ท่ามกลางบรรยากาศการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ที่มีการเริ่มเปิดรับสมัครไปแล้วอย่างคึกคัก ภายใต้บริบททางการเมืองระดับชาติที่มีสัญญาณความไม่แน่นอนออกมาให้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง วันนี้ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสมาสนทนากับ “แม่บ้าน กกต.” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงแนวทางในการจัดการเลือกตั้ง อบต. รวมทั้งการเตรียมการสำหรับการเลือกตั้งระดับชาติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

โดย เลขาฯกกต. เปิดฉากกล่าวว่า ประเด็นความพร้อมสำหรับการเลือกตั้ง อบต. ซึ่งก่อนที่จะมีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา กกต.ได้หารือร่วมกับผู้จัดเลือกตั้ง ที่กระทวงมหาดไทย ได้ดูทุกอย่างแล้ว ว่า มีความพร้อมที่จะจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ แม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือสถานการณ์น้ำท่วมก็ตาม ก็มีแนวทางสำหรับการแก้ปัญหาไว้ทุกด้าน

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น กกต.ได้วางแผนเตรียมการจัดการไว้แล้ว ทั้งรูปแบบหน่วยเลือกตั้ง สถานที่เลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งครั้งนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดทั่วประเทศ 28,084,339 คน ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะต้องมาที่หน่วยเลือกตั้ง จึงมีการกำหนดให้หน่วยเลือกตั้งหนึ่งไม่เกิน 600 คน โดยเป็นรูปแบบหน่วยเลือกตั้งที่ออกแบบและใช้ต่อเนื่องมาตั้งแต่การเลือกตั้งซ่อมส.ส. ที่จังหวัดลำปาง หรือ “ลำปางโมเดล” ซึ่งเป็นหน่วยเลือกตั้งที่มีการแยกช่องทางพิเศษ สำหรับคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง หรืออุณหภูมิร่างกายเกิน 37.5 องศาเซลเซียส มีจุดล้างมือโดยเจลแอลกอฮอล์เป็นจุด

ขณะที่กรรมการประจำหน่วยสวมหน้ากากอนามัย ใส่เฟซชิลด์ สวมถุงมือ โดยจะมีการทำความสะอาดภายในคูหาเลือกตั้งทุก 1 ชั่วโมง ซึ่งรูปแบบหน่วยเลือกตั้งดังกล่าวใช้ต่อเนื่อง นอกจากนั้น กกต.ยังได้หารือกับกรมควบคุมโรค ให้มาช่วยดูและออกแบบหน่วยเลือกตั้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสายพันธุ์เดลต้า ที่แพร่กระจายได้เร็วมาก ทั้งนี้จากรูปแบบที่มีการปรับปรุงหน่วยเลือกตั้งนี้ จะมีการอบรมกรรมการประจำหน่วยทั่วประเทศ เพื่อนำไปใช้กับหน่วยเลือกตั้ง อบต.ในครั้งนี้ เพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้โดยไม่เป็นสถานที่แพร่เชื้อ

 ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม ก็มีกฎหมายรองรับอยู่แล้วว่าต้องทำอย่างไรบ้าง หากเกิดสภาวะน้ำท่วม ทั้งการรับสมัครเลือกตั้ง และการลงคะแนนเลือกตั้ง หากในวันเลือกตั้งหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมที่หน่วยเลือกตั้ง ก็มีข้อกฎหมายรองรับในมาตรา 93 และ 94 ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 ซึ่งสามารถเลื่อนขยับวันได้หากไม่สามารถเลือกตั้งในวันนั้นได้

@ ช่องว่างเวลาการเลือกตั้ง อบต. ที่ถูกเว้นว่างมามากกว่า 7-8 ปี จะเป็นปัญหาสำหรับ กกต. หรือไม่

คนที่อยู่ในพื้นที่ อบต. ในช่วงหลังรัฐธรรมนูญปี 2560 มีการประกาศใช้ ได้ผ่านการเลือกตั้งมา 2 ครั้งแล้ว คือ การเลือกตั้ง ส.ส. และการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และหากดูจากตัวเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งวันแรก ทั้งผู้สมัครสมาชิก อบต. และผู้สมัคร นายกอบต. รวม 98,398 คน ซึ่งเป็นความกระตือรือร้น และจนกว่าจะถึงวันเลือกตั้ง จะมีทั้งการลงพื้นที่หาเสีย หรือการที่กกต.ลงไปรณรงค์ให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง คิดว่าความตื่นตัวของประชาชนในการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีสูงพอสมควร

ทั้งนี้สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อันดับแรก ขอให้ตรวจสอบหนังสือแจ้งไปยังเจ้าบ้านว่ามีชื่อบุคคลอื่นเพิ่มเข้ามาในทะเบียนบ้าน หรือผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบ้านของเราไม่มีชื่อก็สามารถแจ้งที่สำนักงานทะเบียนที่อำเภอได้ ทั้งการเพิ่มชื่อและถอนชื่อ ภายในวันที่ 17 พ.ย. และอันดับต่อมาคงต้องรู้แล้วว่าจะเลือกใครเป็นผู้แทนเพื่อทำหน้าที่ดูแลในพื้นที่

พอถึงวันเลือกตั้งขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดภายในหน่วยเลือกตั้ง โดยการเลือกตั้งในครั้งนี้จะมีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบ่งเป็นบัตรเลือกตั้งนายกอบต. ซึ่งจะสามารถกาได้หมายเลขเดียว ส่วนบัตรเลือกตั้งสมาชิก อบต. ส่วนใหญ่ก็จะกาได้หมายเลขเดียวเช่นกัน ยกเว้นบางพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรมาก เขตหนึ่งอาจมีสมาชิกได้ 2-3 คน ก็ขอให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งตรวจสอบให้ดีว่ามีสิทธิเลือกตั้งได้กี่คนก็ต้องดูให้ดี นอกจากนั้นขอเน้นย้ำว่าอย่าทำผิดในหน่วยเลือกตั้ง การถ่ายรูปบัตรเลือกตั้ง การโชว์บัตรเลือกตั้ง ต่างๆ ซึ่งจะทำให้มีโทษทางอาญาได้

@ ท่ามกลางบริบทความไม่แน่นอนทางการเมือง หากเกิดการยุบสภาขึ้นหลังจากนี้ กกต. มีความพร้อมจัดเลือกตั้ง ส.ส. ทั่วประเทศ มากน้อยแค่ไหน

กกต.ต้องพร้อมตลอดอยู่แล้ว เพราะ กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง และมีกฎหมายที่เขียนไว้แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ขณะนี้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมยังไม่ประกาศใช้ หากมีอุบัติเหตุทางการเมืองอะไรก็ตามก็ต้องถือกฎหมายปัจจุบันเป็นหลัก ยืนยันว่าในส่วนของ กกต.สามารถดำเนินการได้อย่าเพิ่งคาดการณ์อะไรล่วงหน้า รูปแบบการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มีข้อดีข้อเสียในมุมของการจัดการเลือกตั้งอย่างไร ปัญหาอุปสรรคแตกต่างกันอย่างไร

การจะเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือบัตรเลือกตั้งสองใบนั้นเป็นข้อที่เปลี่ยนแปลงมากกว่า เพราะก่อนหน้านี้เราก็ใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ แล้วก็เปลี่ยนมาเป็นแบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว และมีการใช้สูตรคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และกำลังจะเปลี่ยนไปเป็นแบบบัตรเลือกตั้งสองใบอีก ซึ่งประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่เป็นประเด็นทางการเมือง แต่ในส่วนของการจัดการเลือกตั้ง ของ กกต.นั้นทำได้ทุกอย่างอยู่แล้ว ทั้งบัตรเลือกตั้งใบเดียว หรือ บัตรเลือกตั้งสองใบ

แต่ที่เป็นห่วงคือเรื่อง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ(พ.ร.ป.)ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพราะต้องมีการทำไพรมารีโหวต ขณะที่เขตเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลง การหาสมาชิกพรรคจะทันหรือไม่ ซึ่งพรรคการเมืองก็ต้องปรับตัวให้ทันเรื่องการทำไพรมารีโหวตด้วย ถ้าไม่มีการร่างแก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองในเรื่องดังกล่าว ก็คงจะต้องดำเนินการตาม พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับเดิม คือ ถ้ามี 400 เขตเลือกตั้ง

พรรคการเมือง จะต้องมีการจัดตั้งสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมืองให้ครบทั้ง 400 สาขา/ตัวแทน ถึงจะส่งผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตได้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ และผมก็เป็นห่วง เพราะหากพรรคการเมืองดำเนินการไม่ทำแบบนี้ อาจจะมีการดำเนินคดีอาญาในภายหลัง เพราะกฎหมายดังกล่าวมีโทษทางอาญาด้วย

“ขณะนี้การดำเนินการจัดตั้งสาขาหรือตัวแทนพรรคการเมือง ทุกพรรคยังทำได้ไม่ครบ 350 เขตเดิม และยิ่งเปลี่ยนเป็น 400 เขต ก็จะยิ่งยากไปใหญ่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลสำหรับพรรคการเมือง ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง จึงต้องมีการแจ้งให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคทราบ ว่าขั้นตอนต่อไปของกฎหมายในการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะหากมีการยุบสภา และต้องจัดเลือกตั้งใหม่ภายใน 60 วัน การที่พรรคการเมืองจะดำเนินการกระชั้นชิด 50-60 วัน ในการตั้งสาขาหรือตัวแทนพรรค รวมทั้งการหาสมาชิกพรรคคงจะยากมาก เพราะทุกวันนี้เห็นพรรคการเมืองไปหาสมาชิกพรรคก็ยากพอสมควร”