1. 1. คนวัยทำงานบนแผ่นดินไทย ราว 13 ล้านชีวิต เปรียบดั่งร่มโพธิ์ร่มไทรให้คนรุ่นก่อนผู้ระบายภาพสังคมไทยให้สมกับเป็นสังคมอายุยืน และยังเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้คนรุ่นหลังที่นับวันถือกำเนิดขึ้นน้อยลงทุกที
  2. 2. กว่าสี่สิบปีมานี้ ระบบประกันสังคมและระบบกองทุนเงินทดแทนได้ทำหน้าที่เกื้อหนุนสวัสดิภาพและสุขภาพของคนวัยทำงานเหล่านี้ด้วยความชอบธรรมตามครรลองแห่งกฎหมาย ที่สะท้อนการยืนหยัดธำรงรักษาคุณค่าของคนวัยทำงานด้วยความภาคภูมิเพราะเป็นระบบที่หลายฝ่ายร่วมแบกรับภาระร่วมรับประโยชน์ สอดคล้องกับหลัก co-creation หนึ่งในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลที่กำลังได้รับความนิยมแพร่หลายมากขึ้น
  1. 3. ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์โลกและสังคมไทย ความท้าทายใหม่เกิดขึ้นเสมอ หนึ่งในนั้นคือ โรคเรื้อรังจากพฤติกรรมไม่เหมาะสม หรือ non-communicable disease (NCD) ซึ่งฟักตัวแต่กำเนิดตามโครงสร้างทางพันธุกรรมของแต่ละคนทำปฏิกริยากับสิ่งแวดล้อมอันได้แก่ อาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์อันเป็นผลจากความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ตลอดจนการเสพสุราและยาสูบ NCD เริ่มปรากฏอาการให้ประจักษ์ตั้งแต่วัยแรงงาน และเด่นชัดมากขึ้นตามอายุ บั่นทอนผลิตภาพและคุณภาพชีวิต คิดเป็นมูลค่าความสูญเสีย 198,512 ล้านบาท โดยพบว่า เป็นต้นทุนทางตรง โดยเป็นค่ารักษาพยาบาล ร้อย ละ 23.8 และเป็นต้นทุนทางอ้อมจากการสูญเสียผลิตภาพ ถึงร้อยละ 74.2
  2. 4. สำนักงานประกันสังคม[1] รายงานว่าโรคเรื้อรังที่พบสูงสุด 3 อันดับแรกในกลุ่มผู้ประกันตนคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคเบาหวาน โดยพบจากจำนวนผู้ประกันตนจำนวน 1,373,595 คน ในปี พ.ศ. 2558 มีผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 618,760 คน โรคไขมันในเลือด 463,207 คน และ โรคเบาหวาน 246,834 คน คิดเป็นร้อยละ 45.0, 33.7, และ 17.9 ตามลำดับ
  1. 5. แม้โลกมีความรู้เพียงพอแก่การป้องกัน NCD แต่เป็นที่น่าเสียดายที่การใช้ความรู้นี้ยังจำกัด รพ.คู่สัญญาหลักจำวนมากไม่รู้ว่าผู้ประกันตนในความดูแลกำลังป่วยด้วย NCD มากเท่าใด พวกเขาได้รับการดูแลรักษาต่อเนื่องเพียงใด ผลลัพธ์เป็นประการใด ทั้งๆ ที่สำนักงานประกันสังคมและกองทุนเงินทดแทนได้พยายามสนับสนุนให้ผู้ประกันตนได้รับความคุ้มครองโรคที่ป้องกันได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  2. 6. ตามหลัก co-creation เงื่อนไขที่ขาดเสียมิได้คือ ระบบสารสนเทศที่ช่วยให้ทุกฝ่ายตระหนักรู้ความเป็นไป และช่องทางอันเป็นโอกาสที่จะร่วมกันประยุกต์ความรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ยิ่งเมื่อคำนึงถึงเทคโนโลยีดิจิทัลปัจจุบัน เช่น โทรศัพท์มือถือ crowd computing IoT (internet of things) การแชร์ข้อมูลแบบ real time จึงอยู่ใกล้แค่เอื้อมในราคาที่ถูกลงเรื่อยๆ
  1. 7. ด้วยความตระหนักถึงความสำคัญของ NCD องค์ความรู้และเทคโนโลยีดังกล่าวมาข้างต้น เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานประกันสังคมได้สนับสนุนการทดลองนำเครื่องมือ SIMPLE 7ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจสหรัฐอเมริกา มาดูแลผู้ประกันตนในโรงงานแปดแห่ง ปรากฏว่าสี่ในแปดแห่งที่ผู้บริหารโรงงาน แพทย์และทีมสุขภาพร่วมมืออย่างกระตือรือร้น ประกอบกับระบบสารสนเทศแบบเรียลไทม์ให้ทุกฝ่ายเรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ปรากฏผลลัพธ์อันน่าภูมิใจที่ได้ประจักษ์ว่า ความดันเลือดลดลง อ้วนลงพุงลดลง การสูบบุหรี่และดื่มสุราลดลง การออกกำลังกายเพิ่มขึ้น และการกินผักผลไม้เพิ่มขึ้น ตามมาตรฐานวิชาการ น่าเสียดายที่สถานการณ์โควิดเข้ามาแทรกการทดลองจึงต้องยุติลงก่อนกำหนดในเวลาเพียงสามเดือน
  2. 8. ถ้าผลการทดลองในเวลาจำกัดนั้นจะเป็นความหวังคลี่คลายความวิตกของผู้แทน…สภาอุตสาหกรรม สภาองค์กรนายจ้าง สภาองค์กรลูกจ้าง ตลอดจนกระทรวงแรงงาน…ที่เห็นตรงกันว่า ยังมีความไม่แน่นอนว่า คนวัยแรงงานสิบกว่าล้านคนทั่วประเทศได้รับการดูแลเกี่ยวกับ NCDทั่วถึงอย่างมีคุณภาพ ตามมาตรฐานทางวิชาการ และคุ้มค่า น่าจะมีการทดลองขยายผล SIMPLE 7 model ในขอบเขตกว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อสะท้อนความหลากหลายของสถานประกอบการทั่วประเทศ ซึ่งมีกำลังซื้อต่างกัน ลักษณะธุรกิจต่างกัน ตลอดจนบอกได้ว่า แต่ละหน่วยความดันเลือด น้ำหนักตัว หรือรอบเอวที่ลดลง ต้องจ่ายเท่าใด โดยในระยะยาวระบบสารสนเทศจากการทดลองขยายผลควรกลืนเป็นส่วนหนึ่งของระบบสารสนเทศหลักของสำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนเงินทดแทน เป็นบรรทัดฐานแห่งการตั้งต้น Co-creation ให้แพร่หลายสมจริงทั่วประเทศสืบไป

[1] สำนักงานประกันสังคม. ข้อมูลผู้ป่วยโรคเรื้อรังของสำนักงานประกันสังคม. อนุกรรมการพัฒนาการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในระบบ ประกันสังคม. 2558

………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด