ตัวตนที่แท้จริงของ “ดี.บี. คูเปอร์” โจรลอยฟ้าที่ลงมือก่อเหตุกลางอากาศและหนีไปได้อย่างลอยนวล คือหนึ่งในปริศนาคาใจผู้คนมากมายมาตั้งแต่ปีค.ศ. 1971 

เบาะแสใหม่ที่เพิ่งมีการเปิดเผยออกมานั้นเกี่ยวข้องกับร่มชูชีพที่ผ่านการดัดแปลงบางอย่างซึ่งคูเปอร์ใช้ในการหลบหนี และอยู่ในความครอบครองของเอฟบีไปมานานหลายสิบปี อาจช่วยระบุตัวตนที่แท้จริงของผู้ที่กลายเป็นหนึ่งในโจรที่โด่งดังที่สุดในโลกคนนี้ได้

การค้นหาเงื่อนงำนี้เกี่ยวข้องกับครอบครัวของนักจี้เครื่องบินผู้โด่งดังอีกคนหนึ่งที่ชื่อว่า ริชาร์ด แมคคอยที่ 2 ลูก ๆ ของเขาเชื่อมานานแล้วว่า พ่อของพวกเขาคือคนเดียวกันกับดี.บี. คูเปอร์

หลังจากที่คูเปอร์ก่อเหตุเพียงไม่กี่เดือน แมคคอยก็โดนจับและได้รับการตัดสินว่ามีความผิดฐานจี้เครื่องบินซึ่งมีลักษณะการก่อเหตุหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับการก่อเหตุของคูเปอร์ เช่น การใช้ร่มชูชีพในการหลบหนี

ถึงตอนนี้ ชองเตและริชาร์ด แมคคอยที่ 3 ซึ่งเป็นลูก ๆ ของแมคคอย เชื่อว่ามีการพบเบาะแสที่ช่วยยืนยันข้อสงสัยเกี่ยวกับพ่อของพวกเขา 

ย้อนกลับไปวันที่ 24 พฤศจิกายน ค.ศ. 1971 นักปล้นลอยฟ้าซึ่งใช้ชื่อว่า ดี.บี. คูเปอร์ ซื้อตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวและขึ้นเครื่องบินของสายการบินนอร์ทเวสต์ โอเรียนท์ เที่ยวบินจากพอร์ตแลนด์ รัฐออริกอนไปยังซีแอตเทิล รัฐวอชิงตัน

ระหว่างเส้นทางนั้นเอง คูเปอร์ซึ่งถือกระเป๋าเอกสารและถุงกระดาษอยู่ในมือได้ส่งกระดาษเขียนข้อความให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ระบุว่าเขามีระเบิด จากนั้นก็เปิดกระเป๋าให้พนักงานหญิงคนนั้นดูว่ามีระเบิดหรือบางอย่างที่ดูคล้ายระเบิดอยู่ภายใน 

จากนั้นเขาก็ยื่นรายการเรียกร้องของเขา ได้แก่ เงินค่าไถ่จำนวน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.85 ล้านบาท) ซึ่งเทียบเท่ากับ 1.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (51.5 ล้านบาท) ในปัจจุบัน ร่มชูชีพหลายชุดและการเติมน้ำมันที่ซีแอตเทิล เพื่อที่เขาจะได้หนีไปยังเม็กซิโก

คูเปอร์ได้รับทุกอย่างตามที่เขาร้องขอ เมื่อเครื่องบินของเขาลงจอดที่ซีแอตเทิล คูเปอร์ก็ปล่อยตัวผู้โดยสารทั้ง 35 คนและพนักงานสายการบินบางคนให้เป็นอิสระ

ส่วนพนักงานบนเครื่องบินที่ยังอยู่บนเครื่องบินก็โดนบีบให้ขึ้นบินตามเส้นทางใหม่ที่เขากำหนด รวมทั้งการตั้งค่าต่าง ๆ อัตราความเร็วและมุมการบิน เมื่อทุกอย่างพร้อม คูเปอร์และพนักงานบนเครื่องบินที่เหลืออีก 4 คนก็กลับสู่ท้องฟ้าอีกครั้ง ซึ่งล่วงเข้าสู่เวลากลางคืนไปแล้ว

หลังจากขึ้นบินครั้งที่ 2 เพียง 30 นาที คูเปอร์ก็เปิดประตูท้ายเครื่องบิน กางบันไดออกมาและกระโดดร่มออกไปจากเครื่องระหว่างบินอยู่เหนือรัฐวอชิงตัน ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ และหายตัวไปพร้อมเงินก้อนโต

เด็กชายวัย 8 ขวบเป็นคนขุดพบเงินจำนวนหนึ่งฝังอยู่ในทรายที่ริมฝั่งแม่น้ำโคลัมเบีย เมืองแวนคูเวอร์ รัฐวอชิงตันในปีึค.ศ. 1980 หลังจากตรวจสอบธนบัตรที่เน่าเปื่อยไปมากเหล่านี้แล้วพบว่า เลขประจำธนบัตรตรงกันกับเงินที่ดี.บี. คูเปอร์ได้ไปจากการจี้เครื่องบิน

แม้ทางการจะส่งคนค้นหาอย่างเร่งด่วนหลังจากได้รับแจ้งเหตุ แต่ก็ไม่พบตัวเขา เก็บได้เพียงคลิปหนีบเน็คไทราคาถูกซึ่งมีขายในห้างสรรพสินค้าเจซีเพนนีเท่านั้น คดีของคูเปอร์ยังเป็นคดีจี้เครื่องบินเพียงหนึ่งเดียวในหน้าประวัติศาสตร์อเมริกันที่ยังหาผู้ร้ายตัวจริงไม่ได้

กลับมาที่สองพี่น้องตระกูลแมคคอย พวกเขามีหลักฐานชิ้นสำคัญซึ่งอาจช่วยไขปริศนาได้ว่า ใครคือดี.บี. คูเปอร์ หลักฐานดังกล่าวก็คือร่มชูชีพที่ผ่านการดัดแปลงชุดหนึ่งซึ่งทีมสืบสวนเชื่อว่า นี่คืออุปกรณ์ที่คูเปอร์ใช้ในการหลบหนี

พวกเขาไม่ได้แจ้งทางการเกี่ยวกับอุปกรณ์ชิ้นนี้ในตอนแรก เพราะกลัวว่าแม่ของพวกเขาจะเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการก่อคดี จนกระทั่งเธอเสียชีวิตไปแล้ว พวกเขาจึงตัดสินใจมอบร่มชูชีพดังกล่าวให้เอฟบีไอ

เดฟ ไกรเดอร์ นักสืบพลเรือนที่ติดตามสืบสวนคดีนี้เป็นการส่วนตัวเชื่อว่าร่มชูชีพนี้เป็นอุปกรณ์ที่ทำขึ้นพิเศษแบบ “หนึ่งในพันล้าน” เขายังยืนยันด้วยว่า ตอนนี้เอฟบีไอมีร่มชูชีพและสายรัดร่มชูชีพดังกล่าวอยู่ในมือแล้ว นอกจากนี้ ยังพบสมุดจดบันทึกการกระโดดร่มที่ชองเตชี้ว่า เป็นร่องรอยของการเคลื่อนไหวของคูเปอร์ในรัฐออริกอนและรัฐยูทาห์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เขาลงมือก่อคดี 

เอฟบีไอรู้ว่า ร่มชูชีพดัดแปลงที่คูเปอร์ใช้นั้น เป็นฝีมือการดัดแปลงของ เอิร์ล คอสซีย์ ผู้เชี่ยวชาญการกระโดดร่ม คอสซีย์เคยร่วมงานกับเอฟบีไอจนกระทั่งเขาโดนฆาตกรรมในปีค.ศ. 2013 

ถ้าหากตรวจสอบแล้วพบว่า ร่มชูชีพซึ่งเป็นหลักฐานใหม่นี้เป็นผลงานของคอสซีย์จริง ก็เท่ากับเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ของคดีเก่าเก็บอายุ 53 ปีนี้ และจะกลายเป็นเบาะแสสำคัญในการชี้ชัดว่าตัวตนที่แท้จริงของดี.บี. คูเปอร์คือใคร

สำหรับตัวแมคคอยนั้น หลังจากต้องโดนจำคุกจากคดีจี้เครื่องบินที่เขาก่อขึ้นในปีค.ศ. 1972 เขาก็แหกคุกหนีออกมาได้ แต่สุดท้ายก็โดนตำรวจยิงตายในรัฐเวอร์จิเนียเมื่อปีค.ศ. 1974

ที่มา : greekreporter.com

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, X / @historyinmemes