คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือกกต. เป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระที่จะชี้ชะตาการเมืองไทย ซึ่งตอนนี้มีคดีร้องเรียนอยู่ในมือของกกต.จำนวนมาก รวมถึงภารกิจจัดเลือกตั้งอีกหลายชุดที่กกต.ต้องรับผิดชอบในปี 2568 ดังนั้นเริ่มต้นศักราชใหม่ “คอลัมน์ตรวจการบ้าน ” จึงได้มาอัพเดตกับพ่อบ้าน “แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. ถึงภารกิจสำคัญที่กกต.ต้องรับมือในปีหน้า

โดย “เลขากกต.” เปิดประเด็นว่า สำหรับภารกิจสำคัญของกกต.ในปี 2568 อย่างแรก คือ การจัดการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริการส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และนายกอบจ. ในวันที่ 1 ก.พ. 2568 อย่างที่ 2 คือการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล ซึ่งจะครบวาระดำรงตำแหน่งเดือนมี.ค. 2568

ซึ่งในส่วนของนายกฯอบจ.ก่อนหน้านี้มีการเลือกไปแล้วจำนวนหนึ่ง แทบจะไม่มีเรื่องร้องเรียน อาจจะด้วยเหตุผลหลายอย่างเช่น อาจมีการแอบแฝงในเรื่องนโยบายมากขึ้น ความพยายามซื้อเสียงก็คงมี แต่เราก็มีมาตรการในการป้องกันมากขึ้น ส่วนตัวมองว่ามันมีการพัฒนาทางการแข่งขันของผู้สมัครและพรรคการเมือง แต่เราก็มีมาตรการที่จะคอยดูแล ด้วยองคาพยพแบบนี้ โดยความร่วมมือของทุกฝ่าย แต่ต้องมาดูตอนเลือกตั้งในเดือนก.พ.2568 อีกครั้ง ซึ่งเราก็มีมาตรการในการดูแลอยู่แล้ว

ส่วนการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประชามตินั้น ในตอนแรกเราวางแผนตามที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ว่า จะเริ่มต้นเดือนก.พ. 2568 แต่จนถึงตอนนี้คิดว่าในปี 2568 ก็ไม่รู้เลยว่าจะมีแผนการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ประชามติอยู่หรือไม่ ซึ่งก็แล้วแต่รัฐบาล ถึงอย่างไรทางกกต.ก็มีความพร้อมอยู่แล้ว หากรัฐบาลทำตามแผนเดิม กกต.ก็พร้อมเดินหน้าได้ทันที

เพราะการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ต่างไปจากการเลือกตั้ง แม้จะมีบริบทที่ไม่เหมือนกัน แต่ลักษณะการทำงานเหมือนกัน แต่จะมีความซับซ้อนในเรื่องของการให้ข้อมูลแก่ประชาชนก่อนไปออกเสียงประชามติ เช่น 1.ทำไมประชาชนต้องออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติเรื่องนี้ 2.การแสดงความคิดเห็นของคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่กกต.รับข้อมูลที่รัฐบาลให้มา เพื่อเผยแพร่ให้กับประชาชนได้รับทราบ เพื่อชี้แจ้งว่าเราไม่ได้ไปเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พร้อมทั้งให้ระยะเวลาไตร่ตรองพอสมควร

@ การตรวจสอบคำร้องยุบพรรคการเมืองมีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง
          ข้อมูลตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบันมีเรื่องร้องเรียน 160 คำร้อง สั่งยุติไปแล้วประมาณ 150 คำร้อง โดยพรรคเพื่อไทยถูกยื่นคำร้องมากที่สุด 53 คำร้อง และมีการสั่งยุติไปแล้ว 47 คำร้อง เหลือคำร้องที่ต้องพิจารณาอีก 6 คำร้อง ซึ่งที่สั่งยุติ หลังจากสืบสวนตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว พยานหลักฐานแล้วไม่เพียงพอว่ามีความผิด ไม่มีเหตุที่จะแสดงให้เห็นว่าต้องยุบพรรค ก็สามารถสั่งยุติเรื่องได้

@ การพิจารณาคำร้องยุบพรรคเพื่อไทยด้วยเหตุให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำ ชี้นำ เรื่องนี้ถึงชั้นการพิจารณาของกกต.ทั้ง 7 คนแล้วหรือยัง

เบื้องต้นทางสำนักงานนายทะเบียนพรรคการเมือง ที่มีเลขาธิการกกต.เป็นนายทะเบียนฯได้ตรวจสอบ และเห็นว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอ ที่จะรับไว้ดำเนินการ ซึ่งไม่ได้กล่าวว่า จะผิดหรือถูก ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงตรวจสอบพยานหลักฐาน ซึ่งให้ระยะเวลา 30 วัน แต่หากไม่พอสามารถขยายได้ครั้งละ 30 วัน ซึ่งขอขยายแล้ว 1 ครั้ง ตอนนี้ก็ใกล้ครบแล้วเวลาที่ขอขยายแล้ว

อย่างไรก็ตาม คำร้องนี้เกี่ยวพันกับพรรคการเมืองอื่นด้วย จึงมีความสลับซับซ้อน แต่ไม่ว่าอย่างไรต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ร้อง ผู้ถูกร้อง โดยคำนึงถึงความถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน สิ้นกระแสความ ถึงจะมาวินิจฉัย แต่ตามกระบวนการทำงานไม่ควรจะช้าเพราะจะไม่เป็นผลดีกับใคร  ซึ่งรายละเอียดทั้งหมดยังไม่มีใครทราบนอกจากคณะกรรมการที่ตรวจสอบ  

“ใน 6 คำร้องนั้น ทุกคำร้องแทบจะเป็นคำร้องเดียวกัน มาร้องหลายบุคคล ซึ่งการเขียนคำร้องอาจต่างกันเล็กน้อย แต่เป็นประเด็นเดียวกัน เลยรวมเป็นคำร้องเดียวคือการครอบงำ แต่ในทางกฎหมายมากกว่าคำว่า “ครอบงำ” เราก็ต้องดูในข้อเท็จจริงจากการรวบรวมพยานหลักฐานว่า มีการครอบงำจริงหรือไม่ และครอบงำจนทำให้พรรคการเมืองขาดความเป็นอิสระใช่หรือไม่”

@ การพิจารณาคำร้องพรรคเพื่อไทยทำโครงการแจกเงิน 10,000 บาทไม่ตรงกับที่หาเสียง ถือว่าผิดไหม

ยืนยันว่าเราได้ทำตามกฎหมายตั้งแต่วันที่มีการเลือกตั้งสส.แล้ว ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 57 ระบุให้ทำแค่ไหนก็ทำแค่นั้น พรรคเขาก็ทำถูกตามกฎหมาย ซึ่งมีองค์ประกอบหลายอย่างในการทำ ยกตัวอย่าง มีพรรคการเมืองเสนอโครงการมา 700 กว่าโครงการ มีจำนวนเงินเยอะ ถ้าทำจริงจะเอาเงินมาจากไหน

ดังนั้นถ้าถามว่าตนอยากจะได้อะไร ก็อยากให้มีการระบุ กฎหมายให้ชัดเจนว่าจะให้กกต.ทำอย่างไร ไม่ใช่ว่า กฎหมายระบุอย่างหนึ่ง จะให้กกต.ทำอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งกกต.ทำเกินกว่าที่กฎหมายระบุไม่ได้ ใครจะไปตรวจครบทุกโครงการที่พรรคการเมืองเสนอมาทั้ง 700 โครงการ ตรวจภายใน 15 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง ซึ่งตนมองว่าคนตัดสินใจคือประชาชนไม่ใช่กกต.ไปบังคับ 

@ อยากฝากถึงประชาชนอย่างไรในปี2568 นี้  

การพัฒนาการเมืองประเทศไทย เป็นหน้าที่ของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นช่วงเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าหากรักบ้านเรา เครื่องมือที่ทำให้บ้านของเราดี ก็คือระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทั้งอยากให้เลือกคนที่ดี  อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมและตระหนักถึงการเลือกตั้งเป็นเรื่องความมั่นคงของท้องถิ่นและของประเทศ
ขอให้ออกไปเลือกตั้งกันให้เยอะแล้วมันจะดีขึ้นมาเอง

“เมื่อเราออกไปเลือกตั้งกันเยอะ นักการเมืองก็จะฟังประชาชน แต่ถ้าคนไปเลือกตั้งน้อย หากเขาได้รับเลือกตั้งมา อาจไม่ใส่ใจประชาชน เพราะเห็นว่าประชาชนไม่ได้สนใจการเมือง จึงอยากให้ทุกคนออกไปเลือกตั้งในวันที่ 1 ก.พ. 2568 รวมถึงอยากให้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งทุกระดับในครั้งต่อ ๆ ไป ยืนยันว่า การเมืองจะดีขึ้นแน่นอน”

@ การพิจารณาเรื่องร้องเรียนการเลือก สว.มีความคืบหน้าอย่างไร เพราะสังคมจับตาดูอยู่ว่ากกต.จะเอาจริงหรือไม่

รูปแบบการร้องเรียนสว.ไม่เหมือนสส. เช่น สส.ร้องเรียนไปที่ตัวบุคคลเลย แต่ สว.นั้น 1 คำร้องสามารถร้องได้ทั้ง 200 คน เพราะแต่ละกลุ่มสัมพันธ์กันหมด เหตุจากการเลือก สว.หลายรอบ ทุกระดับ มีการเลือกกันเองในกลุ่ม เลือกไขว้ ถึงได้เห็นรูปแบบคะแนนมีความสัมพันธ์กัน

อีกทั้งผู้ร้องไม่ได้เอาพฤติกรรมการกระทำที่ผิดกฎหมายมาร้อง แต่เอารูปแบบการลงคะแนนมาร้อง ทั้งๆ ที่วันเลือกระดับประเทศ ตนก็ทำหน้าที่ดูแลอยู่ กว่าจะทราบว่าใครได้ก็ตอนประกาศผล ซึ่งมีความสุจริตแน่นอน เพราะเรามีหน่วยงานที่แฝง และคอยสังเกตการณ์ ทั้งยังบันทึกวิดีโอไว้ทุกอย่าง

อย่างไรก็ตามในพื้นที่ไม่มีใครทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่นอกห้องประชุม ก่อนที่จะมีการเลือกนั้นเราไม่รู้ ต้องมีการตรวจสอบ แต่ก็มีความยาก อย่างไรก็ตามระยะเวลาใน 1 ปี เราจะดำเนินการให้แล้วเสร็จ เรากำหนดระยะเวลาของเราเอง และก็ได้เร่งรัดการทำงานให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาให้ได้.