เป็นเรื่องที่ต้องจับตาชนิดที่กระพริบไม่ได้ ในการชิงไหว ชิงพริบ ขบเหลี่ยมกันของ 2 กลุ่มการเมืองใหญ่ ระหว่าง “พรรคเพื่อไทย”กับ “พรรคภูมิใจไทย”  คอลัมน์ตรวจการบ้าน จึงต้องมาสนทนากับ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า” มาวิเคราะห์อุณหภูมิร้อนๆ ทางการเมืองจะมีเหตุการณ์ผันแปรไปอย่างไร

โดย“ดร.สติธร” เปิดประเด็นว่ารัฐบาลช่วงนี้อยู่กึ่งกลางเทอมของรัฐบาล แนวโน้ม 2 พรรค อยากอยู่ให้ตลอดรอดฝั่ง ไม่รีบเลือกตั้ง แต่มองไปที่ 2 ปีข้างหน้า ต่างฝ่ายต่างต้องการเป็นคนกำหนดเกณฑ์วางยุทธศาสตร์ให้ตัวเองได้เปรียบและมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง ในจำนวนที่ต้องการ พอโจทย์เป็นแบบนี้ จึงเกิดบางอย่างที่เห็นไม่ตรงกัน ไม่ยอมกัน มีจุดที่ปะทะกันเยอะขึ้น

วันนี้อยู่ด้วยกันมา 2 ปี ถึงจุดที่จะต้องเตือนกันแรงๆ เพราะถ้าเดินต่อไปอย่างนี้ ในมุม “เพื่อไทย” ไม่ดีแน่ โอกาสที่กลับมาเป็นพรรคอันดับหนึ่ง สามารถคุมเกมได้ จะสำเร็จยากมาก ยิ่งคะแนนการเลือกตั้งอบจ. ยิ่งชัดเจนว่า ไม่มีทาง จึงต้องชิงโอกาส ซึ่งวันนี้เครื่องมือ หรือกระทรวงที่ “พรรคเพื่อไทย” บริหารอยู่ไม่น่าจะมีศักยภาพพอที่จะทำให้ได้คะแนนเสียงถึง 200 เสียง จึงอยากปรับเปลี่ยนบางจุด อย่างสนามเลือกตั้งการไม่มีกระทรวงมหาดไทยในมือเพื่อไทยก็ลำบาก เพราะสนามอบจ.เป็นบทเรียนสำคัญ  

@ ทำไมถึงเกิดความขัดแย้งกันหนักในช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ

สามัคคีก็เป็นเรื่องหนึ่ง เขารู้อยู่แล้วว่าเกมอภิปรายฯไม่ใช่เรื่องใหญ่ ตราบใดที่คุมเสียงข้างมากอยู่ วันนี้ต่อให้ไม่สามัคคีกัน สมมติ “พรรคภูมิใจไทย”ไม่ยกมือให้นายกฯ ก็ยังรอด ได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งอยู่ดี เพราะเสียง “พรรคภูมิใจไทย”ไม่ได้เยอะขนาดที่หากขาดไปจะทำให้เสียงต่ำกว่าครึ่งอย่างมาก ก็ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลเสียหายที่พรรคร่วมไม่ยกมือให้หรือยกมือให้น้อย ซึ่งถ้าพรรคภูมิใจไทยกล้าทำขนาดนั้น ถ้าเป็นเช่นนั้นพรรคเพื่อไทยก็ปรับครม. เอาพรรคภูมิใจไทยออก  

“เขาก็เลยมองว่าเกมอภิปรายฯ แค่ปัจจัยแทรกซ้อน แต่ที่ใหญ่กว่า คือการจะเป็นรัฐบาลอย่างไรให้สำเร็จในการเลือกตั้งครั้งต่อไป นี่คือโจทย์ใหญ่กว่า มากกว่าเอาตัวรอดจากอีเวนท์อธิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะยังไงเสียงข้างมากก็ได้เปรียบ”

@ การอภิปรายฯรอบนี้สามารถ เปิดแผลนายกฯรัฐบาลพรรคร่วมให้เสียเครดิตได้หรือไม่

ดูที่พรรคฝ่ายค้านยื่นญัตติ ก็ชัดเจน ถ้าอยากทำให้รัฐบาลง่อนแง่น ขัดคอกันก็ต้องซ้ำแผลของพรรคร่วมที่แตกคอกัน ด้วยการอภิปรายฯรัฐมนตรีของ 2 พรรคนี้ เพื่อสร้างความระหองระแหง แต่ฝ่ายค้านมองเกมยาว แทนที่จะทำให้ 2 พรรคนั้นรู้สึกว่ามีศัตรูร่วมกัน ต้องจับมือกันเหมือนตอนจัดตั้งรัฐบาล และถึงอย่างไรรัฐบาลก็อยากอยู่ครบเทอม ก็จะอยู่กันแบบตบจูบกันไป ไม่ยอมยุบสภาเลือกตั้งใหม่แน่ เพราะฉะนั้นก็เลือกทุบที่หัว คือ ตัวนายกฯ ซึ่งเป็นว่าที่แคนดิเดตนายกฯ ของเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่สามารถสร้างความโดดเด่น เป็นที่นิยมได้ ซึ่งชื่อนายกเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนจะตัดสินใจในการเลือกตั้งสนามใหญ่ ขณะที่พรรคประชาชนจะเสนอใครซึ่งมีความสดใหม่ได้มากกว่า

ส่วนทีเด็ดในการอภิปรายคิดว่าไม่มีอะไรต่างจากตอนนี้ เพราะเวลาก็เหลือไม่เยอะ ตอนนี้แผลมีอยู่แล้วหลักๆ คือเรื่องชั้น 14 บทบาทนายทักษิณ กับนายกฯ นโยบายต่างๆ ที่เพื่อไทยทำไม่ได้อย่างที่คุยไว้ วุฒิภาวะนายกฯ การตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาที่รัฐบาลยังทำได้ไม่ดี ส่วนเรื่องใหม่คงไม่มีแทรกมาใน 2 อาทิตย์นี้จนถึงขั้นฝ่ายค้านจะหยิบมาน็อครัฐบาล

@ จะมีฟางเส้นสุดท้ายที่จะทำให้ พรรคภูมิใจไทย กับพรรคเพื่อไทย แตกหักหรือไม่

“อนุทิน ชาญวีรกุล” จะเป็นแคนดิเดตนายกฯ โดยไม่มีเพื่อไทยไม่ได้ จะแตกหักแล้วไปจับมือพรรคประชาชนตั้งรัฐบาลก็คงไม่ใช่ หรือจะยอมอยู่กับ “พรรคเพื่อไทย”  แบบไหนจะเป็นไปได้มากกว่ากัน นายอนุทินจะก้าวแกร่งได้เต็มที่ต่อเมื่อ ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ เปิดหน้าซัดกันเต็มที่เพราะไม่มีใครเป็นแกนนำ ทุกคนลงสนามเหมือนกันแล้ว  

เพราะฉะนั้น 2 ปีจากนี้รัฐบาลก็จะอยู่กันไปแบบนี้แต่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง “พรรคเพื่อไทย” หาจังหวะขอแลกเปลี่ยน อย่างช้าสุดปีสุดท้ายก่อนเข้าสู่โหมดหมดเลือกตั้ง ขอเอากระทรวงมหาดไทยมาคุม ส่วนพรรคภูมิใจไทยก็ต้องมีข้อแลกเปลี่ยนที่สมน้ำสมเนื้อ

ยังไม่นับเรื่อง สว.ที่แทรกเข้ามา ซึ่งกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นสีน้ำเงิน อยากจะขอส่วนแบ่งในสภาสูง ไม่ให้คุมฝ่ายเดียว เพราะมีความสำคัญในการเลือกคนไปเป็นองค์กรอิสระ การโหวตเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฯลฯ 

@ ระหว่างนี้จะมีตัวแปรหรืออุบัติเหตุทางการเมืองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะนโยบายสีเทาที่หลายฝ่ายไม่เห็นด้วย และมีการเปรียบเทียบไปถึงการบริหารยุคก่อน

“พรรคเพื่อไทย” กลับมาเป็นรัฐบาลรอบนี้ ไม่ใช่ “พรรคเพื่อไทย” ในอดีต แต่เป็น พรรคเพื่อไทยที่อำนาจน้อยลง ไม่ได้คุมเสียงข้างมากในสภาโดยพรรคเดียว และมีบทเรียนในอดีตการทำนโยบายที่คนบางกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มมีพลังทางสังคมที่ไม่เห็นด้วย เสี่ยงต่อการอยู่รอดของรัฐบาล ก็ต้องรอบคอบ และประเมินบนฐานข้อเท็จจริงว่าพลังต่อต้านนั้นมากพอหรือไม่ จะสามารถลุยต่อ หรือจะถอยอย่างไร เหมือนสมัยน.ส.ยิ่งลักษณ์ พรรคร่วมก็ดูรักกันดี เลยเดินหน้า ซึ่งไม่มีอยู่จริง จึงต้องระวัง เพราะเรื่องพวกนี้เหมือนน้ำผึ้งหยดเดียว เหมือนไม่มีอะไร แต่พอมีขึ้นมา ซึ่งมีบทเรียนแล้วว่าล้มทั้งกระดาน

               อย่างไรก็ตาม การทำคาสิโนต้องวางเกณฑ์การเข้าไปเล่น มีมาตรการไม่ให้เกิดผลกระทบทางสังคม ต้องคิดให้เยอะ ถ้าทำได้ในขอบเขตที่โอเค แต่ก็จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้แค่ประมาณหนึ่ง คือความตื่นเต้นในการเปิดใหม่ หรืออาศัยช่วงลงทุนในการขยับตัวเลข GDP ระยะสั้นก็พอได้ แต่นั่นก็เป็นเรื่องสมมติ และรัฐบาลมองว่าเหลืออีก 2 ปี ก็ต้องอาศัยนโยบายประเภทนี้กระตุ้นเฉพาะหน้า เห็นผลในปีนี้ นโยบายขายแอลกอฮอล์ก็เป็นการกระตุ้นเฉพาะหน้าเพื่อให้เห็นตัวเลขเร็วๆ เพราะจะไปรอการลงทุนที่ผลอีก 5 ปี ก็ไม่ทัน ก็ต้องอาศัยนโยบายพวกนี้ ส่วนระยะยาว กราฟถอยลง รวมถึงผลกระทบที่จะตามมาก็จะเกิดในช่วงรัฐบาลหน้า ซึ่งอาจจะเป็นตัวเขาเอง ถึงเวลานั้น ก็ค่อยไปแก้ใหม่ หาตัวกระตุ้นใหม่

อยากให้นักการเมืองขัดแย้งกันได้ เห็นต่างเป็นเรื่องปกติ แต่อย่าลืมผลประโยชน์ของบ้านเมือง ส่วนประชาชนก็ดูไปเรื่อยๆ แต่อย่าดูเฉยๆ ทดเอาไว้ในใจ อะไรที่แสดงออกได้ก็อย่านิ่งเฉย เหมือนเป็นกองเชียร์ถ้าถูกใจก็เชียร์ได้ ถ้าไม่ดีก็โห่ได้ .