
ภาพแสดงการกรองโปรตีนทางไต เปรียบเทียบการทำงานของไตปกติ (ซ้าย) การทำงานของไตเสื่อม(ขวา)
โปรตีนรั่วในปัสสาวะ อาจเกิดจากสาเหตุชั่วคราว โดยมิได้มีการทำงานของไตผิดปกติ เช่น การออกกำลังกายภายใน 24 ชั่วโมงก่อนการตรวจปัสสาวะ มีไข้ติดเชื้อ ภาวะขาดน้ำ หัวใจวายฉุกเฉิน มีประจำเดือน เป็นต้น ส่วนสาเหตุเรื้อรังที่สำคัญที่ทำให้โปรตีนรั่วในปัสสาวะ ซึ่งบ่งบอกถึงการทำงานของไตที่ผิดปกติ เช่น โรคไตอักเสบ โรคลูปัส อายุที่มากขึ้น (หน้าที่การทำงานของไตลดลงแปรผกผันกับอายุที่มากขึ้น) น้ำหนักเกิน ความดันโลหิตสูงเป็นเวลานาน รวมถึงเบาหวานที่คุมไม่ดี จนกระทั่งเบาหวานลงไต เป็นต้น
อาการของการมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ เกิดเมื่อมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะในปริมาณมาก ได้แก่ ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะบ่อยขึ้น ปัสสาวะกลางคืน หนังตาบวมตอนเช้า หน้าบวม ตัวบวม ข้อเท้าบวม เป็นต้น เมื่อเกิดอาการดังกล่าว แสดงถึงการทำงานของไตเสื่อม ถึงแม้ได้รับการรักษา ในบางรายอาจไม่สามารถทำให้การทำงานของไตกลับมาเป็นปกติได้ ส่งผลให้ไตวายเรื้อรังต่อเนื่องจนต้องได้รับการบำบัดทดแทนไตในที่สุด นอกจากนี้ การมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและเพิ่มอัตราการเสียชีวิตอีกด้วย
อย่างไรก็ดี ผู้เป็นเบาหวานลงไตในระยะแรก แม้ว่ามีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ แต่มักไม่มีอาการ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับผู้เป็นเบาหวาน คือ การตรวจคัดกรองเบาหวานลงไต ด้วยการตรวจเลือดดูการทำงานของไตและตรวจโปรตีนในปัสสาวะอย่างน้อยปีละครั้ง โดยผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ควรเริ่มตรวจตั้งแต่แรกวินิจฉัยเบาหวาน ส่วนผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 เริ่มตรวจเมื่อวินิจฉัยเบาหวานแล้วประมาณ 3-5 ปี
การตรวจโปรตีนในปัสสาวะสำหรับผู้เป็นเบาหวาน ตามมาตรฐานควรตรวจปริมาณอัลบูมิน เนื่องจากอัลบูมินเป็นโปรตีนขนาดเล็ก และเป็นชนิดที่พบมากที่สุดในกระแสเลือด ทำให้การตรวจอัลบูมินในปัสสาวะมีความไวในการวินิจฉัยความผิดปกติของไตมากกว่าการตรวจวิธีอื่น จึงถือว่าเป็นวิธีการตรวจคัดกรองเบาหวานลงไตที่มีประสิทธิภาพที่สุด วิธีการตรวจโปรตีนในปัสสาวะ มีหลายวิธี ดังนี้

1. Qualitative test: urine dipstick test ใช้แถบตรวจปัสสาวะจุ่มลงในปัสสาวะ เพื่อเทียบสี เป็นวิธีที่ใช้มานานและแพร่หลาย แต่มีความไวต่ำและไม่จำเพาะเจาะจง เนื่องจากให้ผลบวกเมื่ออัลบูมินในปัสสาวะเกิน 300 มก.ต่อวัน
2. Semi-quantitative test: Urine albumin-creatinine ratio (UACR) วัดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะ ณ จุดเวลาเดียว โดยมักตรวจในตอนเช้า เป็นวิธีที่นิยม เนื่องจากง่ายในการเก็บปัสสาวะ ใช้ปริมาณปัสสาวะไม่มาก ประมาณ 60 ซีซี
3. Quantitative test: 24-hr urine albumin วัดปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะ 24 ชั่วโมง ถือเป็นมาตรฐาน แต่ไม่สะดวก และอาจไม่แม่นยำ หากกระบวนการเก็บปัสสาวะผิดวิธี
การแปลผลโปรตีนในปัสสาวะจำแนกตามปริมาณอัลบูมินหรือโปรตีนที่ตรวจพบ ดังตาราง
การแปลผล | ปกติ (Normoalbuminuria) | ปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะสูงปานกลาง (Microalbuminuria) | ปริมาณอัลบูมินในปัสสาวะสูงมาก (Macroalbuminuria) |
24-hr urine albumin (มก./วัน) UACR (มก./ก. ครีเอตินิน) | < 30 < 30 | 30-299 30-299 | > 300 > 300 |
หมายเหตุ: ผลการตรวจโปรตีนในปัสสาวะอาจมีความหลากหลายในแต่ละวันหรือระหว่างวัน ดังนั้นควรเทียบกับค่าครีเอตินิน (creatinine) ในปัสสาวะด้วยเสมอ นอกจากนี้ หากผลตรวจผิดปกติ ควรตรวจซ้ำอีกครั้งในระยะเวลา 1-3 เดือน เพื่อยืนยันการวินิจฉัย
เมื่อผู้เป็นเบาหวาน มีโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ได้ตามเป้าหมาย รักษาความดันโลหิตให้ปกติ < 130/80 มม.ปรอท ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ลดน้ำหนัก (หากอ้วน) งดสูบบุหรี่ และใช้ยารักษาตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อลดปริมาณโปรตีนในปัสสาวะ ชะลอการเสื่อมของไต และการบำบัดทดแทนไต รวมถึงลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในอนาคต
ข้อมูลจาก พญ.ฐิตินันท์ อนุสรณ์วงศ์ชัย สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯ
นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์