เข้าสู่ปลายปีเช่นนี้ ก็ถึงช่วงเวลาที่มนุษย์เงินเดือนแบบเราๆ จะต้องมานั่งคำนวณเงิน แถมยังต้องเตรียมตัวในการยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีประจำปี โดยเราต้องยื่นปีละ 1 ครั้ง (ยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป) แต่ถ้าเงินได้บางลักษณะ เช่น การให้เช่าทรัพย์สิน เงินได้จากวิชาชีพอิสระ เงินได้จากการรับเหมา เงินได้จากธุรกิจ การพาณิชย์ เป็นต้น จะต้องยื่นแบบฯ ตอนกลางปี (สำหรับเงินได้ที่เกิดขึ้นใน 6 เดือนแรก ภายในเดือนกันยายนของทุกปี)
แต่การจะ “คำนวณภาษี” ในแต่ละครั้ง ก็ชวนให้มึนงงมิใช่น้อย วันนี้เราจึงมีเทคนิคในการคำนวนการเสียภาษีมาฝากกัน.. โดยทาง “ธนาคารกรุงไทย” ได้ให้ข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับการคำนวณภาษีไว้ดังนี้…
เงินได้ที่ต้องเสียภาษี มีอะไรบ้าง?
เงินได้ที่ต้องเสียภาษี คือ เงินได้หรือรายได้ที่เราได้รับจากการทำงาน เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เป็นต้น
สิ่งที่นำมาคำนวณภาษี ได้แก่
– รายได้ ..รายได้รวมตลอดทั้งปี ตั้งแต่ 1 มกราคา จนถึง 31 ธันวาคม ทั้งรายได้จากงานประจำและรายได้เสริมอื่นๆ
– ค่าใช้จ่าย ..ต้นทุนในการทำธุรกิจ หรือหากรับเป็นเงินเดือนสามารถหักค่าใช่จ่ายแบบเหมา 50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด โดยไม่เกิน 100,000 บาท
– ค่าลดหย่อนภาษี ..สิทธิขอลดหย่อนภาษี ไม่ว่าจะเป็นค่าลดหย่อนพื้นฐาน ครอบครัว การลงทุน กองทุน หรือประกัน
– อัตราภาษี ..ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะคิดอัตราภาษีก้าวหน้าแบบขั้นบันได หรือแบบเหมาจ่าย ขึ้นอยู่กับว่าแบบใดจะเสียภาษีมากกว่า ให้ยึดจ่ายตามนั้น
![](https://www.dailynews.co.th/wp-content/uploads/2024/11/2410-1280x854.jpg)
วิธีคำนวณภาษี
1. หารายได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย รายได้คือเงินได้ตลอดทั้งปีที่ได้รับนำมาบวกกันทั้งหมด วิธีหารายได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย ตัวอย่าง นางสาว A มีเงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือน ได้รับโบนัส 60,000 บาท และมีรายได้จากงานอิสระรวม 50,000 บาทต่อปี แสดงว่ารายได้ตลอดทั้งปีของนางสาว A คือ
เงินเดือนทั้งปี+รายได้อิสระทั้งปี = รายได้ต่อปี
(30,000 x 12) + 60,000 + 50,000 = 470,000 บาท
ค่าใช้จ่ายโดยทั่วไปจะคิดแบบเหมารวม ซึ่งสามารถนำมาหักได้ 50% ของรายได้จากงานประจำ แต่ไม่เกิน 100,000 บาท ตัวอย่าง นางสาว A มีเงินเดือน 30,000 บาทต่อเดือน นำมาหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้
รายได้ x 50% = รายได้หลังหักค่าใช้จ่าย
470,000 x 50% = 235,000 บาท
ด้วยข้อจำกัดการหักค่าใช้จ่ายไม่เกิน 100,000 บาท แม้จะนำรายได้หักค่าใช้จ่ายได้ 235,000 บาท แต่จะหักค่าใช้จ่ายได้เพียง 100,000 บาทเท่านั้น ดังนี้
470,000 – 100,000 = 370,000 บาท
รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจริงจึงเท่ากับ 370,000 บาท
2. หารายได้สุทธิหักค่าลดหย่อนภาษี สำหรับรายได้สุทธิเป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่ารายได้จริงๆ อยู่ในระดับฐานภาษีเท่าไหร่ และต้องจ่ายภาษีในอัตรากี่เปอร์เซ็นต์ โดยรายได้สุทธิแต่ละระดับจะถูกคิดอัตราภาษีที่แตกต่างกันเป็นขั้นบันได ยิ่งมีเงินได้สุทธิมาก ยิ่งต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้นตามไปด้วย โดยสามารถคิดรายได้สุทธิได้จากสูตรการคำนวณภาษี ดังนี้
“รายได้สุทธิ = เงินได้-ค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อน”
ข้อควรรู้สำคัญคือ สิทธิลดหย่อนภาษีของตัวเอง โดยค่าลดหย่อน หมายถึง ค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่กฎหมายอนุญาตให้หักจากรายได้ หรือที่เรียกกันว่าการลดหย่อนภาษี
3. นำมาหักภาษีแบบขั้นบันได
เมื่อทราบรายได้สุทธิ ให้นำรายได้สุทธิมาเทียบกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบขั้นบันได โดยนำรายได้ได้สุทธิคูณกับอัตราภาษีแต่ละขั้น เพื่อหาว่าเราต้องจ่ายภาษีเท่าไหร่ โดยอัตราภาษีเพิ่มขึ้นตามเงินได้สุทธิที่มากขึ้น
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี (ตามขั้นบันได) = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
![](https://www.dailynews.co.th/wp-content/uploads/2024/11/2316-1-1280x854.jpg)
อัตราภาษีแบบขั้นบันได
– 0-150,000 บาท ยกเว้นอัตราภาษี
– 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5% (ภาษีที่ต้องเสียสูงสุดในขั้นนี้คือ 7,500 บาท)
– 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 20,000 บาท)
– 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 37,500 บาท)
– 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 50,000 บาท)
– 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 250,000 บาท)
– 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30% (ภาษีที่ต้องเสียในขั้นนี้คือ 600,000 บาท)
– 5,000,000 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35%
ตัวอย่างการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
นางสาว A มีรายได้ทั้งปี 470,000 บาท หักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และค่าลดหย่อนจากประกันสังคม 9,000 บาท มีตัวช่วยลดหย่อนเพิ่มเติมคือ บริจาคเงินกับโรงพยาบาล 1,000 บาท สามารถนำมาลดหย่อนได้ 2 เท่าของเงินบริจาคเท่ากับ 2,000 บาท
เงินได้-ค่าใช้จ่าย-ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
470,000 – 100,000 – 60,000 – 9,000 – 2,000 = 299,000 บาท
จากนั้นนำเงินได้สุทธิไปเทียบอัตราภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งเงินได้สุทธิของนางสาว A จะอยู่ระหว่างฐาน 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5% ซึ่งทำให้นางสาวซีต้องเสียภาษี ดังนี้
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี (ตามขั้นบันได) = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
299,000-150,000 (อัตราภาษีขั้นแรก) = 149,000 บาท
149,000 x 5% = 7,450 บาท
จากตัวอย่างข้างต้นสรุปได้ว่านางสาว A ต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเงิน 7,450 บาท..
ขอบคุณข้อมูลจาก @krungthai.com