นอกจากเพลงวอลซ์เร้าใจที่รู้จักกันดีอย่าง “The Blue Danube” ซึ่งกลายเป็นเพลงชาติอย่างไม่เป็นทางการออสเตรีย ผลงานเพลงเต้นรำมากกว่า 500 เพลงของชเตราส์ ยังคงมีอยู่ในเทศกาลเต้นรำที่กรุงเวียนนา

นายเอดูอาร์ด ชเตราส์ บุตรชายของเหลนชายของโยฮันน์ กล่าวว่า ความนิยมที่มีมาอย่างต่อเนื่องของทวดของเขา อยู่ในทำนองเพลงติดหูที่ถูกแต่งขึ้นเพื่อให้กำลังใจผู้คน ซึ่งโยฮันน์ได้สร้างดนตรีที่เข้าถึงทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะมีภูมิหลังอย่างไรก็ตาม

กระนั้น ชื่อเสียงของชเตราส์ ไม่ได้ฝังรากลึกอยู่ในเพลงฮิตเท่านั้น เพราะการขายเพลง หมายถึงการตลาดสำหรับภาพลักษณ์ของดาราคนดังด้วย

ทั้งนี้ รัฐบาลเวียนนาจัดเตรียมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปี เพื่อรำลึกถึงชเตราส์ ด้วยกิจกรรมสุดพิเศษ คอนเสิร์ต และนิทรรศการ แม้กระทั่งเครื่องบินของสายการบิน “ออสเตรียน แอร์ไลน์ส” ก็ถูกตกแต่งด้วยภาพของชเตราส์ และไวโอลินของเขา

“ชเตราส์เป็นสัญลักษณ์ของดนตรีสำหรับทุกคน” นางเฮเลน ฟอสเตอร์ ทันตแพทย์ชาวสหราชอาณาจักร ซึ่งเคยเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ชเตราส์แห่งหนึ่งในกรุงเวียนนา กล่าว พร้อมกับเสริมว่า ทำนองเพลงวอลซ์อันไพเราะของชเตราส์ เป็นที่นิยมในกลุ่มคนทุกยุคสมัย

ชเตราส์เกิดที่เขตชานเมืองของกรุงเวียนนา เมื่อปี 2368 ในครอบครัวนักดนตรีที่มีชื่อเสียง แต่ถึงอย่างนั้น ความสำเร็จของเขากลับไม่ได้มาง่าย ๆ เนื่องจากเขาต่อต้านความปรารถนาของบิดา ที่ไม่ต้องการให้เป็นนักดนตรีเหมือนกัน และแอบเรียนไวโอลินอย่างลับ ๆ โดยมีมารดาคอยสนับสนุน

หลังจากบิดาทิ้งครอบครัวไปหาผู้หญิงคนอื่น มารดาของชเตราส์ ก็กลายเป็นแรงผลักดันเบื้องหลังอาชีพของบุตรชายคนโต ซึ่งยังคง “ผลิตดนตรี” เพื่อหาเลี้ยงชีพ จนกระทั่งโยฮันน์เปิดตัวครั้งแรกเมื่อเขามีอายุ 18 ปี และกลายเป็นคู่แข่งโดยตรงของบิดาตนเอง

ชเตราส์พัฒนาเพลงวอลซ์ที่เรียบง่ายของบิดาจนสมบูรณ์แบบ และยกระดับให้กลายเป็นผลงานคอนเสิร์ตอันประณีต ซึ่งเพลงเต้นรำที่ร่าเริงและมีพลังของเขา ช่วยให้ชาวออสเตรียหลายคนลืมความยากลำบากที่พวกเขาเผชิญ ในช่วงศตวรรษที่ 19 ได้

แม้ชเตราส์มีอาการป่วยทางจิต เนื่องจากความเหนื่อยล้า แต่เขายังทำการแสดง และประพันธ์เพลงต่อไปด้วยความเร็วที่น่าประทับใจ

ด้านนายโทมัส เอกเนอร์ นักดนตรีวิทยา กล่าวถึงมรดกของชเตราส์ ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2442 ว่าผู้คนยังคงเต้นรำตามเพลงวอลซ์ของชเตราส์ และทุกคนยังสามารถได้ยินเพลงเหล่านี้ในห้องแสดงคอนเสิร์ต ซึ่งสิ่งนั้นถือเป็น “ความสำเร็จอันแสนพิเศษ” ของชเตราส์.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP