กรณีที่มีข่าวครึกโครมเกี่ยวกับพระมหาสมปองและพระมหาไพรวัลย์ พระลูกวัดสร้อยทอง กรุงเทพฯ ประพฤติปฏิบัติไม่เหมาะไม่ควรกับสมณเพศ ซึ่งมีการเทศน์แบบคึกคะนอง ตลกโปกฮา โฆษณาและจูงใจให้ซื้อสินค้าทางสื่อสังคมออนไลน์ ตลอดจนแสดงออกทางกาย วาจาที่ไม่เหมาะสมมากมายในต่างกรรมต่างวาระ จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้างในลักษณะโลกติเตียน (โลกวัชชะ) นำมาซึ่งความสลดใจและความสะเทือนใจแก่อุบาสก อุบาสิกาซึ่งเป็นผู้ครองเรือนอยู่ในเพศคฤหัสถ์

ชาวพุทธพึงทราบว่าก่อนที่พระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน ทรงฝากพระพุทธศาสนาไว้กับพุทธบริษัท ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ให้ร่วมกันดำรงรักษาพระพุทธศาสนาสืบไป โดยมีพระธรรมเป็นศาสดาสืบแทน การทำหน้าที่ของพุทธบริษัทจึงมีความสำคัญต่อการดำรงคงอยู่ของพระพุทธศาสนา กล่าวคือ ภิกษุมีหน้าที่สำคัญสองประการ คือ ประการแรก ศึกษาพระธรรม (คันถธุระ) ประการที่สอง อบรมเจริญปัญญา (วิปัสสนาธุระ) ส่วนอุบาสก อุบาสิกามีหน้าที่ทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา และฟังธรรมตามกาล พุทธบริษัทในปัจจุบัน ได้แก่ ภิกษุ อุบาสก อุบาสิกา ไม่มีภิกษุณีดังเช่นในครั้งพุทธกาล หากพุทธบริษัทไม่ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง จะส่งผลให้พระพุทธศาสนามีความมัวหมองและเสื่อมลงไปตามกาลเวลา ฉะนั้นชาวพุทธจึงควรรู้ว่า ใครคือภิกษุ ใครคือภิกษุทุศีล ใครคือภิกษุที่ปลอมบวช เพื่อจะได้แยกแยะให้รู้ว่า ภิกษุรูปใดมีคุณสมบัติเหมาะสมกับการบวชและบวชอยู่ในบวรพระพุทธศาสนาอย่างถูกต้อง

ภิกษุ คือ ผู้ขออันประเสริฐ ดำรงชีวิตอยู่ในเพศบรรพชิตด้วยการอาศัยก้อนข้าวของชาวบ้านจากการบิณฑบาตร มีเครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน 8 อย่างซึ่งเป็นอัฐบริขาร ได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ บาตร มีดโกนหรือมีดตัดเล็บ เข็ม ประคดเอว กระบอกกรองน้ำ การทำกิจของภิกษุได้อย่างถูกต้อง และมีการขัดเกลากิเลส ประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทในพระวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ 227 ข้อ เผยแผ่พระธรรมตรงตามพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก โดยเป็นเนื้อนาบุญของอุบาสก อุบาสิกา ภิกษุผู้ซึ่งทำหน้าที่ของตนได้อย่างถูกต้อง และมีวัตรปฏิบัติที่งดงาม จึงจะเป็น “ภิกษุในพระธรรมวินัย” ย่อมเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของอุบาสก อุบาสิกา พระพุทธศาสนาจึงจะมีความเจริญมั่นคงและเจริญรุ่งเรืองสืบไป

ภิกษุทุศีล คือ ผู้บวชเป็นภิกษุที่ไม่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เพราะบวชด้วยความเข้าใจผิดโดยเข้าใจว่าเป็นการบวชตามประเพณี บวชเพื่อทดแทนพระคุณบุพการี บวชเพื่อหวังให้มีชีวิตดีขึ้น ประการสำคัญบวชด้วยวัตถุประสงค์ที่ไม่ถูกต้อง อาทิ ไม่มีอาชีพ บวชเพื่อแสวงหาลาภ สักการะ บวชเพื่อหนีปัญหาชีวิต ฯลฯ ผู้บวชเป็นภิกษุเช่นนี้ เมื่อได้บวชเป็นภิกษุแล้วก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของภิกษุอย่างถูกต้อง กอปรกับไม่มีอัธยาศัยในการครองตนอยู่ในเพศบรรพชิตมีการล่วงละเมิดสิกขาบทในพระวินัยทั้งโทษหนักและโทษเบาอย่างไม่สนใจไยดี ซึ่งเป็นการกระทำย่ำยีต่อพระพุทธศาสนา โดยไม่มีความเคารพยำเกรงต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อีกทั้งยังมีการใช้เดรัจฉานกถาและเดรัจฉานวิชาในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ พระพุทธศาสนาจึงเกิดความมัวหมองและเสื่อมลงจากวิกฤติศรัทธาของอุบาสก อุบาสิกา

เพื่อให้ชาวพุทธได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในสิกขาบทซึ่งเป็นข้อประพฤติปฏิบัติของภิกษุตามที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ จึงขอน้อมนำสิกขาบทต่างๆ ที่มีอยู่ในพระวินัยปิฎก เหตุการณ์และเรื่องราวในพระสุตตันตปิฎก มาให้ได้ศึกษาและพิจารณา ดังนี้

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม 3 หน้า 333 อุทายิสูตร แสดงองค์คุณแห่งพระธรรมกถึก ดังนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกร อานนท์ การแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ไม่ใช่ทำได้ง่าย ภิกษุเมื่อจะแสดงธรรมแก่ผู้อื่น พึงตั้งธรรม 5 ประการไว้ภายใน แล้วจึงแสดงธรรมแก่ผู้อื่น 5 ประการเป็นไฉน ? คือ ภิกษุพึงตั้งใจว่า เราจักแสดงธรรมไปโดยลำดับ 1 เราจักแสดงอ้างเหตุผล 1 เราจักแสดงธรรมอาศัยความเอ็นดู 1 เราจักเป็นผู้ไม่เพ่งอามิสแสดงธรรม 1 เราจักไม่แสดงให้กระทบตนและผู้อื่น 1

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต โรณสูตร ดังนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย การขับร้อง คือ การร้องไห้ในวินัย ของพระอริยเจ้า การฟ้อนรำ คือ ความเป็นบ้าในวินัยของพระอริยเจ้า การหัวเราะ จนเห็นฟันพร่ำเพรื่อ คือ ความเป็นเด็กในวินัยของพระอริยเจ้า เพราะเหตุนั้นแหละ ท่านทั้งหลาย จงละเสียโดยเด็ดขาดในการขับร้องฟ้อนรำ เมื่อท่านทั้งหลายเบิกบานในธรรม ก็ควรแต่ยิ้มแย้ม”

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม 2 – หน้าที่ 920 ดังนี้

“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย ไม่พึงพูดปรารภพระพุทธ พระธรรม หรือพระสงฆ์ เล่น รูปใดฝ่าฝืน ต้องอาบัติทุกกฎ”

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อุทาน ราชสูตร ดังนี้

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกร ภิกษุทั้งหลาย การที่เธอทั้งหลายพึงกล่าวถ้อยคำเห็นปานนี้นั้น ไม่สมควรแก่เธอทั้งหลายผู้เป็นกุลบุตร ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธาเลย ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายประชุมกันแล้ว ควรทำเหตุสองประการ คือ ธรรมมีกถา หรือ ดุษณีภาพ(นิ่ง) อันเป็นของพระอริยะ”

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม 2 – หน้า 85 ดังนี้

พูดล้อประชดกระทบการงาน

อนุปสัมบัน(ภิกษุ) ไม่ปรารถนาจะด่า ไม่ปรารถนาจะสบประมาทอุปสัมบัน ไม่ปรารถนาจะทำให้อัปยศ แต่มีความประสงค์จะล้อเล่น จึงพูดกะอนุปสัมบันมีการงานทราม ด้วยการกล่าวกระทบการงานอุกฤษฏ์ คือ พูดกับอนุปสัมบันผู้เป็นช่างไม้ พูดกับอนุปสัมบันผู้เป็นคนเทดอกไม้ ว่า ท่านเป็นชาวนา ท่านเป็นพ่อค้า ท่านเป็นคนเลี้ยงโค ดังนี้เป็นต้น ต้องอาบัติทุพภาสิต ทุกๆ คำพูด

พูดล้อยกยอกระทบการงาน

อนุปสัมบันไม่ปรารถนาจะด่า ไม่ปรารถนาจะสบประมาทอุปสัมบัน ไม่ปรารถนาจะทำให้อัปยศ แต่มีความประสงค์จะล้อเล่น จึงพูดกับอนุปสัมบันมีการงานอุกฤษฏ์ ด้วยการกล่าวกระทบการงานอุกฤษฏ์ คือ พูดกับอนุปสัมบันผู้เป็นชาวนา พูดกับอนุปสัมบันผู้เป็นพ่อค้า พูดกับอนุปสัมบันผู้เป็นคนเลี้ยงโค ว่า ท่านเป็นชาวนา ท่านเป็นพ่อค้า ท่านเป็นคนเลี้ยงโค ดังนี้เป็นต้น ต้องอาบัติทุพภาสิต ทุกๆ คำพูด

ภิกษุพูดเท็จ เป็นอาบัติปาจิตตีย์

ภิกษุพูดเท็จ พูดไม่จริง เป็นอาบัติปาจิตตีย์ (ตกไปจากกุศลจิต,ทำให้กุศลจิต ตกล่วงไป)

พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เล่ม 2 หน้า 4 ดังนี้

เป็นปาจิตตีย์ในเพราะสัมปชานมุสาวาท(กล่าวเท็จทั้งที่รู้)

ถ้าหากประมวลการล่วงพระวินัยในส่วนที่เกี่ยวกับการเทศน์ตลกของภิกษุสามารถพิจารณาได้ ดังนี้

ยกเอาพระรัตนตรัย มากล่าวล้อเล่น เป็นอาบัติทุกกฎ

พูดล้อเล่นกับบุคคลอื่น ไม่ว่าจะกับภิกษุด้วยกันเองหรือกับคฤหัสถ์ ก็ตาม ด้วยการล้อ

ชื่อ ล้อตระกูล ล้อการงาน เป็นต้น เป็นอาบัติทุพภาษิต

เรื่องที่พูดนั้น ไม่จริง เป็นคำเท็จ ถ้าภิกษุพูดคำไม่จริง ก็เป็นอาบัติปาจิตตีย์

เมื่อแสดงจบ มีการรับเงิน ภิกษุที่รับเงิน ก็เป็นอาบัติเพิ่มอีก คือ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์ ในสิกขาบทที่ 8 แห่งโกสิยวรรค ดังนี้ “อนึ่ง ภิกษุใด รับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทอง เงิน หรือ ยินดีทอง เงิน อันเขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์” ต้องสละเงินนั้นในท่ามกลางสงฆ์ จึงจะแสดงอาบัติได้ ถ้ายังไม่สละ ก็มีอาบัติติดตัวเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
ภาพจาก : วิกิพีเดีย
และ เดลินิวส์
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม