แม้ไต้หวันขึ้นชื่อในเรื่องการเมืองที่ไม่เป็นระเบียบ แต่นักวิเคราะห์หลายคนกล่าวว่า ความผิดปกติของการดำเนินงานในปัจจุบัน กำลังรบกวนสมาชิกสภานิติบัญญัติ และกัดกร่อนความเชื่อมั่นของประชาชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ต่อรัฐบาลปักกิ่ง

ไล่ ซึ่งเป็นผู้ปกป้องอธิปไตยของไต้หวันอย่างหนักแน่น และเป็นที่เกลียดชังของรัฐบาลปักกิ่ง ได้รับการเลือกตั้งเมื่อเดือน ม.ค. 2567 ด้วยคะแนนเสียง 40% แต่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) กลับเป็นเสียงข้างน้อยในสภานิติบัญญัติไต้หวัน

ขณะที่พรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นแกนนำฝ่ายค้าน และมีความสัมพันธ์ฉันมิตรกับจีน ร่วมมือกับพรรคประชาชนไต้หวัน (ทีพีพี) เพื่อคัดค้านนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล รวมถึงการลดงบประมาณทั่วไป

ความตึงเครียดทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นการทะเลาะวิวาทภายในสภา อีกทั้งผู้สนับสนุนหลายพันคนของพรรคดีพีพี และพรรคฝ่ายค้าน ต่างจัดการประท้วงแข่งกันบนท้องถนน

อนึ่ง พรรคก๊กมินตั๋งเรียกไล่ว่าเป็น “เผด็จการ” และกล่าวหาว่า เขาผลักดันให้ไต้หวันเข้าใกล้การทำสงครามกับจีน ส่วนพรรคดีพีพีก็ตอบโต้ว่า พรรคก๊กมินตั๋งเป็นเครื่องมือของรัฐบาลปักกิ่ง และกำลังบ่อนทำลายความมั่นคงของไต้หวัน

นางบอนนี กลาเซอร์ ผู้สันทัดกรณีด้านกิจการไต้หวัน-จีน จากกองทุนมาร์แชลล์เยอรมันแห่งสหรัฐ (จีเอ็มเอฟยูเอส) กล่าวว่า บรรยากาศทางการเมืองของไต้หวัน “เป็นพิษ” เนื่องจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการคิดหาวิธีลดเสียงสนับสนุน ตลอดจนทำลายชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

ผลการสำรวจของมูลนิธิความคิดเห็นสาธารณะไต้หวัน เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เผยให้เห็นว่า คะแนนความนิยมของไล่ ลดลงจาก 58% ในเกือบ 1 ปีก่อน เหลือ 45.9% และคะแนนความไม่นิยมเพิ่มขึ้นเป็น 45.7% ซึ่งสูงสุดนับตั้งแต่เขารับตำแหน่ง โดยกลุ่มสำรวจความคิดเห็นเชื่อมโยงตัวเลขข้างต้นกับความสามารถของรัฐบาลไล่ ในการจัดการกับภาษีสหรัฐ และแคมเปญถอดถอนที่ไม่เคยมีมาก่อนของพรรคดีพีพี ที่มุ่งเป้าโจมตีฝ่านค้าน

นายเดวิด แซกส์ นักวิชาการด้านเอเชียศึกษา จากสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (ซีเอฟอาร์) กล่าวว่า แม้ไต้หวันเกิดความวุ่นวาย แต่ไล่ก็ประสบความสำเร็จภายในประเทศมาบ้าง นับตั้งแต่เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดี เช่น การสร้างความตระหนักรู้ให้กับสาธารณชน เกี่ยวกับภัยคุกคามจากจีน และคำมั่นที่จะเพิ่มงบประมาณกลาโหมของไต้หวัน เป็นมากกว่า 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)

“อย่างไรก็ตาม กิจการต่างประเทศของไต้หวัน เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ภายใต้นโยบายของรัฐบาลวอชิงตันของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ที่มีต่อไต้หวัน จีน และภูมิภาค มิหนำซ้ำ ทางการจีนได้ตัดสินใจแล้วว่า ไล่ไม่ใช่คนที่พวกเขาต้องการร่วมมือด้วย” แซกส์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่า ความบาดหมางระหว่างพรรคดีพีพี กับพรรคก๊กมินตั๋ง กำลังกัดกร่อนความเชื่อมั่นของประชาชน ที่มีต่อสถาบันทางการเมืองของไต้หวัน และสนับสนุนมุมมองของรัฐบาลปักกิ่งที่ว่า ชาวไต้หวันจะมีชีวิตที่ดีกว่า หากเป็นส่วนหนึ่งของจีน.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : AFP