เรียนคุณหมอ ดร.โอ สุขุมวิท 51 ที่นับถือ
ผมมีปัญหาทางเพศอยากจะเรียนปรึกษาด้วยคือ ขณะนี้อายุ 63 ปี มีสุขภาพแข็งแรงดี น้ำหนัก 60 กิโลกรัม ไม่สูบบุหรี่และไม่ดื่มเหล้า โรคประจำตัวอย่างเช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือแม้แต่คอเลสเตอรอลในเลือดสูงก็ไม่มี ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ ก่อนหน้านี้สามารถร่วมเพศกับภรรยาได้ตามปกติดี อวัยวะเพศก็แข็งตัวดี แต่หลังจากปี 64 ที่ผ่านมา พบว่าองคชาตไม่แข็งตัวเหมือนเดิม จนไม่สามารถร่วมเพศกับภรรยาได้ ซึ่งทำให้เครียดมาก แต่สังเกตเห็นว่าน้ำอสุจิของออกมาน้อยมาก จึงสงสัยว่าการที่มีน้ำอสุจิน้อยมีส่วนทำให้องคชาตไม่แข็งตัวใช่หรือไม่ ไม่ทราบว่าจะรักษา หรือต้องกินยาอะไรเพื่อให้องคชาตแข็งตัวได้เหมือนเดิม
ด้วยความเคารพอย่างสูง
สมศักดิ์
ตอบ สมศักดิ์
ปัญหาของชายวัย 63 ปี คือมีการแข็งตัวของอวัยวะเพศไม่เต็มที่จนไม่สามารถร่วมเพศกับภรรยาได้ และยังพบปัญหาของน้ำอสุจิออกมาน้อยลง การมีปริมาณน้ำอสุจิที่ลดน้อยลงถือว่าเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับชายสูงอายุ เพราะการทำงานของต่อมลูกหมากและถุงผลิตน้ำหล่อเลี้ยงอสุจิเริ่มเสื่อมประสิทธิภาพ จึงทำให้การผลิตน้ำอสุจิได้น้อยลง จำนวนเกณฑ์เฉลี่ยของปริมาณน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาในช่วงอายุแต่ละวัยดังนี้ อายุ 20-30 ปี หลั่งน้ำอสุจิปริมาณเฉลี่ย 4 ซีซี อายุ 30-50 ปี หลั่งน้ำอสุจิปริมาณเฉลี่ย 3-5 ซีซี อายุ 60-70 ปี หลั่งน้ำอสุจิปริมาณ 2 ซีซี และเมื่ออายุมากกว่า 70 ปี จะหลั่งน้ำอสุจิปริมาณเฉลี่ย 1 ซีซี อาการดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนแปลงตามอายุขัยยิ่งอายุมากขึ้นปริมาณน้ำอสุจิก็ยิ่งน้อยลง
สำหรับอาการการไม่แข็งตัวขององคชาตนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน ได้แก่ การมีอายุมากขึ้น ร่างกายมีการผลิตฮอร์โมนลดลงและเกิดความเสื่อมของร่างกายตามธรรมชาติ เป็นโรคเรื้อรังมานาน เช่น โรคไต โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดัน โรคต่อมลูกหมาก เป็นต้น อาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัวเต็มที่นั้นสามารถป้องกัน และแก้ไขได้ด้วยการกำจัดปัจจัยเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด งดเหล้า บุหรี่และสารเสพติด รับประทานอาหารที่มีสัดส่วนเหมาะกับวัย ทำให้ร่างกายแข็งแรงฟิตอยู่เสมอด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ และควรกินอาหารให้ครบห้าหมู่ หากปฏิบัติแล้วอาการไม่ดีขึ้นก็ควรรับการฟื้นฟูกับแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายหาสาเหตุที่แท้จริง ยิ่งในชายสูงวัยแล้วมักจะมีโรคแอบแฝงซ่อนอยู่ ที่ยังไม่ได้แสดงอาการออกมาให้เห็น และที่สำคัญตรวจหาระดับฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนที่ลดลง พร้อมกับต่อมลูกหมากควบคู่กันด้วย จะได้ทำการแก้ไขที่ถูกต้องและเกิดประสิทธิภาพ อย่าได้นิ่งนอนใจ
ปัจจุบันมีวิธีการรักษาอาการอีดีหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นยากินกลุ่มยับยั้งเอนไซม์การอ่อนตัว การใช้เทคนิคบริหารกล้ามเนื้อเพศ การใช้วีธีให้เส้นเลือดงอกใหม่ เป็นต้น อาการอีดีถือเป็นอาการป่วยอย่างหนึ่งที่ทำให้ชีวิตขาดความสุข ถึงจะไม่ร้ายแรง แต่ก็ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานได้ไม่น้อย จึงไม่ควรปล่อยให้ชีวิตต้องทุกข์ ควรหาวิธีรักษาเสียแต่เนิ่น ๆ ยิ่งเป็นผลดี สมัยนี้ชายอายุ 80-90 เริ่มปรับปรุงสุขภาพกายจนสุขภาพทางเพศกลับมาแข็งแรงได้ผลเกิน 70% แล้ว ถ้าตั้งใจฟื้นฟูสุขภาพทางเพศก็จะกลับมา อย่าไปหวังกินยาอย่างเดียวจะผิดหวัง.
………………………………………………
ดร.โอ สุขุมวิท51