นับถอยหลังมาหลายครั้งแล้วสำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ ในปี 2567 ที่การประชุมบอร์ดไตรภาคีค่าจ้าง ยังไม่เคาะค่าแรงขั้นต่ำและ ส่งกลับให้แต่ละพื้นที่ จังหวัดพิจารณาใหม่ ก่อนจะนำเสนอในที่ประชุมอีกครั้ง 23 ธ.ค.2567 เร่งให้ทัน 1 ม.ค.2568 มอบของขวัญปีใหม่แก่ผู้ใช้แรงงาน

จนรอบที่ 3 ยังไม่สามารถทำได้ ก่อนที่คณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำชุดที่ 21 หรือไตรภาคี ออกมาระบุว่าจะให้เป็นของขวัญปีใหม่2568 ซึ่งยังต้องลุ้นที่ประชุมในวันที่ 23 ธ.ค.นี้อีกครั้ง

“คอลัมน์ตรวจการบ้าน” จึงได้เปิดอกคุยกับ ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แรงงาน และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์เบื้องลึกเบื้องหลังค่าแรงภาพรวมการขึ้นค่าแรง400 บาทเหมาะสมจริงหรือไม่

“ศาสตราภิชาน แล” เปิดประเด็นว่า เรื่องค่าแรงสังคม รวมถึงรัฐบาลเข้าใจผิดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำมานาน ว่า เป็นเรื่องที่ต่อรองได้ ทั้งที่โดยหลักแล้ว ค่าจ้างขั้นต่ำ คือหลักประกันขั้นต่ำสุดที่คนงานจะมีชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี สามารถกินข้าวได้ 3 มื้อ มีเครื่องนุ่งห่ม ที่พักอาศัยโดยไม่ต้องทำงานเกินเกณฑ์ 1 ใน 3 ของวัน คือไม่เกิน 8 ชั่วโมง และต้องไม่กู้หนี้ยืมสิน

ซึ่งหลักค่าแรงควรสอดคล้องกับการครองชีพของแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะปัจจุบันที่เป็นสังคมเมืองไปทั้งแผ่นดิน ทุกอย่างต้องใช้เงินซื้อหมด เท่ากับว่าค่าครองชีพไม่ได้แตกต่างกัน ค่าแรงจึงควรเท่ากันทั้งประเทศ

การกำหนดตัวเลขต้องเอาผู้รู้มากำหนดดัชนีค่าครองชีพ เพื่อไม่ให้มีการต่อรอง แต่วันนี้ระบบไตรภาคีที่ใช้อยู่กลับเป็นระบบที่ต่อรองได้ แม้ว่าจะมีผู้แทน 3 ฝ่าย คือนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ออกมาจึงไม่สอดคล้องกับการดำรงชีพได้จริง แต่เกิดจากอำนาจต่อรองของแต่ละฝ่าย

นอกจากหลักการก็ไม่ถูกแล้ว ในทางปฏิบัติยิ่งหนักกว่า อนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดก็มี 3 ฝ่าย แต่จะเอาลูกจ้างที่ไหนมาเป็นตัวแทน อำนาจจึงไม่มี แต่นายจ้าง กับรัฐมีแน่ อำนาจจึงไปตกที่รัฐบาลและนายจ้างซึ่งอำนาจ 2 อย่างนี้มันใกล้เคียงกันอยู่แล้วคืออำนาจเงินกับอำนาจรัฐไปด้วยกัน ถึงเห็นข้อเสนออนุกรรมการฯ จังหวัด ค่อนข้างตลก เช่น ขอไม่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ พอมาถึงไตรภาคี ที่เลือกกันมาก็จริง แต่สุดท้ายรัฐบาลเป็นคนแต่งตั้ง และสามารถกระซิบกันได้ บอกเป็นนโยบาย เช่นการขึ้นค่าแรง 300 บาททั้งประเทศอย่างก้าวกระโดดในครั้งนั้นเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ แต่ทำไม 3 ฝ่ายถึงตอบตกลง ทำไมนายจ้างไม่คัดค้าน

ดังนั้นไตรภาคีซึ่งท้ายที่สุดคนที่ตั้งคือรัฐบาล ต่อให้เรียกว่า 3 ฝ่าย แต่รวมแล้วเป็นฝ่ายรัฐบาล ค่าจ้างขั้นต่ำจึงออกมาแบบยอมกันได้ หลังมีการต่อรอง ถ้ารัฐบาลเข้มแข็งค่าจ้างขั้นต่ำก็ขึ้นน้อย ถ้ารัฐบาลอ่อนแอค่าจ้างก็จะขึ้นเยอะ เพื่อดึงเสียงลูกจ้างมาอยู่ฝั่งตน ดังนั้นนี่คือการเมือง

@ ปี 2567 ขึ้นค่าจ้าง 2 รอบ ครั้งที่ 3ไม่ได้ กำลังดันเป็นของขวัญปีใหม่สะท้อนความอ่อนแอของรัฐบาลหรือไม่

ในแง่หนึ่งเป็นการเมือง ถึงเห็นการเอาเทคนิคทางกฎหมายมาใช้ เช่น ทำให้องค์ประชุมไม่ครบ แล้วถ้าพูดให้ลึกในแง่การเมือง คนที่ประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท หรือภาพใหญ่คือ 600 บาทในปี 2570 คือพรรคเพื่อไทย แต่คนที่คุมกระทรวงแรงงานคือพรรคภูมิใจไทย นี่คือกลายเป็นการเมืองหมดแล้ว

ดังนั้นถ้ากำหนดค่าจ้างขั้นต่ำตามหลักวิชาการ ยึดเกณฑ์ทางเทคนิคตัวใดตัวหนึ่ง เช่น ความจำเป็นในการครองชีพ ที่ไม่ใช่เงินเฟ้อทั้งแผ่นดิน เพราะคนแต่ละกลุ่มมีความสามารถและเกิดภาวะเงินเฟ้อต่างกัน จึงต้องคิดถึงดัชนีราคาผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยเป็นตัวล็อคว่าตัวเลขเป็นเท่าไร แต่ไม่ต้องต่อรอง ก็จะไม่เป็นการเมือง

อีกอย่างที่นายจ้างชอบอ้างว่า ถ้าขึ้นค่าจ้าง วัตถุดิบต่างๆ ก็จะขึ้นตาม เพราะฉะนั้นแรงงานขึ้นไม่ได้ แต่คำถามคือเวลาค่าไฟ น้ำมันขึ้น ต้นทุนอย่างอื่นขึ้นกลับไม่มีใครไปต่อรองว่าไม่ให้ขึ้น แต่ที่พยายามต่อรอง คือ คนที่ไม่มีปัญญาสู้ นั่นคือลูกจ้างกรรมกร เพราะถือว่าค่าแรงขั้นไม่ถือว่าตายตัว แต่ถ้าคนไม่ได้ตามนั้นมันตาย นี่คือปัญหาของค่าจ้างขั้นต่ำ

@ จะดึงการเมืองออกจากการพิจารณาค่าแรงได้อย่างไร จำเป็นต้องมีคณะกรรมการไตรภาคีหรือไม่

ไตรภาคีมีได้เพื่อการรับฟัง เก็บข้อมูลให้รอบด้าน แต่ไม่ใช่เพื่อการต่อรองเหมือนทุกวันนี้ แต่จริงๆ ไม่ควรใช้ไตรภาคี ควรจะตกลงใช้เกณฑ์อัตโนมัติ เช่น ถ้าบอกว่าปากท้องของคนงานอยู่กับค่าครองชีพ ก็ดูที่ดัชนีค่าครองชีพเป็นตัวหลัก ถ้าขึ้นเท่าไหร่ ค่าจ้างขั้นต่ำก็ขึ้นเท่านั้น จะได้ไม่ต้องมาต่อรอง แต่ที่ผ่านมาคนใช้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเครื่องมือทางการเมือง

@ ตอนนี้ค่าจ้างที่เหมาะสม 400 บาท หรือควรเป็นเท่าไหร่

ตัวเลขพวกนี้คนงานทำมาตั้งนาน จนกระทั่งตัวเลขที่เขาเสนอไว้มันล้าหลังแล้ว เอาง่ายๆ คือทุกคนถามตัวเองว่า ถ้าเช่าบ้านด้วย เดินทางไป กลับ กินอาหาร 3 มื้อ แล้วต้องมีเงินเหลือกลับบ้านเลี้ยงลูก ถัวเฉลี่ยแล้ววิญญูชนอธิบายได้หรือไม่ว่าปรับ 400 บาทอยู่ได้หรือไม่ ใครๆก็รู้ว่าไม่มีทาง แค่เลี้ยงตัวเองคนเดียวถามตัวเองดูว่าพอหรือเปล่า การจะอยู่รอดได้

ดังนั้นถ้าถามว่าตัวเลขที่ควรจะเป็นเท่าไหร่ ตนมองว่าไม่ใช่ตัวเลข ควรเป็นหลักการค่าจ้างที่คนงานไม่ต้องทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน และไม่ต้องเป็นหนี้ นี่คือค่าจ้างขั้นต่ำที่พอ เพราะถ้าทำงานเกิน 8 ชั่วโมงคุณก็ไม่ได้ทำงานแบบมนุษย์แล้ว ถ้าทำงานแล้วต้องติดหนี้ทันที นั่นไม่ใช่วิธีการเลี้ยงชีพที่ถูกต้อง

@  มีการระบุว่าถ้าปรับค่าแรงเป็น 400 บาทจะกระทบเศรษฐกิจ แต่ถ้าไม่ปรับผู้ใช้แรงงานก็แย่ ทางออกสำหรับทุกฝ่ายคืออะไร

นี่เป็นภาพลวงตา ว่า ธุรกิจจะดีจะเลวอยู่ที่ค่าจ้าง โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำ ทั้งที่ต้นทุน 100 บาท เฉลี่ยทุกอุตสาหกรรมค่าแรงไม่ถึง 10 บาท และใน 10 บาทนี้ เป็นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ถึง 1 บาท การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 10% 20% แม้กระทั่ง 50% ไม่ได้กระทบค่าแรงโดยรวม ธุรกิจเขามีการปรับตัวในการใช้คนอยู่แล้ว นอกจากนี้ค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่ได้กระทบต้นทุนการผลิตที่เหลืออีก 90% นั่นด้วย

แต่ทันทีที่ค่าจ้างขั้นต่ำขึ้น 10% กลับมาบอกว่าต้นทุนรวมขึ้น 10% ดังนั้นข้อสันนิษฐานที่ว่าเศรษฐกิจเป็นแบบนี้แล้วยังจะไปขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เป็นการเหมารวม ทั้งที่ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของต้นทุนการผลิต ไม่ใช่ต้นทุนหลัก ไม่เช่นนั้นประเทศสิงคโปร์คงอยู่ไม่ได้ค่าจ้างวันละเป็นพันบาท แต่ที่ควรทำคือพัฒนาศักยภาพแรงงานให้ทำงานได้มากขึ้น

@ มีการขู่ว่าตอนขึ้นค่าแรง 300 บาท มีการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นเยอะ

เป็นความเข้าใจผิด เมื่อมีการประกาศขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ในกลางปีเดียวกันนั้นกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ศึกษาธุรกิจทั้งหมดพบว่ามีบริษัทแค่ 1.3% เท่านั้นที่เลิกจ้าง แถมไม่ได้มากจากการขึ้นค่าจ้างฯ แต่เพราะมีปัญหามานานแล้ว และเก็บข้อมูลอีกในปีถัดไปก็ไม่พบว่าการขึ้นค่าจ่างฯ ครั้งนั้นทำให้โรงงานปิดตัว เลิกจ้างมากอย่างที่คิด ส่วนที่ย้ายฐานผลิตไปเวียดนามก็ไม่ใช่เพราะค่าจ้าง แต่เป็นเพราะการส่งออกไปอเมริกา ยุโรปไม่ต้องเสียภาษี เพราะเขาเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) กัน ส่วนไทยไม่ได้เปิดเอฟทีเอ ทำให้การส่งออกจากไทยไปยุโรปจะต้องเสียภาษี

ดังนั้นที่พูดมาทั้งหมดไม่ใช่ปัญหามาจากค่าแรงฯ แต่กลายเป็นแพะ เพราะเป็นคนที่มีปากเสียงน้อยที่สุด คือลูกจ้างกรรมกร ดังนั้น ที่คุณพูดเรื่องผลประโยชน์ของประเทศด้วยการบีบผลประโยชน์ของคนข้างมาก ถามว่าผลประโยชน์ของประเทศที่ว่านี้เป็นผลประโยชน์ของใคร ถ้าไม่ใช่คนยากคนจนที่เป็นกรรมกร.