เรียนคุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือ
ผมอายุ 48 ปี ได้อ่านบทความของคุณหมอที่เขียนเกี่ยวกับอาการและผลเสียของการขาดฮอร์โมนเพศชายที่ลงไว้ในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป จะเริ่มมีการลดลงของฮอร์โมนเพศ จึงไปตรวจหาระดับฮอร์โมนเพศที่โรงพยาบาลใกล้บ้านพบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติ นอกจากนี้ผลการตรวจเลือดยังพบว่าไม่เป็นเบาหวาน ไขมันในเลือดก็อยู่ในเกณฑ์ทุกตัว ผมเป็นคนหนึ่งที่อ่านบทความของคุณหมอแล้วนำไปใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งมีประโยชน์มาก ปกติเป็นคนทำงานหนักต้องเดินทางอยู่เป็นประจำ จึงไม่ค่อยได้มีเวลาดูแลสุขภาพเท่าไหร่นักแต่ก็ไม่อยากมีอาการฮอร์โมนต่ำเร็วเกินไปเพราะกลัวว่าจะเกิดอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศตามมาได้ จึงอยากให้คุณหมอช่วยแนะนำวิธีปฏิบัติตัวที่จะทำให้ฮอร์โมนเพศลดลงช้าที่สุดให้ทราบด้วย
ด้วยความนับถืออย่างสูง
ประสิทธิ์
ตอบ ประสิทธิ์
ในความเป็นจริงแล้วระดับฮอร์โมนเพศชายในผู้ชายนั้น แม้ว่าจะมีอาการต่าง ๆ ที่แสดงออกว่าฮอร์โมนเพศชายต่ำ แต่ในร่างกายจะไม่หยุดสร้างฮอร์โมนเพศชายเลย ผู้ชายสามารถฟื้นฟูประสิทธิภาพในการสร้างฮอร์โมนเพศชายได้ ซึ่งแพทย์จะแนะนำให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนให้กลับมาเป็นปกติอีกครั้ง แต่ในผู้ชายสูงวัยที่มีการพร่องฮอร์โมนเพศชายที่แน่นอนก็จะมีการให้ฮอร์โมนเพศชายเสริมอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นในกรณีที่มีข้อห้ามก็จะไม่ใช้ฮอร์โมนเพศ เช่น ค่าพีเอสเอสูง หลังผ่าตัดมะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น
ภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายนั้นสาเหตุสำคัญมาจากการดำเนินชีวิตประจำวัน ดังนั้นหากมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตใหม่ ควบคู่กับการดูแลสุขภาพร่างกายจากแพทย์ก็จะสามารถทำให้เกิดการพร่องฮอร์โมนก่อนวัยได้ช้าลง ได้แก่ เข้านอนตั้งแต่หัวค่ำเพื่อให้หลับสนิทได้ตอนประมาณเที่ยงคืน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งการออกกำลังกายจะกระตุ้นการสร้างฮอร์โมนเพศชาย ต้องทำอย่างน้อยวันละ 45 นาที หรือ 300 นาทีต่อสัปดาห์ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พยายามหลีกเลี่ยงอาหารเค็มจัด หวานจัด ไขมันเยอะ เลิกดื่มเหล้าและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
อาหารที่มีประโยชน์ให้รับประทานไข่ ในไข่จะมีธาตุสังกะสี วิตามินบี ช่วยในการสร้างฮอร์โมนเพศชาย รับประทานกะหล่ำจากผลการวิจัยจาก Rockefeller University พบว่าในกะหล่ำจะมีสารอินโดล-3-คาร์บินอล (indole-3-carbinol) หรือ IC3 ช่วยให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ ได้มากขึ้น รับประทานไขมันดี ได้แก่ ไขมันไม่อิ่มตัว พบมากในน้ำมันมะกอก น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว น้ำมันดอกทานตะวัน และโอเมก้า 3,6,9 ที่พบในปลา ถั่ว อะโวคาโด สารเหล่านี้เป็นส่วนประกอบสำคัญของฮอร์โมนเพศชาย ทำกิจกรรมที่ทำให้มีความตื่นเต้นและมีความสุขเช่นการดูกีฬา จะทำให้ฮอร์โมนเพศชายพุ่งสูงขึ้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือหลีกเลี่ยงภาวะเครียดต่าง ๆ ต้องคิดบวก มองทุกอย่างในแง่ดี จะได้ไม่เกิดภาวะซึมเศร้า จะทำให้หลับสนิทตลอดทั้งคืน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ชะลอการลดลงของระดับฮอร์โมนเพศ และทำให้มีสุขภาพทางกายและใจที่ดี สามารถป้องกันการเกิดอาการอีดีได้อย่างดีเยี่ยม.
ดร.โอ สุขุมวิท 51