สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย แนวโน้มทิศทางลดลงอย่างช้า ๆ บางจังหวัดก็มีสถานการณ์การติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น เป็นกลุ่มเป็นก้อน ทั้งตลาด โรงงาน งานบุญ งานบวช งานศพ ก็มี ดังนั้นมาตรการควบคุมโรคจึงสำคัญที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนเป็นเรื่องที่สำคัญ และช่วยได้มากในการลดอัตราการป่วยหนัก ลดการเสียชีวิตได้

โดยมีผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีการศึกษาผลการปฏิบัติการของวัคซีนหลังมีการฉีดวัคซีนในสนามจริง โดยใช้ข้อมูลห้องปฏิบัติการของสถาบันควบคุมป้องกันโรคเขตเมือง ในกลุ่มผู้รับบริการในพื้นที่กรุงเทพฯ และข้อมูลจากระบบหมอพร้อมเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเดือนที่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตาสูง พบว่าวัคซีนที่ฉีดใน กทม.มีการฉีด 2 สูตร คือแอสตราเซเนกา 2 เข็ม พบป้องกันการติดเชื้อ 54% อีกสูตรคือสูตรไขว้ซิโนแวคเข็ม 1 แอสตราฯ 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อได้ 70%  

เพราะฉะนั้นในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเปิดบ้าน เปิดเมือง เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ประชาชนที่มีสิทธิได้รับวัคซีนป้องกันโควิด ก็ให้ประสานรับการฉีดวัคซีนได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่สภาพอากาศเมืองไทย เดี๋ยวร้อน เดี่ยวฝน เดี๋ยวก็หนาว นอกจากโควิดที่กำลังระบาดอยู่นั้น ยังเป็นช่วงที่มีโรคไข้หวัดใหญ่ระบาดได้อีกด้วย หากป่วยจะแยกได้ยาก และหากติดเชื้อร่วมกัน (Co-infection) ทั้งเชื้อไข้หวัดใหญ่และเชื้อไวรัสโควิด-19 ก็จะทำให้มีอาการรุนแรง และยิ่งเพิ่มโอกาสการเสียชีวิตมากขึ้นอีก

ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ ได้จัดเสวนา “ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่…ในยุคโควิด-19” โดยมี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ และนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่’ประเทศไทย ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร หัวหน้าภาควิชาอายุรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผอ.สถานเสาวภา สภากาชาดไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ เห็นว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจ “คุณหมอขอบอก” จึงขอยกมาบอกต่อกัน

โดย รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี ระบุว่า ข้อมูลองค์การอนามัยโลก รายงานว่าในทุก ๆ ปี จะมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ 500-1,000 ล้านคนต่อปี และมีผู้ป่วยอาการรุนแรงประมาณ 3-5 ล้านคน มีเสียชีวิตอยู่ที่ 290,000-650,000 คนต่อปี ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

“คนไทยส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าไข้หวัดใหญ่เป็นโรคไม่รุนแรง จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญในการฉีดวัคซีน แต่ในความเป็นจริงแล้วการป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะใน 7 กลุ่มเสี่ยงต่อโรครุนแรง กลับกัน การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่นอกจากจะลดการป่วย ลดอัตราการเกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว ยังลดอัตราการนอนโรงพยาบาลและการเข้ารับการรักษาตัวในห้องฉุกเฉินได้ด้วย”

ขณะที่ช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้ ในสหรัฐอเมริกาได้พยายามฉีดปูพรมวัคซีนไข้หวัดใหญ่มากยิ่งขึ้น เพื่อตัดศัตรูออกไปด้านหนึ่ง ซึ่งในทางทฤษฎีแล้ววัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ได้ช่วยป้องกันโควิด-19 แต่เชื่อว่าน่าจะมีการกระตุ้นทางอ้อมของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จึงเป็นเหตุผลสำคัญให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ที่ได้ช่วยรักษาบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นทรัพยากรสำคัญในภาวะวิกฤติ อย่างน้อยก็ช่วยลดภาระจากการป่วยไข้หวัดใหญ่ลง เพื่อจะได้รับมือกับโควิด-19 อย่างเต็มกำลัง ขณะเดียวกัน ตัวผู้ป่วยเองก็ลดความสับสนและความวิตกกังวลจากอาการที่ใกล้เคียงกัน รวมถึงยังลดการเกิดโรคร่วมจากเชื้อไวรัส 2 ชนิดได้

นอกจากนี้ที่บราซิลมีการศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่อัตราความรุนแรงของโควิด-19 และอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในประเทศบราซิลประมาณ 50,000 รายที่รักษาในรพ.ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.-23 มิ.ย. 2021 เปรียบเทียบใน 2 กลุ่ม คือ 1. ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในระยะ 1-3 เดือนที่ผ่านมา และ 2. กลุ่มผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ พบว่าคนที่ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะช่วยลดอัตราการนอนในแผนกผู้ป่วยหนักได้ 7% ลดอัตราการใช้เครื่องช่วยหายใจ 17% และลดอัตราการเสียชีวิต 16%  

ขณะที่ “ศ.นพ.ธีระพงษ์” บอกว่า การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ของไทย ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 0-4 ปี รองลงมาคือเด็กอายุ 5-14 ปี ขณะที่ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี จึงแนะนำให้ผู้ปกครองควรพาบุตรหลานไปรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อร่วมกัน เช่นเดียวกับกลุ่มผู้สูงอายุ ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ โรคไตวาย โรคตับ ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันก็มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี และควรฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วยเช่นกัน

ขณะนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ขยายระยะเวลาการเปิด ให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ชนิด 3 สายพันธุ์ สำหรับ 7 กลุ่มเสี่ยง รวมทั้งเพิ่มเติมบุคลากรหรือผู้ปฏิบัติงานที่ให้บริการดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 และกลุ่มที่อยู่ในชุมชนแออัดและโรงเรียนในทุกช่วงอายุโดยไม่มีค่าใช้จ่าย จนถึงวันที่ 31 .ค. 2564

และจากข้อมูลล่าสุด คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ได้พิจารณา และอนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ และวัคซีนป้องกันโรคโควิด–19 พร้อมกันได้แล้ว จากเดิมที่มีคำแนะนำว่าควรฉีดวัคซีน 2 ชนิดนี้ห่างกัน 2 สัปดาห์.

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง