วันเด็กปีนี้ ตรงกับวันที่ 11 มกราคม ปี 68 “นายกฯพี่อิ๊งค์” แพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้คำขวัญไว้ว่า “ทุกโอกาส คือ การเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง” และ“เด็ก” คือ ผลผลิตที่เกิดจากเบ้าหลอมของสังคม ครอบครัว แต่ข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยไปสู่สังคมสูงอายุ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงบริบททางสังคม วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ทำให้เกิดปัญหาการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้เกิดปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งความรุนแรงในครอบครัว

จากสถิติในช่วง 6 ปี ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2561 เพิ่มขึ้น 2 เท่า มีความรุนแรงในครอบครัว 9,386 ราย คิดเป็นเฉลี่ย 1,564 ราย ต่อปี หรือ 130 รายต่อเดือน หรือ 4 รายต่อวัน นอกจากนี้ยังมีปัญหายาเสพติด การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เด็กติดเกมส์ ปัญหาภัยออนไลน์ บุหรี่ไฟฟ้า อีกทั้งยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอนาคต นับเป็นเรื่องท้าทายของหน่วยงานด้านการพัฒนาสังคม

ล่าสุด “วราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ”  ย้ำว่า อนาคตของเด็กไทยจะเป็นอย่างไรอยู่ที่ผู้ใหญ่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกัน รวมไปถึง “สื่อ” ที่เป็นส่วนสำคัญ เพราะทุกวันนี้โซเชียลมีเดียไปไกล เนื้อหาก็มีความหลากหลายที่เสมือน “ดาบสองคม” ด้านหนึ่งเป็นแหล่งความรู้ แต่อีกด้านหนึ่งเป็นเนื้อหาลามกอนาจาร ความรุนแรง ตลอดจนการบูลลี่บนโลกออนไลน์   

“ประเทศไทยอยู่ในสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ มีผู้สูงอายุกว่า 14 ล้านคน ในขณะที่เด็กเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลง ข้อมูลเดือนต.ค. 2567  มีสถิติการเกิดทั้งประเทศ 386,567 คน ลดลงจากปี 2566 กว่า 100,000 คน การพัฒนาแบบก้าวกระโดดของเทคโนโลยีและการสื่อสารโดยเฉพาะสื่อมีอิทธิพลต่อความคิดเห็น ความเชื่อ และพฤติกรรม”

ทั้งนี้สำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565สำรวจ พบว่าประชากรพบเด็กที่เกิดในยุคดิจิทัล จะใช้ชีวิตด้วยเทคโนโลยีทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ตโฟน และแอพพลิเคชันต่างๆ เข้าถึงอินเตอร์เน็ตกว่า 98% และอยู่กับหน้าจอนานกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่ผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นคนที่ต้องเลี้ยงดูเด็กๆ กลับเป็นวัยที่เพิ่งเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี หรือเรียกว่า เพิ่งอพยพเข้าสู่โลกดิจิทัล ท่ามกลางภัยออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชน เช่น สื่อลามกอนาจาร การพนันออนไลน์ การกลั่นแกล้งออนไลน์ สถานการณ์ดังกล่าวปรากฏอยู่ทั่วไทยและทุกมุมโลก ซึ่งเป็นภัยออนไลน์ที่เด็กและเยาวชนควรได้รับการดูแลและได้รับคำแนะนำอย่างใกล้ชิด

“ทุกวันนี้แค่มีโทรศัพท์มือถือก็สามารถเป็นสื่อ เป็นคนผลิตเนื้อหาได้ และสามารถสร้างรายได้ได้ จนไม่คิดถึงผลกระทบ ไม่คำนึงถึงผู้อื่น สร้างเรื่องเกินเลย ทำให้น้องออทิสติกคนหนึ่งต้องเสียชีวิต คนทำเนื้อหาแบบนี้ออกมาถือว่าเป็นคนที่มีความคิดพิการ ทำให้สังคมพิการ เพราะเอาความพิการมาหากินเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง นี่คือข้อเสียของโซเชียลมีเดีย”

และบ่อยครั้งที่การสื่อสารของสื่อมวลชน หรือบุคคลต่าง ๆ ที่สื่อสารผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์บุคคลและองค์กร และกระบวนการทำงาน เพื่อการคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะข่าวเชิงลบเช่น ข่าวเด็กที่ทำกิจกรรมเชื่อมจิตถูกเสนอผ่านสื่อทุกช่องทาง ในมิติที่แตกต่างกัน มีหลายคำถามจากทุกฝ่ายที่สะท้อนออกมาแตกต่างกัน โดยเฉพาะในบทบาทภารกิจของ พม. ทั้งที่ได้เข้าไปดำเนินการตามพ.ร.บ. คุ้มครองเด็ก ตั้งแต่เริ่มต้น แต่ไม่ได้รับความร่วมมือ และไม่สามารถทำตามอำนาจหน้าที่ได้ เนื่องจากพลังทางสังคมเต็มไปหมด ทำให้กระบวนการคุ้มครองสิทธิเด็ก ถูกยืดออกไป ซึ่งหากทุกคนตระหนักถึงสิทธิส่วนบุคคล และร่วมมือกันทำงานทุกฝ่าย กรณีนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นอย่างที่ปรากฏให้เห็น

ดังนั้น วันนี้จึงอยากรณรงค์ให้ทุกฝ่าย สื่อทุกสื่อ ทุกคนที่มีสมาร์ทโฟน ให้มานำเสนอเรื่องราวดีๆปลูกฝังสิ่งดีให้กับเด็กและเยาวชน การสื่อสารต้องระวัง เพื่อปลูกฝังเด็กและเยาวชนในทางที่ดี การผลิตคอนเทนต์เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน โดยคำนึงถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 เพื่อคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 (PDPA) หรือขัดต่อมาตรฐานวิชาชีพสื่อและจรรยาบรรณสื่อ

ทั้งนี้ การนำเสนอข่าวเพื่อให้ได้ความนิยม ได้ยอดอ่านเพิ่มขึ้นนั้นไม่ผิด เพียงแต่อยากวิงวอนสื่อ นำเสนอคอนเทนต์ที่ไม่เน้นความถูกใจ แต่อยากจะให้เน้นความถูกต้อง รับผิดชอบต่อสังคม ไม่ละเมิดสิทธิ ไม่ผิดกฎหมายจรรยาบรรณ และไม่ตีตรา และจะดีกว่านี้ หากการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนไปในเชิงสร้างสรรค์ เสริมพลังกลไกปกป้อง คุ้มครอง ผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และครอบครัว ด้วยการสร้างร่องรอยดิจิทัลที่ครบรสทุกมิติ มีคุณภาพ และมีคุณค่า เติมเนื้อหาที่ควรรู้ วิธีการ หรือช่องทางที่ช่วยพัฒนาให้เด็ก เยาวชน เป็นแบบอย่างที่ดี ให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพ เป็นพลังของประเทศ เพราะผู้สร้างสรรค์สื่อและสื่อมวลชนเป็นพลังสำคัญที่จะนำพาสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

ขณะเดียวกัน ขอฝากถึงสภาเด็กและเยาวชน รวมทั้งเด็ก เยาวชนทั่วประเทศ ซึ่งเป็นปัจจุบันและเป็นอนาคตของชาติ ต้องตระหนักรู้ในบทบาทหน้าที่ของตน มุ่งมั่นตั้งใจในการศึกษาเล่าเรียน และก้าวสู่เป้าหมายชีวิตอย่างมั่นคง มีแผนการใช้ชีวิต พร้อมต่อการแข่งขันในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อให้เราเป็นคนคุณภาพ มีศักยภาพ พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมโลกที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และในฐานะคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้สร้างสรรค์สื่อ และจะเป็นสื่อมวลชนในอนาคต มาร่วมกันสร้างสรรค์สื่อที่มีประโยชน์ต่อตนเอง ครอบครัวและสังคม และเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมสร้างระบบนิเวศสื่อที่ปลอดภัยสำหรับพวกเราเอง.