เข้าสู่ขั้นตอนประกาศร่างรายละเอียดขอบเขตงาน(TOR) จ้างก่อสร้างแล้ว สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.) ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.8 กม. วงเงิน 6,064 ,970,000 บาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)

นับเป็นรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายแรกจากทั้งหมด 6 เส้นทาง ของสายสีแดงโดย 2 เส้นทางแรกสายนครวิถี ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และสายธานีรัถยาช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่เปิดบริการมาแล้ว 4 ปี โดยเริ่มให้บริการไม่เป็นทางการ(ฟรี) ตั้งแต่วันที่ 2 ส.ค. 2564 และเปิดเป็นทางการเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2564

รฟท. วางไทม์ไลน์ ประกวดราคา(ประมูล) ก่อสร้างโครงการช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต เพื่อหาผู้รับจ้างภายในเดือน พ.ค.-มิ.ย.2568 จะใช้เวลาในขั้นตอนนี้ 6-7 เดือน ได้ผู้ชนะประกวดราคา มีเป้าหมายให้เริ่มงานก่อสร้างประมาณต้นปี 2569 ใช้เวลาก่อสร้าง 36 เดือน หรือ 3 ปี และเปิดบริการปลายปี 2571 บริษัทรถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ผู้ให้บริการในปัจจุบัน จะเป็นผู้เดินรถต่อเนื่องจากเส้นทางสายหลักช่วงบางซื่อ-รังสิต

งานเวนคืนที่ดินยังอยู่ในขั้นตอนขอออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนฯ คาดว่าจะเริ่มเวนคืนฯ ได้ปลายปี 2568 ใช้พื้นที่เวนคืนไม่มาก ประมาณ 14 ไร่ เพื่อก่อสร้าง 4 สถานี, ทางเข้า-ออกสถานี และลานจอดรถ แบ่งเป็นสถานีคลองหนึ่ง พื้นที่ 2 ไร่ 1 งาน 33.51 ตารางวา, สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ พื้นที่ 5 ไร่ 3 งาน 63.11 ตารางวา,สถานีเชียงราก พื้นที่ 1 งาน 79.25 ตารางวา และสถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต พื้นที่ 5 ไร่ 2 งาน 60.02 ตารางวา
ชื่อเป็นทางการโครงการระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม.วงเงินโครงการรวม 6,473.98 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) 166.79 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) 20.04 ล้านบาท, ค่างานโยธาและระบบราง 4,060.80 ล้านบาท, ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล 2,004.17 ล้านบาท, ค่าเวนคืนที่ดิน 209.79 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืนที่ดิน 5 ล้านบาท เมื่อเปิดบริการประเมินผู้โดยสารไว้ประมาณ 2.6 หมื่นคน-เที่ยวต่อวัน

แนวเส้นทางเชื่อมช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่ กม. 32+350 – 41+192 เป็นทางรถไฟระดับดินสร้างใหม่ 2 ทาง อยู่ด้านขวาของทางรถไฟปัจจุบัน ประกอบด้วย4สถานี 1.สถานีคลองหนึ่ง, 2.สถานีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ, 3.สถานีเชียงราก และ4.สถานีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ทางรถไฟขนาด 1 เมตร ทุกสถานีอยู่ที่ระดับพื้นดิน มี 1 ชานชาลาอยู่ตรงกลาง เข้าสู่ชานชาลาด้วยสะพานลอย มีลิฟท์ และบันไดเลื่อนให้บริการ สำหรับรถไฟทางไกลจะวิ่งผ่านโดยไม่จอด

ตามแผนแม่บทรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯและปริมณฑลฉบับที่ 2 หรือ M-Map 2 มีเส้นทางรถไฟฟ้าในกลุ่ม A รวม 10 เส้นทาง เป็นกลุ่ม A1 และ A2 โดยกลุ่ม A1 เป็นเส้นทางที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและพร้อมดำเนินการทันที 4 เส้นทาง เป็นสายสีแดง 3 เส้นทาง 1.ช่วงรังสิต-มธ. 2.ช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670 ล้านบาท 3.ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท และ4. รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล แคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) 22.10 กม. วงเงิน 41,721 ล้านบาท
สถานะของอีก 3 เส้นทางช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา ขณะนี้กระทรวงคมนาคม ได้เสนอโครงการไปสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) เพื่อรอบรรจุเข้าเป็นวาระของการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) แล้ว
รถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงศิริราช-ตลิ่งชัน-ศาลายา มัดรวม2เส้นทางช่วงตลิ่งชัน-ศาลายาและช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช เข้าด้วยกัน เพื่อจัดซื้อจัดจ้างเป็นสัญญาเดียว ไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนที่สถานีตลิ่งชัน ตลอดจนงานระบบต่างๆ ช่วยลดวงเงินโครงการฯ ได้ 110.06 ล้านบาท มาอยู่ที่ 15,176.21 ล้านบาท จากเดิม 2 โครงการ 15,286.27 ล้านบาท มีสถานีเพิ่ม 3 สถานี(สถานีสะพานพระราม 6, สถานีบางกรวย-การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และสถานีบ้านฉิมพลี) เป็นทางระดับดิน 13.80 กม. และทางยกระดับ 6.70 กม. ความกว้างทางรถไฟขนาด 1 เมตร

สถานี 9 จุด (เพิ่มจากเดิมที่มี 6 สถานี) ได้แก่ สถานีตลาดนํ้าตลิ่งชัน, บางขุนนนท์, ศิริราช, สะพานพระราม 6, บางกรวย-กฟผ.,บ้านฉิมพลี , กาญจนาภิเษก, ศาลาธรรมสพน์ และศาลายา ใช้ที่ดินของรฟท.ก่อสร้างทั้งหมด ไม่มีเวนคืนที่ดิน คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร 1.9 หมื่นคน-เที่ยวต่อวัน

สำหรับเส้นทางสุดท้ายช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสายสีแดงเข้ม ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. บอร์ดรฟท.เห็นชอบปรับเพิ่มวงเงินเป็น 44,573.85 ล้านบาท โดยปรับขึ้น 416.09 ล้านบาท จากที่ครม. อนุมัติกรอบไว้เมื่อวันที่26 ก.ค. 2559 ที่ 44,157.76 ล้านบาท เนื่องจากปรับตำแหน่งสถานีราชวิถีไปอยู่ใกล้รพ.รามาธิบดี และสร้างทางเดินลอยฟ้า(สกายวอล์ก) จากสถานีเชื่อมอาคารรพ.อำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ ยังรอรฟท.สรุปเรื่องเสนอกระทรวงคมนาคมนำเสนอครม.พิจารณา

อัปเดตรถไฟฟ้าสายสีแดง 6 เส้นทางที่ยุบรวมเหลือ 5 เส้นทาง เปิดบริการแล้ว 2 เส้นทาง กำลังจะตอกเข็มสร้าง 1 เส้นทาง อีก 1 เส้นทาง ลุ้นครม.ไฟเขียว และสายสุดท้ายกำลังสรุปเรื่องให้กระทรวงคมนาคม นำเสนอครม.
นอกจากนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทแล้ว….มาลุ้นกันรัฐบาลนี้จะก่อสร้างรถไฟฟ้าได้กี่สาย
……………………………………………….
นายสปีด
***ห้ามคัดลอกเนื้อหาและภาพในบทความนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต