มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งในผู้หญิง สถิติปัจจุบันพบ 30-40 คนต่อประชากร100,000 คน พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยผู้ชายพบได้เพียง 1% ของมะเร็งในผู้ชาย พบมากในช่วงอายุ 45-50 ปี เกิดจากหลายสาเหตุทั้งกรรมพันธุ์และความผิดปกติที่เกิดขึ้นเองภายหลัง

ทั้งนี้ เพื่อให้สาวๆ ห่างไกล มะเร็งเต้านม “พญ.ชุตินันท์ วัชรกุล” แพทย์เฉพาะทางด้านรังสีวิทยาวินิจฉัย-ภาพรังสีวินิจฉัยชั้นสูงและรังสีร่วมรักษาของเต้านม โรงพยาบาลนวเวช ระบุว่า โรคนี้มีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน หลัก ๆ คือ 1. ประวัติมะเร็งเต้านมหรือรังไข่ในญาติใกล้ชิด ได้แก่ แม่ พี่สาว หรือน้องสาว 2. เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน 3. มีประวัติยีนผิดปกติ (Gene mutation) ได้แก่ ยีน BRCA1 และ BRCA2 4. ผู้หญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีคนแรกขณะอายุมากกว่า 30 ปี 5. ผู้หญิงที่ประจำ เดือนมาเร็วและหมดประจำ
เดือนช้า หรือใช้ยาฮอร์โมนทดแทนเป็นเวลานานกว่า 10 ปี และ 6. เคยฉายแสงบริเวณทรวงอก

อย่างไรก็ตาม การรู้เร็ว และเข้าสู่การรักษาเร็วจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้หายได้ ดังนั้น สาว ๆ จึงหมั่นตรวจเช็ก “เต้า” ด้วยตัวเองสมํ่าเสมอ เดือนละ 1 ครั้ง เมื่ออายุมากกว่า 20 ปี และควรพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านม ทุก 3 ปี แต่หลังจากอายุ 40 ปี ควรได้รับการตรวจทุก 1 ปี ซึ่งจะมีหลายวิธี คือ การทำ แมมโมแกรม หรืออัลตราซาวด์ MRI และกรณีมีข้อสงสัยอาจจะมีการเจาะชิ้นเนื้อตรวจเพิ่มเติม ซึ่งควรทำ ในช่วงอายุ 35-40 ปี 1 ครั้ง หลังจากอายุ 40 ปี เป็นต้นไป ควรทำ ทุก 1 ปี ทั้งนี้ กรณีมีญาติที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ควรเริ่มทำ การตรวจตั้งแต่อายุที่ญาติเป็น ลบออก 5 ปี

สำหรับ วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง คือ 1. ตรวจเป็นประจำ ทุกเดือน โดยตรวจหลังประจำ เดือนมา 7-10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำ เดือน และตรวจในวันเดียวกันของทุกเดือน 2. ยืนหน้ากระจก เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงเต้านมทั้ง 2 ข้าง ทั้งขนาด รูปร่าง หัวนม ลักษณะผิวหนัง 3. ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะทั้ง 2 ข้าง แล้วหมุนตัวช้า ๆ เพื่อดูด้านข้าง 4.ใช้มือเท้าเอวและโน้มตัวลงด้านหน้า 5. ใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบา ๆ ดูว่ามีนํ้า เลือด หรือหนองไหลออกมาหรือไม่ 6. เริ่มคลำ เต้านมในท่ายืน โดยใช้มือซ้ายตรวจ เต้านมขวา ใช้นิ้ว 3 นิ้ว ได้แก่ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ค่อย ๆ กดลงบนผิวหนังให้ทั่วเต้านมไปจนถึงรักแร้ หลังจากนั้นให้เปลี่ยนคลำ อีกข้างแบบเดียวกัน และ 7. นอนหนุนหมอนใต้ไหล่ข้างที่จะตรวจ แล้วคลำเต้านมด้วยวิธีการเดียวกับท่ายืน

พญ.ชุตินันท์ ยํ้าว่า หากเจอความผิดปกติ เช่น ก้อนบริเวณเต้านมหรือรักแร้ หัวนมบุ๋มหรือมีแผล ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น บุ๋มลง หนา แดงร้อน หรือเปลี่ยนสี เต้านมมีขนาดหรือรูปทรงเปลี่ยนแปลง มีเลือดหรือนํ้าไหลออกจากหัวนม และมีแผลที่หายยากบริเวณเต้านมและหัวนม กรณีเหล่านี้ควรพบแพทย์ เพราะถ้ารู้เร็ว รักษาเร็วจะเพิ่มโอกาสในการรักษาหายได้

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง