จากผลสำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง “ดัชนีการเมืองไทยเดือนต.ค.2567”  ที่ออกมา ปรากฏว่า ผลคะแนน  “นายกฯ อิ๊งค์” พุ่งสูงขึ้นจากการทำงานที่ตอบสนองปัญหาของประชาชนอย่างทันท่วงที สามารถวัดได้หรือไม่ว่า รัฐบาลเดินมาถูกทาง สร้างผลงานมัดใจประชาชนได้จริงไหม

“คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงต้องมาสนทนา กับ “ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ที่เกาะติดการทำงานของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ก็ระบุถึงเรื่องนี้ ว่า ฟังผลสำรวจความเห็นของสถาบันวิจัยแห่งหนึ่ง ที่เผยแพร่ผลสำรวจความเห็นประชาชนให้คะแนนสูงกับผลงาน “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี” คนปัจจุบัน ตนไม่ทราบว่า ไปสำรวจกลุ่มไหน ตั้งคำถามแบบใด ถ้าถามว่า “รัฐบาลจะอยู่รอดหรือไม่” แล้วคนบอกว่าอยู่รอด ก็เป็นคนละเรื่องกับการถามว่า “รัฐบาลทำงานได้ดีหรือไม่” หากผลสำรวจบอกว่ารัฐบาลทำงานได้ดี ตนคิดว่า มันขัดแย้งกับสิ่งที่เห็น ที่เป็นอยู่ 

เพราะผลงานโดยรวมตั้งแต่สมัยนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ มาจนถึงตอนนี้ รัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย คิดแต่จะแจกเงิน แถมยังผิดสัญญาจากที่บอกว่าจะแจกเป็นดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 10,000 บาท มาเป็นแจกเงินสดได้บางส่วน ซึ่งยังไม่รู้ด้วยว่า ผิดกฎหมายหรือไม่ เพราะจะอธิบายแบบเดียวกับการแจกดิจิทัลไม่ได้

นอกจากนี้ยังพยายามทำเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง อาทิ การแก้ไขเพิ่มเติม หรือยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทบไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน ประเทศชาติ แต่เป็นเรื่องผลประโยชน์ของนักการเมือง พรรคการเมือง แถมยังผลักดันนโยบายทำร้าย ทำลายบ้านเมือง เช่น เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และเอากัญชากลับเป็นยาเสพติด  ล่าสุดยังมีปัญหาเขตแดนไม่รู้ว่า MOU 44 จะปาดเอาเกาะกูดไปหรือไม่อย่างไร ซ้ำด้วยพรรคร่วมทะเลาะกัน ต่างคนต่างแสวงหาประโยชน์ของตัวเอง

ยังไม่รู้เลยว่า วันนี้ใครอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนในแง่ของการได้มีผู้บริหารราชการแผ่นดินที่ดีบ้าง

@ การทำเรื่อง MOU44 ช่วงนี้ เป็นเรื่องปกติ หรือมีแรงจูงใจอะไร

ปัญหาใหญ่ที่สุดคือ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลนี้ต่ำจนแทบไม่มีเลย ทำให้ประชาชนไม่ปลงใจที่จะให้ดำเนินการตาม MOU44 หลายคนบอกว่า สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีปัญหาทั้งเรื่องเขาพระวิหาร สถานการณ์บ้านเมืองตอนนั้นไม่ดี การพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทย กัมพูชาไม่คืบหน้า จึงจะเลิก MOU 44  ทั้งๆ ที่ควรดูเนื้อหาใน MOU ว่า ก่อผลกระทบทางลบหรือไม่ ถ้ามีปัญหาก็เลิก ไม่ว่าสถานการณ์บ้านเมืองจะดีหรือไม่ดี 

พอสถานการณ์ดีขึ้นแล้วยังบอกว่า ผ่านมา 2-3 รัฐบาล ขนาดรัฐบาลทหารยังไม่ทำอะไร นั่นก็เป็นการที่ไม่ดำเนินการตาม MOU 44 เท่านั้น ไม่ได้แปลว่า MOU44 ไม่มีปัญหา ไม่ได้แปลว่าสถานการณ์บ้านเมืองไม่ถูกนำมาคิด แต่เป็นเพราะยังไม่สุกงอมพอที่จะสร้างประเด็นขึ้นมา แต่พอมาถึงตอนนี้ รัฐบาลคิดว่ามันสุกงอมพอที่จะตั้งประเด็นขึ้นมา

สถานการณ์วันนี้คล้ายสมัยที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์อยากจะยกเลิก เพราะมองว่า MOU 44 มีปัญหา แต่ที่ต่างกันคือ วันนี้ เป็นประชาชน หรือคนที่มีความเกี่ยวข้องเป็นคนมองว่า MOU นี้มีปัญหา ซึ่งไม่ได้แปลว่าว่า เขาอยากมีปัญหากับรัฐบาล หรือพรรคเพื่อไทย แต่เขาไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาล นี่คือปัญหาสำคัญที่สุด

อย่าอ้างว่าไม่ใช่เรื่องระหว่างประเทศ แต่เป็นเรื่องที่คนไทยทะเลาะกันเอง ที่ประเทศไทยเสียทีข้าศึกแต่ละครั้งล้วนเกิดจาก การที่คนไทยทะเลาะกันเอง ดังนั้นจะต้องถอยจากตรงนี้เพื่อไม่ให้คนไทยทะเลาะกันเอง ทำให้ท้ายที่สุดมีคนไทยกลุ่มหนึ่งไปประเคนผลประโยชน์ให้ต่างชาติ ซึ่งทุกวันนี้คนกำลังชี้นิ้วไปที่พรรคเพื่อไทย หรืออาจจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายทักษิณ ชินวัตร ประชาชนไม่ไว้ใจอยู่แล้ว เพราะไม่เคยทำอะไรให้คนในบ้านเมืองไว้ใจได้เลย

“ปัญหาสำคัญคือ คนไม่ไว้เนื้อเชื่อใจรัฐบาลนี้เลยไม่คิดปล่อยให้คุณไปเจรจาภายใต้ MOU 44 ที่เนื้อในมีปัญหา สมมุติประชาชนเชื่อใจรัฐบาลเพราะเห็นไม่มีนอกมีใน ต่อให้ MOU มีปัญหา ก็เชื่อว่า ประชาชนก็จะบอกว่าไม่เป็นไร รัฐบาลจะช่วยเจรจาให้เราได้อยู่แล้ว”

รัฐบาลต้องแสวงหาความเชื่อใจของประชาชนกลับมาด้วยการยกเลิก MOU 44 ประชาชนจะเริ่มรู้สึกว่าอย่างน้อยรัฐบาลยังฟัง แล้วค่อยจัดทีมที่มีความรู้ หลากลายไปคุยใหม่ ไม่ใช่เอาแค่คนของตัวเอง หรือแค่กระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น ที่สำคัญส่วนตัวคิดว่า กระทรวงการต่างประเทศกำลังเป็นหนังหน้าไฟให้รัฐบาล รับประกันได้หรือไม่ว่าที่พูดมาจะไม่ซ้ำรอยจำนำข้าว ข้าราชการต้องรับทุกอย่าง ต้องเข้าคุก แต่นักการเมืองทิ้งไปอยู่เมืองนอก  อยากจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่

“อยากจะเป็นคนบาปของแผ่นดิน ที่มีส่วนทำให้เสียบ้านเสียเมืองอย่างนั้นหรือ แทนที่จะยึดมั่นในประเทศชาติ ประชาชน กลับไปอยู่ฝั่งนักการเมือง เรื่องนี้เรื่องใหญ่” 

@ การยกเลิก MOU สามารถทำได้เลย หรือจะทำให้ไทยเสียเปรียบหรือไม่

ตนคิดว่ายกเลิกได้เลย และถ้าเกิดกัมพูชาจะมีปัญหา ถ้าบอกว่าจะฟ้องศาลโลก รัฐบาลกลัวอะไร ที่จริงคุณกลัวจะเสียหน้าบนเวทีโลกมากกว่าความกลัวที่จะเสียดินแดน เข้าข่ายโบราณว่า “ฉิบหายไม่ว่าเสียหน้าไม่ได้” แต่สำหรับตนคิดว่ายกเลิกแล้ว สามารถทำใหม่ได้ เรายังคุยเรื่องนี้ได้ แต่ไม่ได้คุยผ่าน  MOU 44  

@ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชามติจะเดินหน้าได้หรือไม่ 

การแก้รัฐธรรมนูญ และแก้รายมาตราไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ปัญหาคนพวกนี้คือจะยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อประโยชน์ของนักการเมือง พรรคเพื่อไทยคิดแต่จะเอาประโยชน์ให้ตัวเอง ฝั่งพรรคประชาชนก็เพื่อประโยชน์ตัวเอง และหวังตีกลับคณะรัฐประหาร ส่วนพรรคอื่นๆ ไม่ได้มีอะไร แต่เกาะเอาผลประโยชน์กับเขาไป 

ถามว่าถ้าอยากยกร่างฉบับใหม่ จะแก้กฎหมายประชามติทำไม ก็เอากฎหมายประชามติฉบับปัจจุบันที่ทำประชามติ 2 ชั้นสิ แต่พูดง่ายๆ เลยคุณใจไม่ถึง และกลัวประชาชน ซึ่งประชามติ 2 ชั้นแรกคนออกมาเกินกึ่งของผู้มีสิทธิ์ ชั้นที่สองเอาเสียงกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ หรือประมาณ 14 ล้านคน ก็ถือว่าผ่านแล้ว จริงๆ 14 ล้านคนนี้คือ 1 ส่วน 4 ของจำนวนประชากรไทยด้วยซ้ำถ้าจะอ้างเสียงข้างมากใช้ชั้นเดียว เป็นการอ้างเสียงข้างมากแบบกระจอกมาก ทุกคนที่อ้างทำประชามติชั้นเดียวก็อธิบายแค่ว่าจะได้แก้รัฐธรรมนูญง่าย ถามว่ารัฐธรรมนูญในโลกนี้มีที่ไหนแก้ได้ง่ายบ้าง

“ถ้ายกร่างรัฐธรรมนูญแบบที่พรรคประชาชนคิด หรือแบบที่พรรคเพื่อไทยกำลังจะทำ ผมว่า ท้ายที่สุดมันจะกระทบกับสถาบันทั้งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ตอนนี้พวกนี้คิดแต่เรื่องแย่ๆ”

@ รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่

คิดว่าอยู่ยาก ถ้านับโดยรวม “ความไม่ดีมากมี ความดีแทบไม่ปรากฏ” แบบนี้จะอยู่กันอย่างไร ถ้าไม่มีสารตั้งต้นแล้วใครจะไปร้องเรียน หรือทำอะไรกับคุณได้ เรื่องนี้สนิมเกิดแต่เนื้อในตน คุณทำให้มันเสีย.