ฝุ่นตลบในสมรภูมิการเมือง มองมุมไหนก็รู้ว่าเป็นศึก “แดง-น้ำเงิน” โดยมี สมาชิกวุฒิสภา “สว.” เป็นหมากตัวสำคัญในกระดาน วันนี้อยู่ในชั้นการสอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ผลยังไม่ออกว่า “ใครเจ็บหนัก”แต่เขย่าการเมืองได้หลายริกเตอร์ “คอลัมน์ตรวจการบ้าน”จึงต้องมาสนทนากับ อดีตกกต. “สมชัย ศรีสุทธิยากร” มาวิเคราะห์ประเด็นการร้องฮั้วสว.ต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร
โดย “อ.สมชัย” เปิดประเด็นว่า การร้องเรียนประเด็นฮั้ว สว. มีการลากพรรคการเมือง นักการเมืองเข้ามาเอี่ยว เป็นเกมการเมืองชัดเจน เนื่องจากสว.มีบทบาทที่สำคัญ ทั้งการกลั่นกรองกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และอำนาจให้ความเห็นชอบแต่งตั้งคนที่จะมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
ดังนั้นหากสว.เป็นอิสระดังเจตนาตั้งแต่เริ่มต้น ว่าเป็นผู้ที่มาจากอาชีพต่างๆ ไม่อยู่ภายใต้การกำกับของบุคคล หรือฝ่ายการเมือง การทำหน้าที่เหล่านี้ก็จะเป็นไปโดยธรรมชาติ ไม่เป็นที่หวาดระแวง ว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายได้
แต่ตอนนี้พฤติกรรมของสว. ที่ผ่านมามีการลงมติเป็นกลุ่มเป็นก้อน ดูผิดปกติเป็นที่สังเกตว่า เหมือนมีการส่งสัญญาณจากฝ่ายการเมือง หรืออยู่ภายใต้การครอบงำของฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะสว.สีน้ำเงิน ซึ่งเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองบางพรรค ทำให้สังคมรู้สึกไม่ไว้วางใจ และพรรครัฐบาลแม้จะอยู่ฝ่ายเดียวกันก็รู้สึกไม่ไว้วางใจ เหมือนเอาประเด็นสว.มาต่อรองทางการเมืองทุกครั้ง เลยเกิดความจำเป็นว่าจะต้องทำให้สภาพดังกล่าวหมดไป
“ก็เป็นสิ่งที่เพื่อไทยรู้สึกอึดอัดใจ ว่า นโยบายต่างๆ ของรัฐบาลถูกคัดค้านในชั้นสว. ทำให้ล่าช้า ไม่สามารถดำเนินการได้ ลึกๆ อาจจะรู้สึกว่าจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะหลักฐานต่างๆ ก็มีพอสมควร จึงมีการร้องเรียนแจ้งข้อกล่าวหา มีการไต่สวน และจะนำไปสู่การให้ใบแดงกับสว.จำนวนหนึ่ง เพื่อเลื่อนรายชื่อสว.สำรองขึ้นมา”
คาดว่า ณ วันนี้ เวลานี้โดยพฤติกรรมการเดินหน้า ในรูปคดีอย่างนี้จะมีใบแดงให้กับสว.ผมคิดว่าไม่ต่ำกว่า 20 คน ที่เป็นตัวการหลัก
@ มีการเดินเกมยื่นศาลรัฐธรรมนูญขอให้สั่งสว.หยุดปฏิบัติหน้าที่จะเป็นไปได้หรือไม่ จะเกิดเดตล็อคทางการเมืองหรือไม่
แม้จะมีสว.จำนวนหนึ่งเข้าชื่อส่งผ่านประธานวุฒิสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่คิดว่า เรื่องนี้ยังไกลเกินตัวไป เพราะในขั้นของกกต.กับดีเอสไอ ยังเป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหา และถึงกกต.บอกว่าผิด แต่ก็ต้องส่งไปที่ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยอีก
@ หากตัดสินว่า สว.มีความผิดจะทำให้การเลือกสว.เป็นโมฆะหรือไม่
ไม่ว่ากกต.จะมีใบแดงกี่ใบ ศาลฎีกาจะวินิจฉัยตรงกับกกต. โดยให้สว.พ้นสภาพไปจำนวนเท่าใด ก็ไม่ทำให้การเลือกสว.เป็นโมฆะ เพราะกฎหมายออกแบบไว้ว่า ถ้าสว. พ้นจากตำแหน่ง ก็ให้เลื่อน สว.ลำดับถัดไปขึ้นมาแทน ซึ่งเรามี 20 กลุ่มอาชีพ แต่ละกลุ่มมีสำรอง 5 คน รวมเป็น 100 คน
กรณีเลวร้ายสุด เช่น สว.โดนใบแดง 140 คน ก็จะมีสำรองขึ้นมาแทน 100 คน จะเหลือ สว.อยู่ 160 คน สามารถทำหน้าที่ต่อได้ ถ้าจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้มีอยู่ 2 อย่าง ก็คือจำนวนเหลือไม่ถึงครึ่ง กับเหลือเวลาปฏิบัติหน้าที่เกินกว่า 1 ปี สว.ชุดนี้ก็จะพ้นสภาพไป แล้วมีการเลือกสว.ใหม่ทั้งชุด ซึ่งการจะเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อดังกล่าวนี้เป็นไปได้ยากมาก ไม่มีทางที่สว.จะต่ำกว่า 100 คน
@ การตั้งคณะกรรมการที่มีดีเอสไอร่วมด้วยเป็นเรื่องปกติหรือไม่
กกต.มีอำนาจในการที่จะขอให้ส่วนราชการต่างๆ เข้ามาร่วมสืบสวนสอบสวนฯ ได้ ซึ่งถ้ามองในทางบวกการก็ให้ดีเอสไอซึ่งมีความสามารถในการสืบสวนเชิงลึกมาช่วย ถือว่ากกต.ทำถูกต้องแล้ว ส่วนที่ดีเอสไอ ตั้งชุดตรวจสอบการฟอกเงิน อั้งยี่ ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายของดีเอสไอ นี่ก็สามารถทำคู่ขนานกันได้ ซึ่งตนมองว่างานของกกต.จะเสร็จก่อน เพราะกำหนดกรอบว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งเป็นปฏิทินการทำงานภายในของกกต. แต่ไม่ใช่กฎหมาย กฎหมายไม่ได้กำหนดเวลาไว้
ดังนั้น ก็อาจจะเป็นไปได้ตามที่นายแสวง บุญมี พูดว่าน่าจะเสนอเรื่องต่อกกต.ในเดือนก.ค. แล้วกกต.พิจารณาอีก 1 เดือน จากนั้นก็ส่งศาลฎีกา ขั้นนี้ควรจะเร็วเพราะมีแค่การเขียนคำวินิจฉัยและส่งศาล ยกตัวอย่างคดีพญ.เกศกมล เปลี่ยนสมัย สว.ที่ กกต.มีมติให้ใบแดงแล้ว แต่ขอเขียนสำนวน 2 เดือน นี่แค่คนเดียว ถ้าคนหลักสิบ หลักร้อยคน กกต.จะใช้เวลาเขียนนานแค่ไหน แต่ถ้าถึงศาลฎีกาแล้ว คิดว่าน่าจะเร็ว อาจประมาณเดือนธ.ค. ที่จะเห็นสว.จำนวนหนึ่งถูกศาลตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง
@ นี่ถือเป็นการร้องเรียนที่ใหญ่ที่สุด และการที่ดีเอสไอมาสอบด้วยเคยมีมาก่อนหรือไม่
เป็นครั้งแรกเพราะในการเลือกตั้งสส.ก็จะเป็นความผิดเฉพาะตัว ไม่ถึงขนาดพรรคการเมือง หากเป็นคดีการเมืองมันก็เคยมีแต่เป็นคดีเรื่องการล้มล้างการปกครอง แต่กระบวนการอั้งยี่ การใช้เงินจำนวนมาก เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจรัฐไม่เคยมีมาก่อน รวมถึงการที่ดีเอสไอ และกกต.มีการสอบสวนคู่ขนานแบบนี้ก็ไม่เคยมีมาก่อน ส่วนจะนำไปสู่การยุบพรรคได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหลักฐาน
@ แนวทางที่ควรจะเป็นเพื่อให้เกิดความยุติธรรมที่สุด
การดำเนินการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง ต้องทำอย่างตรงไปตรงมา เอาผิดผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง เพื่อให้เกิดความถูกต้องและหลาบจำ ซึ่งในขั้นของเจ้าหน้าที่สำนักงานนั้นทำถูกต้องแล้ว
“แต่ยังเป็นห่วงชั้นคณะกรรมการกกต. 7 คน จะมีอะไรไปชักจูงโน้มน้าว จูงใจให้ท่านตัดสินใจไปในทิศทาง ซึ่งอาจไม่จริงจังหรือเปล่า ยังต้องดูว่าจะไว้วางใจได้หรือไม่ เพราะเราก็ได้ข่าวคราวเกี่ยวกับกรรมการบางคน มีพฤติกรรมบางอย่าง ที่สังคมไม่ค่อยไว้วางใจแล้ว”
กกต.เป็นยามรักษาการกฎหมายสำคัญ ทั้งกฎหมายการได้มาซึ่งสส. และสว. ซึ่งมีปัญหามาก อย่างการเลือกตั้งสส. ที่เบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ กับสส.เขต คนละเบอร์ทำให้เกิดความยุ่งยากกับทุกฝ่ายก็ยังไม่ยอมแก้ไข
หรือการได้มาซึ่งสว. ที่ให้เลือกกันเองนั้น ก็เห็นปัญหามาก ตั้งแต่การรับสมัคร กลุ่มอาชีพ การฮั้ว กระบวนการเข้าไปแทรกแซงของฝ่ายการเมือง การปล่อยให้ดำเนินการแบบนี้ต่อไป ถึงวันนี้จะเอาคนฮั้วออกไปได้ แต่คราวหน้าถ้ายังเป็นกติกาแบบนี้ เขาก็ฮั้วให้แนบเนียนขึ้น มีกระบวนการที่ทำให้จับไม่ได้ไล่ไม่ทันมากขึ้น ดังนั้นเป็นหน้าที่ของกกต.ที่จะต้องเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับวิธีการได้มาซึ่งสว.
@ ประชาชนที่เฝ้าดู จะทำอะไรได้บ้าง
ต้องดูอย่าให้ใครเป็นมวยล้มต้มคนดู อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้าอย่างจริงจัง ประชาชนก็ต้องเฝ้าดู ส่งเสียง ให้ความเห็น ให้ข้อวิจารณ์ รวมถึงให้กำลังใจฝ่ายที่ทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ตรงไปตรงมาด้วย.