รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เป็นมรดกตกทอดมาจากการทำรัฐประหารในเดือน พ.ค. 57 แต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ผ่านการทำ “ประชามติ” ของประชาชนทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 59 จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 50,071,589 คน โดยมีผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ 29,740,677 คน (59.40%) เห็นชอบ 16,820,402 คน ไม่เห็นชอบ 10,598,037 คน ส่วนที่เหลือเป็นบัตรเสียและไม่ลงคะแนน
ส่วนกรณีการจะ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่ถกเถียงกันอยู่เวลานี้ ว่าพรรคไหนปาหี่ โลเล? พรรคไหนสมคบคิด เล่นเกมถ่วงเวลา? พรรคไหนยังเป็นเด็กสร้างบ้าน ปั่นกระแสไปวัน ๆ?
การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 หลายพรรคการเมืองคิดเหมือนกัน คือ ต้องการให้มีคนกลาง คือ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 40 แต่ไม่มี “ส.ส.ร.” อยู่ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญปี 60
สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือรัฐบาล “คสช.2” สมาชิกรัฐสภามีความพยายามจะแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 โดยพรรคฝ่ายค้านเสนอให้เอา ส.ส.ร. มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่ให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
จนกระทั่งวันที่ 11 มี.ค. 64 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ที่ 4/2564 เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า “รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”
“พยัคฆ์น้อย” สรุปว่าถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร. ก็ต้องทำ “ประชามติ” ก่อนสถานเดียวเท่านั้น! ถ้ายึดตามคำวินิจฉัยคือทำประชามติแค่ 2 ครั้ง! ไม่ต้องมายักแย่ยักยัน เล่นปาหี่ ต้มประชาชน เหมือนช่วงวันที่ 13-14 ก.พ. 68
เราเสียเวลากันมาปีกว่าแล้ว! แต่ “พยัคฆ์น้อย” ก็รอได้! คือรอร่าง พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ ที่ถูกแขวนไว้ 180 วัน (ครบกำหนดราว ๆ เดือน มิ.ย.-ก.ค. 68) หลังจากนั้นหากสส. ยังยืนยันในหลักการของตัวเอง “เกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว” จึงประกาศบังคับใช้ได้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งดูขั้นตอนต่าง ๆ เช็กไทม์ไลน์แล้ว คาดว่าจะทำประชามติได้ประมาณปลายเดือน ธ.ค. 68 จนถึงต้นเดือน ม.ค. 69
โดยมีคำถามใน “ประชามติ” คือ เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ ให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยส.ส.ร.
แต่ถ้าต้องการให้ “ประชามติ” มีจุดขาย! เพื่อให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิกันมาก ๆ ก็อาจจะมี “คำถามพ่วง” ใส่มาด้วย! ว่าเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ กับการแก้ไขโครงสร้าง–อำนาจ ขององค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ! เหมือนประชามติในยุค “คสช.” ที่ใส่กรณีให้สว.มีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี พ่วงเข้ามาด้วย!
พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชน พรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคกล้าธรรม และพรรคเล็กอื่น ๆ ต้องช่วยกันผลักดันทำ “ประชามติ” ให้ได้ภายในปี 68 เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดย ส.ส.ร.
ส่วนพรรคภูมิใจไทย จะร่วมหัวจมท้ายกับ สว.กลุ่มใหญ่! ในสไตล์ “อนุรักษนิยม” ก็ปล่อยเขาไป!!.
………………………………………..
พยัคฆ์น้อย