เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ “บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2024” จัดต่อเนื่องในทุกสองปี โดยมูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ ร่วมกับบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผสานความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรภาครัฐและเอกชนทุกภาคส่วน ในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “รักษา กายา” แสดงผลงานศิลปะร่วมสมัยจัดเต็มจาก 76 ศิลปินชั้นนำทั่วโลก ณ สถานที่สำคัญใจกลางกรุงเทพมหานคร 11 แห่ง นับจากนี้ถึง 25 กุมภาพันธ์ 2568
Bangkok Art Biennale หรือ BAB ในครั้งที่ 4 ครั้งนี้แสดงผลงานในสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของกรุงเทพมหานคร ทั้งใน ย่านใจกลางเมือง หอศิลป์ สถานที่ที่มีความสำคัญทางศิลปวัฒนธรรมและมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ ได้แก่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร,วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร,วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร,วัดบวรนิเวศวิหาร,พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร,พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป,หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร,มิวเซียมสยาม พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้,วันแบง ค็อก,ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์และศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

นอกจากสร้างรายได้ในเชิงการท่องเที่ยว ยังเป็นการสร้างโอกาสให้กับศิลปินไทยและศิลปินจากทั่วโลกแสดงผลงานในกรุงเทพมหานคร ทั้งให้คนไทยและชาวโลกได้ร่วมชื่นชม สำหรับครั้งนี้ “รักษา กายา (Nurture Gaia)” แสดงผ่านผลงานศิลปะร่วมสมัยจากทั่วโลกด้วยสื่อศิลปะที่หลากหลาย เพื่อสะท้อนถึงสภาพปัจจุบัน ฉุกคิดและมองหาวิธีใหม่ในการจัดการกับประเด็นปัญหาของอนาคตในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร หนึ่งในพื้นที่จัดแสดงผลงาน 36 ศิลปิน แสดงในพื้นที่ศิลปะห้องนิทรรศการหลักชั้น 9 จัดแสดงถึง 24 พฤศจิกายน ขณะที่ห้องนิทรรศการหลักชั้น 7-8 แสดงผลงานต่อเนื่องถึง 25 กุมภาพันธ์ 2568 ทั้งนี้พาชมผลงานที่จัดแสดงในพื้นที่นี้ อาทิ งานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ของ ชเว จอง ฮวา ศิลปินและนักออกแบบที่ผลงานของเขาทลายขอบเขตระหว่างทัศนศิลป์ กราฟิกดีไซน์ ออกแบบอุตสาหกรรม และสถาปัตยกรรม โดยได้รับแรงบันดาลใจจากความกลมกลืนและความวุ่นวายของสภาพแวดล้อมในเมือง ครั้งนี้ศิลปินเชื้อเชิญให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งกระตุ้นให้คิดถึงวิกฤตการณ์ที่แท้จริงโดย Breathing ชุดผลไม้ผักหลายสีสันและดอกบัวที่กำลังบานจัดแสดงที่นี่ฯลฯ

ขณะที่ผลงานของ ญาณวิทย์ กุญแจทอง ศิลปินที่เติบโตและผูกพันกับผืนป่าซึมซับและเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ซึ่งกลายเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์งานศิลปะใน BAB 2024 ศิลปินจัดแสดงผลงานที่หอศิลปกรุงเทพฯและวัดโพธิ์เชื่อมโยงความคิดระหว่างสองสถานที่ ผ่านโคลงกลบทพยัคฆ์ข้ามห้วยจากจารึกวัดโพธิ์ ที่ประพันธ์โดยกรมหมื่นไกรสรวิชิต วรรคหนึ่งว่า“จะนับวันคืนลับไม่กลับคืน” ซึ่งสร้างความสะเทือนใจอย่างลึกซึ้ง ศิลปินนำต้นพยูงที่ล้มตายมาบดเป็นผงและโรยเป็นประโยคเดียวกันนี้บนพื้นหอศิลป์ฯและที่วัดโพธิ์ อีกทั้งที่ผนังข้อมูลสะท้อนถึงความสูญเสียของธรรมชาติ พร้อมตั้งคำถาม ฯลฯ

ผลงานของ อากิ อิโนมาตะ มุ่งประเด็นที่การสร้าง ไม่ได้จำกัดอยู่แต่มนุษย์ ศิลปินสร้างงานศิลปะร่วมกัน สิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์ ศิลปินสำรวจความสัมพันธุ์ระหว่างสัตว์กับมนุษย์และสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นมาจากความสัมพันธ์เหล่านั้น แนวคิดในนิทรรศการคือการเชื่อมโยงโลกทัศน์ของมนุษย์ สิ่งมีชีวิตและวัตถุเข้าหากันใหม่แสดงในมาตราส่วนเวลาของอดีต ปัจจุบันและอนาคต ฯลฯ
อีกผลงานจาก มาอิ ยามาชิตะ+นาโอโตะ โคบายาชิ การทำงานของสองศิลปินเน้นการพัฒนาความสัมพันธ์ใหม่ๆที่พิเศษระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ครั้งนี้นำเสนอผลงานสามชุด การทำงานกับธรรมชาติที่เรียบง่ายและมีเอกลักษณ์สื่อให้เห็นเป็นนัยว่าจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างไรในยุคสมัยนี้ ฯลฯ เป็นส่วนหนึ่งจาก 36 ศิลปินที่จัดแสดงหนึ่งใน 11 สถานที่สำคัญใจกลางกรุงเทพร่วมบอกเล่าแนวคิดรักษา กายา.