนะ เราก็ได้เห็นแล้วจากการโหวตเลือกประมุขของวุฒิสภา แต่ทีนี้ถ้ามองในแง่ของการจะทำงานร่วมกันไปอีก 5 ปี ก็อยากจะให้ทางกลุ่มที่มากันเป็นปึกแผ่นได้มองเห็นสัมพันธภาพว่าเราจะร่วมมือกันทำงานอย่างไร ก็น่าจะจัดสรรโควตาตามสัดส่วนของแต่ละกลุ่มที่มีกันอยู่ ก็คือแบ่งมาให้ทางกลุ่มอิสระบ้าง เพื่อให้เราสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างประนีประนอม ถ้ากลุ่มที่มาอย่างเป็นปึกแผ่นไม่แบ่งปันเลยภาพมันก็จะออกมาแบบกินรวบ ซึ่งประชาชนก็คงรู้สึกไม่สบายใจ ตรงนี้คงจะเป็นการวิงวอนให้มีการหันกลับมามอง หรือการร่วมไม้ร่วมมือกันทำงานประคับประคอง จริงๆ แล้วดิฉันก็เชื่อว่าคนที่เป็น สว. 200 คนก็อยากจะเห็นภาพลักษณ์ใหม่ของ สว. ที่ไม่ใช่ภาพเดิม ถ้าหากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงมันก็ต้องมาช่วยกัน แต่ถ้าเป็นเหมือนกับกินรวบอยู่ฝ่ายเดียว สุดท้ายภาพมันจะกลายไปเป็นเหมือนกับ สว.ชุดเดิม
@มองคำว่าสภาประนอมอำนาจอย่างไร จะเกิดขึ้นได้หรือไม่
ถึงไม่ใช้คำว่าประนอมอำนาจ โดยการทำงานร่วมกันมันก็ต้องเหมือนกับเป็นการประนีประนอมกันอยู่แล้ว ถ้าหากหักหาญกันไป ไม่มีใครชนะ แล้วสุดท้ายภาพลักษณ์ของสว. ก็จะไม่ใช่ภาพลักษณ์ใหม่ที่ประชาชนเขาเกิดศรัทธาได้ ดังนั้นตรงนี้ในเรื่องการทำงานต่อไปอีก 5 ปี ก็คือเราจะบอกว่า เป็นมิติใหม่ในการที่เราจะประคับประคองภาพลักษณ์ให้มันเป็นภาพลักษณ์ใหม่ที่ประชาชนพึ่งพิงได้ ก็ต้องมาร่วมไม้ร่วมมือกัน จะใช้คำว่าประนอมอำนาจหรือประนีประนอมร่วมไม้ร่วมมือกัน คำนี้มันก็จะเป็นคำที่ประชาชนน่าจะรู้สึกดี มองว่า สว.200 คน มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและจะร่วมมือกันทำงานเพื่อผลักดันวาระให้กับประชาชน เพื่อให้ประชาชนมีที่พึ่ง เป็นวุฒิสภาซึ่งแต่เดิมประชาชนไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น
@ ฝากอะไรถึงประชาชนให้ช่วยจับตาการทำงานของ สว. บ้าง
หลังจากที่ได้แสดงวิสัยทัศน์ไปในเรื่องของ 5 ส.ที่จะผลักดันวุฒิสภาให้เป็นสภาของประชาชน ก็ได้รับเสียงตอบรับอย่างดีจากประชาชน ๆ จำนวนมากได้แสดงความรู้สึกว่าเขาอยากให้วุฒิสภาชุดใหม่เป็นสภาของประชาชน มีภาพลักษณ์เป็นที่พึ่งพิงของประชาชน ตรงนี้ประชาชนหลายคนก็เสียดาย 5 ส. เพราะว่าทางกลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ของเราไม่ได้รับเลือกเลยทั้ง 3 ตำแหน่ง แต่ดิฉันก็จะพยายามส่งมอบ 5 ส.นี้ ให้กับท่านประมุขของวุฒิสภา ถ้าเราได้ฟังกันเมื่อวันที่ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็จะได้เห็นวิสัยทัศน์ของประมุขทั้ง 3 ท่านว่าไม่ได้มีมุมมองที่จะปรับเปลี่ยนสภา ถ้าเผื่อท่านยังไม่ได้มีแนวคิดที่จะทำอะไร เราก็เสนอแนวคิด 5 ส.นี้เข้าไปเลย เพื่อให้ประมุขทั้ง 3 ช่วยกันผลักดัน เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชน ดิฉันคิดว่าประชาชนยังไม่หมดหวัง เราจะพยายามผลักดันตรงนี้ให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ ไม่สามารถจะผลักดันได้ด้วยตัวเอง ก็จะพยายามที่จะโน้มน้าวให้กลุ่มบ้านใหญ่ช่วยสนับสนุนและผลักดัน ดังนั้นประชาชนอย่าเพิ่งหมดหวัง มาดู สว.ยุคใหม่ที่เราพยายามปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์และผลักดันให้เป็นสภาของประชาชนให้ได้.