ในตอนนี้ สำนักงานของรัฐบาลหลายแห่งในกรุงจาการ์ตา ปิดไฟและเครื่องปรับอากาศทันที เมื่อถึงเวลา 16.00 น. ซึ่งเป็นเวลาเลิกงานของข้าราชการในอินโดนีเซีย ส่งผลให้พนักงานบางคนที่พยายามทำงานต่อให้เสร็จ ต้องนั่งอยู่ที่โต๊ะท่ามกลางแสงสลัว ขณะที่เจ้าหน้าที่บางคนได้รับการสนับสนุนให้ทำงานที่บ้าน เพื่อประหยัดค่าพลังงาน
ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยก็เริ่มปิดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลังเลิกงาน ตามคำสั่งให้พนักงานเลิกงานตรงเวลา อีกทั้งยังมีการเรียกร้องให้พนักงานออกจากออฟฟิศโดยเร็ว รวมถึงปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในสำนักงานด้วย
มาตรการรัดเข็มขัดของรัฐบาลจาการ์ตา เกิดขึ้นหลัง พล.ท.ปราโบ มีคำสั่งตัดงบประมาณเมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของสำนักงาน พิธีการ และการเดินทางเพื่อธุรกิจ มูลค่ารวมประมาณ 306.7 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 635,000 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม คำสั่งข้างต้นทำให้กระทรวงต่าง ๆ เกิดความสับสนวุ่นวาย และเจ้าหน้าที่รัฐบางคนไม่รู้เรื่อง ซึ่งนักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหันนี้ น่าจะเป็นการโอนย้ายเงินทุนไปยังโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการมื้ออาหารฟรีสำหรับเด็กนักเรียน มูลค่า 4,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 144,600 ล้านบาท) และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติใหม่
ทั้งนี้ พล.ท.ปราโบโว กล่าวว่า เขาต้องการระดมเงินประมาณ 46,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.5 ล้านล้านบาท) จากการลดการใช้จ่ายของรัฐบาล และจากเงินปันผลของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งการตัดงบประมาณทำให้บางกระทรวงได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยลง “มากกว่า 50%”
แต่ถึงอย่างนั้น การดำเนินการของรัฐบาลจาการ์ตา กระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาสังคมของอินโดนีเซีย โดยกลุ่มหนึ่งกล่าวหาว่า การปรับลดงบประมาณของ พล.ท.ปราโบโว นั้น “ไร้ประโยชน์” และ “ไม่คำนึงถึงความต้องการของสังคม”
ด้านเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย กล่าวกับฝ่ายนิติบัญญัติของรัฐบาลจาการ์ตา ว่าการตัดงบประมาณครั้งใหญ่ ทำให้ภาครัฐสามารถจ่ายค่าจ้างได้ถึงเดือน พ.ค. นี้เท่านั้น ขณะที่พนักงานบางส่วนคร่ำครวญว่า การตัดงบประมาณสร้างความลำบาก และส่งผลเสียต่อการทำงานของพวกเขา
บรรดานักเศรษฐศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า การตัดงบประมาณของรัฐบาลจาการ์ตา ได้รับแรงหนุนจากความจำเป็นในการชำระหนี้ประมาณ 49,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท) ในปีนี้ ซึ่งรวมถึงพันธบัตรรัฐบาล มูลค่าประมาณ 43,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.4 ล้านล้านบาท) ที่กำลังจะครบกำหนด
แม้การตัดงบประมาณมีแนวโน้มช่วยให้โครงการต่าง ๆ อันทะเยอทะยานของ พล.ท.ปราโบโว มีเงินทุนเพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน การลดการใช้จ่ายของรัฐบาลและสังคม อาจส่งผลกระทบในวงกว้าง เช่น การจัดสรรงบประมาณใหม่ “ที่ลดลง” สำหรับภาคส่วนสาธารณสุขและการศึกษา.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP