ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ชาวอินโดนีเซียที่แต่งงาน มีจำนวนลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งสำนักงานสถิติอินโดนีเซีย (บีพีเอส) รายงานว่า จำนวนการจดทะเบียนสมรสในประเทศ ลดลงจาก 2,016,071 ครั้ง เมื่อปี 2561 เหลือเพียง 1,577,255 ครั้ง ในปี 2566
บางคนตีความแนวโน้มข้างต้นว่าเป็น “สัญญาณของความคืบหน้า” ในการลดการสมรสในวัยเยาว์ ทว่าบางส่วน รวมถึงผู้กำหนดนโยบาย เช่น สำนักงานการวางแผนประชากรและครอบครัวแห่งชาติของอินโดนีเซีย ต่างกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่ออัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศ ซึ่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 40 ปี อยู่ที่เด็ก 2.18 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน เมื่อปี 2563 และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะลดลงอย่างต่อเนื่อง จนอยู่ที่เด็ก 1.97 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคน ในปี 2588
อนึ่ง อัตราการแต่งงานที่ลดลงในอินโดนีเซีย สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าถึงการศึกษา และโอกาสจ้างงานที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้หญิง รวมถึงค่าครองชีพที่พุ่งสูงในเขตเมือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้บรรทัดฐานทางสังคมเกี่ยวกับการสมรส เกิดการเปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มในอดีตก็แสดงให้เห็นถึงความผันผวนเกี่ยวกับการเพิ่มอายุเมื่อสมรสครั้งแรก ซึ่งแม้รัฐบาลอินโดนีเซีย แก้ไขกฎหมายเมื่อไม่นานมานี้ รวมถึงการปรับอายุขั้นต่ำที่ผู้หญิงสามารถแต่งงานได้ จาก 16 ปี เป็น 19 ปี แต่ปัญหาการสมรสในวัยเด็ก ยังคงมีอยู่
แม้อัตราการแต่งงานที่ลดลง อาจสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีนัยสำคัญ แต่ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่มีส่วนทำให้อัตราการเจริญพันธุ์ลดลง คือ กระแสการใช้ชีวิตแบบ “ไม่มีบุตร” ที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มชาวอินโดนีเซียรุ่นใหม่ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากบนสื่อสังคมออนไลน์
ข้อมูลของบีพีเอส ยืนยันว่า จำนวนผู้หญิงที่ไม่มีบุตร เพิ่มขึ้นจาก 7% เมื่อปี 2562 เป็น 8.2% ในปี 2565 ซึ่งพวกเธอเป็นผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ และไม่ได้ใช้วิธีการคุมกำเนิดใด ๆ
สิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ อัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง ส่วนใหญ่เกิดจากโครงการวางแผนครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ จากการส่งเสริมให้ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในสังคมอินโดนีเซีย เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูบุตรที่สูงขึ้น อีกทั้งผู้หญิงชาวอินโดนีเซีย ยังตัดสินใจที่จะแต่งงานช้าลง เพราะพวกเธอให้ความสำคัญกับการศึกษาและอาชีพการงาน ก่อนที่จะเริ่มต้นสร้างครอบครัวด้วย
สำหรับการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงทางประชากรเช่นนี้ อินโดนีเซียอาจศึกษาตัวอย่างในประเทศอื่น ๆ ซึ่งมีนโยบายที่ประสบความสำเร็จ หากอินโดนีเซียสามารถนำนโยบายที่คล้ายคลึงกันมาปรับ และประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศ อินโดนีเซียก็จะสามารถบรรเทาผลกระทบเชิงลบที่อาจเกิดขึ้นจากแนวโน้มเหล่านี้ และช่วยเหลือคู่รักให้ปรับสมดุลระหว่างการทำงานกับชีวิตครอบครัวได้ โดยไม่ขัดแย้งกับความต้องการของพวกเขา.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES