ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ทั้ง 630 ที่นั่งของเยอรมนี ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ก.พ. ที่ผ่านมา ปรากฏว่า พรรคประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนี ( ซีดียู ) ของนายฟรีดริช เมิร์ซ ได้รับการเลือกตั้งเข้ามามากที่สุด 28.5% คิดเป็น 14.1 ล้านเสียง และ 208 ที่นั่ง

ตามด้วยพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี ( เอเอฟดี ) ซึ่งเป็นพรรคขวาจัด ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาด้วยสัดส่วน 20.8% คิดเป็น 10.3 ล้านเสียง และ 150 ที่นั่ง ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นมากถึง 10% จากการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีที่แล้ว

ฝ่ายต่อต้านพรรคเอเอฟดีชุมนุมหน้าอาคารรัฐสภา ในกรุงเบอร์ลิน 2 ก.พ. 2568

พรรคสังคมประชาธิปไตย ( เอสพีดี ) ซึ่งเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลชุดปัจจุบัน ของนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ได้รับการเลือกตั้ง 16.4% คิดเป็น 8.1 ล้านเสียง เท่ากับ 120 ที่นั่ง ถือเป็นผลงานย้ำแย่ที่สุดเป็นประวัติการณ์สำหรับพรรคเอสพีดี ตามด้วยพรรคกรีนส์ 11.6% คิดเป็น 5.7 ล้านเสียง เท่ากับ 85 ที่นั่ง และพรรคฝ่ายซ้าย 8.7% คิดเป็น 4.3 ล้านเสียง เท่ากับ 64 ที่นั่ง

อนึ่ง การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ของเยอรมนี ถือเป็นการลงคะแนนก่อนกำหนด เป็นครั้งที่ 4 ในประวัติศาสตร์ของเยอรมนี นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ต่อจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2515 2526 และ 2548 โดยเดิมทีเยอรมนีกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปไว้ในวันที่ 28 ก.ย. 2568 แต่ด้วยวิกฤติการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลผสมชุดปัจจุบัน ซึ่งปะทุเมื่อเดือนพ.ย. ปีที่แล้ว ส่งผลให้โชลซ์ตัดสินใจยุบสภา เมื่อเดือนม.ค. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลของเยอรมนีใช้เวลาค่อนข้างนาน เนื่องจากในประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศแห่งนี้ปรากฏว่า นับตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง แทบไม่ค่อยมีพรรคการเมืองใดได้รับเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในสภา ซึ่งเมิร์ซกล่าวว่า จะพยายามดำเนินการให้เสร็จภายในช่วงอีสเตอร์ คือกลางเดือนเม.ย. นี้ ท่ามกลางการจับตาจากทุกฝ่าย ว่าพรรคซีดียูจะทำอย่างไรกับพรรคเอเอฟดี

นายฟรีดริช เมิร์ซ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยคริสเตียนแห่งเยอรมนี ( ซีดียู )

ทั้งนี้ เมิร์ซ วัย 69 ปี ยืนยันว่า จะทำให้เยอรมนีกลับมายืนอยู่บนแถวหน้าของยุโรปอีกครั้ง หลังเผชิญกับ “ภาวะอัมพาตทางการเมือง” ยาวนานหลายเดือน และกล่าวถึงการที่พรรคเอเอฟดีได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นที่สอง “คือสัญญาณเตือนล่าสุดไปถึงทุกพรรคการเมือง ที่เป็นศูนย์กลางของประชาธิปไตยในเยอรมนี”

แม้เมิร์ซกล่าวว่า ต้องการร่วมมือกับพรรคเอเอฟดี เพื่อจัดการเรื่องผู้อพยพ หลังเยอรมนีเผชิญกับเหตุก่อการร้ายและเหตุรุนแรงหลายระลอกในช่วงใกล้เลือกตั้ง ที่คนร้ายเป็นผู้อพยพทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย แต่ยืนยันว่า จะไม่ดึงอีกฝ่ายเข้ามาร่วมรัฐบาลแน่นอน เพื่อรักษาธรรมเนียมปฏิบัติทางการเมืองของเยอรมนี ที่จะไม่ร่วมมือกับพรรคขวาจัด

ด้านน.ส.อลิซ ไวเดิล ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคเอเอฟดี และเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคด้วย ยกย่องชัยชนะของพรรคในการเลือกตั้งครั้งนี้ “ถือเป็นประวัติศาสตร์” จากการกวาดที่นั่งในฝั่งตะวันออกของประเทศ และได้รับเสียงสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากฝั่งตะวันตก ยิ่งสะท้อน “ความแข็งแกร่งของพรรคเอเอฟดีในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน”

อย่างไรก็ตาม ไวเดิลเรียกร้องบรรดาพรรคการเมืองกระแสหลัก เลิกแนวคิดแบบเก่าในการ “โดดเดี่ยว” พรรคขวาดจัด โดยประณามว่า เป็นธรรมเนียมทางการเมือง “ที่ต่ำกว่าพื้นฐานประชาธิปไตย” เนื่องจากเป็นการไม่เคารพความต้องการของชาวเยอรมันหลายล้านคน และเตือนว่า กลไกประชาธิปไตยไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ยังคิดแบบนี้

นายทิโน ชรูปัลลา และน.ส.อลิซ ไวเดิล สองผู้นำร่วมของพรรคทางเลือกเพื่อเยอรมนี ( เอเอฟดี )

พรรคเอเอฟดีก่อตั้งเมื่อปี 2556 โดยไวเดิล ร่วมกับนายทิโน ชรูปัลลา จากความไม่พอใจที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจหลายด้านของยูโรโซน นับจากนั้นจนถึงปัจจุบัน พรรคเอเอฟดีมีสถานะไม่ต่างอะไรกับการเป็น “ความไม่เข้าพวก” ทางการเมืองของเยอรมนี ประเทศซึ่งยังคงหวาดหวั่นกับความเป็นนาซี อุดมการณ์การเมืองที่ยังคงมีผลต่อจิตใจของชาวเยอรมันจำนวนมาก แม้นายอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ถึงแก่อสัญกรรมไปนาน 80 ปีแล้วก็ตาม

แม้ได้รับการเลือกตั้งเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรของเยอรมนีเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2560 แต่พรรคเอเอฟดียังคงแทบไม่ได้รับการยอมรับ จากบรรดาพรรคการเมืองและสื่อที่ถือเป็น “กระแสหลัก” ของประเทศ โดยเฉพาะการมีนโยบาย “ต่อต้านการอพยพ” ซึ่งสื่อถึงความต้องการขับไล่ผู้อพยพให้ออกไปจากเยอรมนี ทำให้หลายฝ่ายเปรียบเทียบจุดยืนนี้กับนโยบายของพรรคนาซี ทำให้พรรคเอเอฟดีเผชิญกับการสอบสวน และการสังเกตการณ์ จากหน่วยงานด้านความมั่นคงของเยอรมนี

ต่อให้ต้องเผชิญกับการโดดเดี่ยวทางการเมือง แต่พรรคเอเอฟดีจะกลายเป็นพรรคฝ่ายค้านขนาดใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายมองข้ามไม่ได้อย่างเด็ดขาด แม้ไม่ได้ต้องเคลื่อนไหวอะไรมากมาย แต่การมีตัวตนของพรรคเอเอฟดีทำให้พรรคกระแสหลักในเยอรมนี “นั่งไม่ติด” และต้องหาทางขบคิดตลอดเวลา ว่าต้องทำอย่างไร เพื่อไม่ให้พรรคของตัวเองสูญเสียความนิยมไปให้กับพรรคการเมืองขวาจัดพรรคนี้

การที่พรรคการเมืองขวาจัดได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุโรป ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในเยอรมนี เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และออสเตรีย เป็นประเทศในภูมิภาคซึ่งพรรคขวาจัด “มีเสถียรภาพแข็งแกร่ง” และเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาล การขับเคลื่อนนโยบาย และการบัญญัติกฎหมายของประเทศเหล่านั้น ถึงไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ตาม ยิ่งไปกว่านั้น รัฐบาลอิตาลีชุดปัจจุบันของนายกรัฐมนตรีจอร์เจีย เมโลนี มีพรรคขวาจัดเป็นแกนนำ

นับจากนี้ “ความหวาดกลัว” ของบรรดาพรรคการเมืองในเยอรมนี ที่มีต่อพรรคเอเอฟดี จะเป็นตัวแแปรสำคัญในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาล จริงอยู่ที่พรรคซีดียูคงไม่กล้าแหวกธรรมเนียมทางการเมือง แต่การหาเสียงเรื่องผู้อพยพไปในทางเดียวกับพรรคเอเอฟดี ต่อให้ไม่แข็งกร้าวเท่า ทว่ากำลังทำให้พรรคซีดียูมีภาพลักษณ์แบบ “พรรคเอเอฟดีเวอร์ชันอ่อนโยน”

ฝ่ายสนับสนุนพรรคเอเอฟดีชูแผ่นป้าย “ประเทศต้องมาก่อน” ระหว่างการชุมนุม ที่เมืองแอร์ฟัวร์ต ทางตะวันออกของเยอรมนี 31 ส.ค. 2567

ชาวเยอรมันจำนวนไม่น้อยต้องการให้ภาครัฐ “เพิ่มความจริงจัง” กับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมที่เพิ่มขึ้นจากผู้อพยพ เมื่อพรรคซีดียูหาเสียงมาในแนวทางนี้ด้วย จึงเป็นหนึ่งในเรื่องที่รัฐบาลเยอรมนีชุดใหม่ต้องตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชนให้ได้ และเรื่องนี้จะเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญของเมิร์ซ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปของเยอรมนี.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP