คำว่า “บี” ในภาษาเกาหลี มีความหมายว่า “ไม่” ซึ่งขบวนการ 4บี สื่อถึงแนวทางปฏิบัติ 4 ประการสำหรับผู้หญิง ได้แก่ ไม่ออกเดต, ไม่มีเพศสัมพันธ์, ไม่แต่งงาน และไม่มีบุตรกับผู้ชาย
ขบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วงกลางทศวรรษที่ 2010 ในเกาหลีใต้ เพื่อต่อต้านช่องว่างรายได้ระหว่างเพศที่มีมาอย่างต่อเนื่อง บทบาททางเพศที่ฝังรากลึก รวมถึงอาชญารกรรมทางเพศในโลกออนไลน์ และความรุนแรงทางเพศต่อผู้หญิง
น.ส.แบ็ก กา-อึล ผู้สนับสนุนขบวนการ 4บี วัย 33 ปี กล่าวว่า การรณรงค์เช่นนี้ทำให้พวกเธอ “เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” ไม่ใช่แค่ตัวตนที่สงวนไว้สำหรับผู้ชายหรือเด็ก ๆ
“ขบวนการนี้เกิดขึ้นเพราะผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ ไม่สามารถยอมรับความคาดหวังในการทำงานที่ได้รับค่าจ้าง และงานบ้านส่วนใหญ่ในชีวิตครอบครัว ตลอดจนรู้สึกเอือมระอากับวัฒนธรรมของผู้ชาย ที่แสร้งปฏิบัติต่อผู้หญิงเป็นอย่างดี แต่แอบแชร์คลิปวิดีโอลามกกับเพื่อนผู้ชายด้วยกันลับหลัง” แบ็ก กล่าวเพิ่มเติม
หลังจากทรัมป์ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง 4บี ก็กลายเป็นหนึ่งในคำค้นหายอดนิยมบนกูเกิล ทั้งในสหรัฐและที่อื่น ๆ อีกทั้งคลิปวิดีโอเกี่ยวกับขบวนการข้างต้น ก็ถูกแชร์อย่างแพร่หลายบนแพลตฟอร์มติ๊กต็อก และเฟซบุ๊ก
หลายคนมองว่า การเลือกตั้งผู้นำสหรัฐสหรัฐที่ผ่านมา เปรียบเสมือนการลงประชามติเกี่ยวกับสิทธิสตรี โดยเฉพาะการแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกาสายอนุรักษนิยม 3 คน ของทรัมป์ ซึ่งยุติการคุ้มครองสิทธิการทำแท้งระดับชาติ ขณะที่แบ็ก กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้ผู้หญิงชาวอเมริกันตระหนักว่า ผู้ชายไม่ได้มองว่าผู้หญิงมีความเท่าเทียม และในไม่ช้าก็เร็ว ขบวนการ 4บี ก็จะไม่อยู่แค่ในเกาหลีใต้ และขยายวงกว้างไปทั่วโลก
ด้านผู้เข้าร่วมขบวนการ 4บี คนหนึ่ง ระบุว่า “การบอยคอตผู้ชาย” เป็นหนึ่งในวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ในการแสดงให้เห็นถึงความรุนแรงของการเหยียดเพศในประเทศ
ขณะที่ น.ส.คึง ยุน-แบ ศาสตราจารย์ด้านเกาหลีศึกษา จากสถาบันเทคโนโลยีจอร์เจีย ในสหรัฐ กล่าวว่า ขบวนการ 4บี มีที่มาจาก “ประสบการณ์ร่วมสมัยอันเจ็บปวด” ของผู้หญิงชาวเกาหลีใต้ และมันถือเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงธรรมชาติที่ต้านทานไม่ได้ ของบรรทัดฐานชายเป็นใหญ่ที่มีอยู่แล้วในสังคมเกาหลีใต้ เนื่องจากผู้หญิงที่มีการศึกษาดีและประสบความสำเร็จ มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ทั้งนี้ นางชารอน ยุน ศาสตราจารย์ด้านเกาหลีศึกษา จากมหาวิทยาลัยนอเตอร์เดม ในสหรัฐ กล่าวว่า รูปแบบการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปีนี้ ถูกแบ่งแยกอย่างชัดเจนตามเพศในกลุ่มเชื้อชาติต่าง ๆ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ เมื่อปี 2565
“ความแตกต่างทางเพศที่พวกเราเห็นในพฤติกรรมการลงคะแนนเสียง ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่มันชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการต่อต้านทางเพศที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งการก้าวขึ้นสู่อำนาจของทรัมป์ จะกระตุ้นให้เกิดการตอบสนองที่รุนแรงจากผู้หญิงชาวอเมริกันด้วย” ชารอน กล่าวทิ้งท้าย.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP