ตอบ ตามความเห็นขององค์การอนามัยโลก ยังบอกไม่ได้ว่า อันไหนอันตรายน้อยกว่ากัน เพราะระยะเวลาที่บุหรี่ไฟฟ้าใช้กันมาเพียง 10 กว่าปี ยังไม่รู้อันตรายจากการใช้ที่นานกว่านี้ 

บทเรียนกรณีบุหรี่มวน ที่ระบาดตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 1 แต่มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่า บุหรี่มวนทำให้เป็นมะเร็งปอดและโรคเรื้อรังต่างๆในปี ค.ศ. 1964 ใช้เวลา 30-40 ปีกว่าที่จะพบโรคต่างๆที่เกิดจากการสูบบุหรี่เต็มที่ (Full spectrum of diseases)

การทบทวนงานวิจัย 132 ชิ้น ถึงผลของไอบุหรี่ กับควันบุหรี่มวน ต่อการอักเสบของปอด หลอดเลือด ภูมิต้านทาน แนวโน้มที่จะเป็นมะเร็ง ฯลฯ ไม่มีหลักฐานว่า ไอบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าควันบุหรี่มวน ที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า จึงเป็นเพียง “ความเห็น” ที่ยังไม่มีหลักฐานยืนยัน

กรณีบุหรี่ไฟฟ้า IQOS ที่ขอขึ้นทะเบียนขายในสหรัฐอเมริกา FDA ห้ามบริษัทฟิลิป มอร์ริส อ้างว่า อันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนตามที่บริษัทขอ  แต่อ้างได้ว่า ผู้สูบได้รับสารเคมีน้อยชนิดกว่าบุหรี่มวน แต่มีสารเคมี 59 ชนิดใน IQOS ที่มีระดับสูงกว่าในควันบุหรี่มวน การได้รับสารเคมีน้อยชนิดกว่า ไม่สามารถสรุปว่า อันตรายน้อยกว่า

2. ท่านผู้ใหญ่ที่ถามบอกว่า เลิกบุหรี่มวนได้เพราะมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า 

เป็นความจริง ที่มีคนที่เลิกบุหรี่มวนได้ด้วยบุหรี่ไฟฟ้า แต่เปรียบเทียบแล้ว อัตราการเลิกสูบบุหรี่มวนไม่ได้สูงกว่าคนที่ใช้วิธีอื่นในการเลิก

แต่คนที่เลิกบุหรี่มวนได้ด้วยบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนใหญ่จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป ซึ่งอันตรายระยะยาวยังไม่รู้

ทั่วโลกจึงยังไม่มีบุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนว่า ช่วยให้เลิกบุหรี่ได้ เนื่องจากว่าผลิตภัณฑ์ที่จะใช้ช่วยเลิกบุหรี่ ต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความปลอดภัยด้วย ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้าไม่ผ่านเกณฑ์นี้

และในความเป็นจริง บุหรี่ไฟฟ้าถูกผลิตขึ้นมาเพื่อให้คนสูบเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่เพื่อช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่

ในคนที่สูบบุหรี่มวนที่เปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวนมากจะสูบทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีหลักฐานชัดเจนว่า อันตรายยิ่งมากกว่าคนที่สูบเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

จากข้อ 1 และ 2 ประโยชน์ของบุหรี่ไฟฟ้าในคนที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว จึงยังไม่เห็นชัดเจน

3. สถานการ์สนับสนุนว่า อันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่สำคัญที่สุดคือ การระบาดในเด็กและวัยรุ่นที่อายุน้อย และมีความเสี่ยงน้อยที่จะสูบบุหรี่มวน โดยเฉพาะในผู้หญิง 

การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กที่อายุน้อย นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสมองของเด็กที่กำลังพัฒนา ส่งผลเสียต่อสมาธิ การเรียนรู้และการควบคุมอารมณ์ เพิ่มความเสี่ยงอาการซึมเศร้า  และทำให้สมองมีความพร้อมที่จะรับยาเสพติดชนิดอื่นๆง่ายขึ้น และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 3-4 เท่าที่จะต่อไปสูบบุหรี่มวนเมื่อติดตามต่อมา

หลักฐานยังปรากฏว่า เด็กและวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีระดับการติดนิโคตินหนักกว่า วัยรุ่นที่สูบบุหรี่มวน ผลจากที่บุหรี่ไฟฟ้าสูบได้สะดวก สูบได้ตลอดเวลา ทำให้สมองได้รับนิโคตินมากกว่าเด็กที่สูบบุหรี่มวน

ในคนที่ติดบุหรี่ไฟฟ้าที่อยากเลิก หลักฐานพบว่า การเลิกยิ่งยากกว่าการเลิกบุหรี่มวน  ซึ่งเด็กไทย 10 คนที่สูบบุหรี่มวน 7 คนจะเลิกไม่ได้ตลอดชีวิต

นอกจากนี้ยังเป็นอันตรายต่อปอด ระบบไหลเวียนของโลหิต ซึ่งพบคนไข้มากขึ้นมากขึ้น และพบมะเร็งปอดในหนูทดลองที่ได้รับไอบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว

หลักฐานจึงสรุปได้ว่า ในเด็กและวัยรุ่นอายุน้อย บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายมากกว่าบุหรี่มวน จากการที่เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยลงไปถึงระดับประถมศึกษาทั้งสองเพศทั่วประเทศในขณะนี้

ในการพิจารณาถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า หลายๆประเทศจึงพิจารณาโดยการชั่งน้ำหนัก ระหว่างผลดี (ที่อาจจะมี) ในผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว (ข้อ 1 และ 2) กับ ผลเสียที่มีต่อเด็กและวัยรุ่นอายุน้อยที่เข้ามาสูบและเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า (ข้อ 3) ซึ่งชัดเจนว่า ผลเสียมากกว่าผลดี

การเกิดขึ้นของบุหรี่ไฟฟ้า จึงส่งผลเสียต่อสาธารณสุข มากกว่าผลดีที่ “อาจจะมี”

ประเทศไทยห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าปี พ.ศ.2557 ขณะนั้นทั่วโลกมีประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า 13 ประเทศ ล่าสุดจำนวนประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเป็น 42 ประเทศ เหตุผลในการห้ามเหมือนกันคือ ต้องการป้องกันอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อเด็กทั้งชายและหญิง

สหพันธ์ต่อต้านวัณโรคและโรคปอดนานาชาติ มีคำแนะนำว่า ในประเทศรายได้ปานกลาง หรือรายได้ปานกลางระดับต่ำ การห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าทุกชนิด เป็นนโยบายที่ดีที่สุด หากต้องการที่จะควบคุมยาสูบอย่างจริงจัง เพราะในประเทศเหล่านี้  ที่ยังควบคุมบุหรี่มวนได้ไม่ดี  การเปิดให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย จะเบียดบังทรัพยากรในการควบคุมยาสูบที่มีน้อยอยู่แล้ว สุดท้ายจะเกิดการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มเติมจากปัญหาการควบคุมบุหรี่มวนที่มีอยู่แล้ว

หัวหน้าสำนักงานอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกที่มาประเมินสมรรถนะการควบคุมยาสูบของประเทศไทยเมื่อมิถุนายนปี 2566 แนะนำว่า ประเทศไทยควรจะห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป  หากจะยกเลิกการห้ามขาย  ต้องไตร่ตรองว่า มีความพร้อมที่จะควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าได้ไหม ขนาดผิดกฎหมายก็มีปัญหาในการควบคุมอยู่แล้ว

ข้อมูลจาก ศ.นพ ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่