การขยายอำนาจที่ครองมาสองทศวรรษ ด้วยการชนะเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีซีเรีย เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา ไม่สามารถที่จะทำลายสถานะความเป็นรัฐ ที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมนานาชาติ โดยเฉพาะชาติตะวันตก แต่ผู้นำชาติอาหรับได้ยอมรับในข้อเท็จจริงว่า เขายังคงมีอำนาจเบ็ดเสร็จ

ประกอบกับความวุ่นวายที่เกิดจากสหรัฐ ถอนกำลังทหารออกจากอัฟกานิสถาน ก็ยิ่งไปตอกย้ำความเชื่อในกลุ่มผู้นำชาติอาหรับ ที่จะต้องเลือกทางเดิน การคาดหมายว่าจะไม่เข้ายุ่งเกี่ยวด้วยของสหรัฐ แต่กลับถูกท้าทายจากจีน ผู้นำชาติอาหรับจึงต้องเลือกปฏิบัติเพื่อตัวเองก่อน เพราะการที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ยังต้องมีอุปสรรคปัญหา ของระยะเวลาความขัดแย้งในซีเรีย และยังมีการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19อีกด้วย

แต่รัฐบาลสหรัฐยืนกรานว่า ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายใด ๆ ที่เกี่ยวกับซีเรีย โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐแถลงว่า สิ่งที่ไม่ได้ทำและจะไม่ทำ ก็คือแสดงการสนับสนุนความพยายามที่จะฟื้นสัมพันธ์กับผู้นำเผด็จการของซีเรีย ยกเลิกคว่ำบาตรซีเรีย แม้แต่รายเดียว หรือเปลี่ยนแปลงจุดยืนเพื่อต่อต้านการฟื้นฟูซีเรีย จนกว่าจะมีความคืบหน้าชนิดแก้ไขกลับคืนมาไม่ได้ ด้วยข้อยุติทางการเมือง

Reuters

การเมืองและการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจก็สำคัญ สำหรับประเทศอาหรับไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ จอร์แดน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ( ยูเออี ) ซึ่งก็รวมไปถึงผู้สนับสนุนรายใหญ่ของผู้นำซีเรีย นั่นคือรัสเซียซึ่งก็พยายามนำซีเรียกลับคืนมา และวิธีการต่อต้านกระแสแผ่อิทธิพลของอิหร่านกับตุรกี

ประเทศตะวันออกกลางบางประเทศสนับสนุนชาวสุหนี่ทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงในพื้นที่ตอนเหนือของซีเรียซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของผู้นำซีเรีย กลายเป็นข้อกังวลให้ผู้นำอาหรับอื่น ๆ ที่ต้องการผูกสัมพันธ์กับรัฐบาลซีเรีย ที่ต่อต้านกลุ่มไอเอส

แต่ขณะที่สัญญาณความสมานฉันท์กับซีเรียกำลังเพิ่มขึ้น เช่น สมเด็จพระราชาธิบดีอับดุลลาห์แห่งจอร์แดน ได้หารือทางโทรศัพท์กับประธานาธิบดีอัสซาดเป็นครั้งแรกในรอบสิบปี นโยบายของสหรัฐจึงยังเป็นปัจจัยที่ยุ่งยาก

รัฐบาลสหรัฐนั้นยืนกรานว่า นโยบายของตนคือการถ่ายโอนอำนาจในทางการเมือง ตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) การคว่ำบาตรของสหรัฐกับซีเรียแล้วยิ่งมาเข้มงวดอีก ช่วงสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์นั้น ได้เป็นอุปสรรคสำคัญ

ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ซีเรียก็เป็นนโยบายต่างประเทศที่รัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกเช่นกัน เพราะความมุ่งมั่นที่จะต่อต้านกระแสของจีน และรัฐบาลสหรัฐยังไม่ได้ประกาศเพิ่มเติมคว่ำบาตรซีเรีย ภายใต้กฎหมายซีซาร์ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีเจตนาที่จะบีบ หรือกดดันผู้นำซีเรียนั่นเอง

เดวิด เลสช์ ผู้เชี่ยวชาญซีเรียแห่งมหาวิทยาลัยทรินิตี ในรัฐเทกซัส บอกว่า พันธมิตรของสหรัฐในโลกอาหรับ สนับสนุนให้สหรัฐยกเลิกการปิดล้อมซีเรีย และยอมให้ซีเรียกลับเข้ามาสู่โลกอาหรับ ซึ่งเรื่องนี้ดูเหมือนว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีไบเดนกำลังรับฟังอยู่

นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงจากช่วงแรก ๆ ของความขัดแย้งในซีเรียที่มีผล ทำให้ซีเรียถูกขับออกจากกลุ่มสันนิบาตอาหรับ และมีหลายรัฐเช่น ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน และยูเออี สนับสนุนฝ่ายกบฏบางกลุ่ม ต่อสู้กับรัฐบาลประธานาธิบดีอัสซาด

ความขัดแย้งนับสิบปีในซีเรียกลายเป็นชนวนกระแสต่อต้าน ให้ประชาชนจับอาวุธขึ้นมาต่อต้านประธานาธิบดีอัสซาด ช่วงปฏิวัติอาหรับสปริง คนตายเป็นแสน ประชากรลดน้อยลง และก่อให้เกิดการอพยพหลบหนีจากถิ่นฐานบ้านเกิดเพราะภัยสงคราม เข้าไปอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และหนีไปอยู่ยุโรปในฐานะผู้อพยพ

กลุ่มกบฏต่อต้านประธานาธิบดีอัสซาดยังคงมีฐานที่มั่นอยู่ทางเหนือ ด้วยการสนับสนุนจากบางชาติอาหรับ ขณะที่ภาคตะวันออกและตะวันออกเฉียงเหนือมีกลุ่มชาวเคิร์ด ซึ่งสหรัฐให้การหนุนหลัง

ทั้งนี้ เมื่อความขัดแย้งในซีเรียยังแก้ไม่ตก เพราะประธานาธิบดีอัสซาดยังคุมอำนาจส่วนใหญ่ไว้ได้ เพราะรัสเซียกับบางชาติอาหรับเป็นผู้สนับสนุนรายสำคัญ ซึ่งมักจะออกมาปกป้องความอยู่รอดของเขา ต่างกับสหรัฐที่ต้องการให้เขาถูกโค่นลงจากอำนาจ.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : REUTERS