เป็นคนไทยยุคนี้!! ดูจะเหมือนอยู่ยากขึ้นทุกวี่ทุกวัน เพราะสารพัดปัญหาถาโถมเข้ามาไม่หยุดหย่อน ทำให้การใช้ชีวิตต้องผจญความลำบากแทบทุกด้าน

ทุกวันนี้…คงทำได้แค่ต้องช่วยเหลือตัวเอง ตามคำพระที่ว่า “อัตตาหิ อัตโนนาโถ” หรือ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนนั่นแหล่ะ!!

เพราะไม่เพียงแค่ปัญหา “ปากท้อง” ที่ต้องบอบช้ำอยู่ในเวลานี้…ยังมีปัญหาเรื่อง “สิทธิ” ที่ควรได้รับแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ต้องถูกเอาเปรียบเข้าให้อีก

ดูอย่างกรณีประกัน “เจอจ่ายจบ” ที่ทุกวันนี้ยังไม่จบไม่สิ้น จะด้วยความผิดพลาดของ “คนขาย” หรือจะโทษปัญหา “โควิด” ก็ตาม แต่!! ก็ไม่ได้หมายความว่า “ผู้บริโภค” ต้องถูกริดรอดสิทธิไปด้วย

ในเมื่อคนขายเห็นช่องทางทำรายได้…ช่องทางทำกำไร แต่เมื่อสถานการณ์ผิดพลาด การระบาดของโควิดยังไม่จบไม่สิ้นทำให้ “ทุนหายกำไรหด”

สุดท้าย!! กลับมาโยนภาระให้กับ “ผู้ซื้อ” ถามว่ามันใช่เรื่องหรือไม่? ตอบเลยตรงนี้!! “ไม่ใช่” ที่สำคัญ ผู้บริโภคไม่ได้มีหน้าที่ต้องมาแบกรับภาระความเสี่ยงให้กับคนขาย

ทั้งหมด…คงต้องขึ้นอยู่กับผู้กำกับดูแล ว่าจะสามารถไกล่เกลี่ยและ “จบปัญหา” เพื่อไม่ให้ “ผู้บริโภค” ต้องมานั่งรับกรรม!! ทั้งที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อ นี้อย่างไร?

อย่างไรก็ตามในแง่ของ “ผู้บริโภค” เอง ก่อนตัดสินใจ “จ่ายเงิน” เพื่อแลกกับอะไรมาก็ตาม ก็ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ว่า “คุ้ม” หรือไม่

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “ผลิตภัณฑ์ประกัน” ที่แข่งขันกันออกมาจนคำนวณกันแทบไม่ถูกว่าสุดท้ายแล้ว “ผลประโยชน์” คุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือคปภ. โดย “สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาฯคปภ. ได้แจ้งเตือนไว้ว่า ก่อน… “เลือกซื้อประกัน” ต้องดูให้ชัดว่า “เงื่อนไข” ของการรับประกันภัยและข้อจำกัดนั้นเป็นอย่างไร เพราะกรมธรรม์แต่ละแบบแต่ละประเภท มีเงื่อนไขและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน

นอกจากนี้ต้องดูเรื่องของ “ผลประโยชน์” ของความคุ้มครอง เพราะเงื่อนไขความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยแต่ละแบบจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับแผนประกันภัยที่เสนอขาย รวมถึง “เบี้ยประกันภัย” และ “งวดการชำระ” นั้นสามารถรับได้มากน้อยเพียงใด

จากนั้น…ต้องมาดูเรื่องของ ช่องทางขาย บริการ ติดต่อ ว่า สะดวก มากน้อยอย่างไร เรารับได้หรือเปล่า สุดท้าย!! ที่ต้องคำนึงถึงไม่น้อยไปกว่าใคร ก็คือ เรื่องของการบริการหลังการขาย และเงื่อนไขเสริมอื่น ๆ

ไม่เพียงเท่านี้ ในการเลือกซื้อ “ประกัน” ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยสารพัด เพื่อให้จัดการกับความเสี่ยงของตัวเองและครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ทั้งเรื่องของความคุ้มครอง ซึ่งก่อนอื่นต้องสำรวจตัวเองก่อนว่ามีการทำประกันภัยอะไร ชนิดใด หรือมีสิทธิมีสวัสดิการอะไรอยู่แล้วบ้าง แล้วพิจารณาว่าความคุ้มครอง สวัสดิการที่มีอยู่เพียงพอกับความเสี่ยงของตัวเองและครอบครัวหรือยัง ไม่ว่าจะเป็นของตัวเองหรือของภาครัฐที่มีให้

ขณะเดียวกัน…ต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระเบี้ยประกัน ว่ามีความสามารถอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา “ส่งประกัน” ไม่ไหว เพราะปัจจุบันเบี้ยประกันแต่ละแผนนั้น แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับความคุ้มครอง ขึ้นอยู่กับผลประโยชน์

ที่สำคัญ!! ในการแถลงข้อความจริงในขั้นตอนขอเอาประกันภัย ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่บริษัทใช้ในการพิจารณารับประกันภัยและคำนวณเบี้ยประกันภัยให้เหมาะสมกับความเสี่ยงภัย และข้อความจริงที่ปรากฏตามใบคำขอเอาประกันภัยสำคัญมาก

เมื่อเกิดเหตุที่ไม่คาดคิดขึ้น บริษัทประกันไม่มีข้อโต้แย้งในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน!!

เรื่องนี้…ต้องถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับประกันโควิด ที่ใครก็ไม่คาดคิดว่าปัญหาการระบาดของโควิดในช่วงที่ผ่านมานั้นจะร้ายแรง และยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่า เมื่อเปิดประเทศแล้ว ปัญหาการระบาดจะกลับมาหนักหนาสาหัสจนกลายเป็น “เวฟ 5หรือไม่

แต่…การปฏิเสธความรับผิดชอบก็ใช่ว่าจะเลือกทำตามอำเภอใจได้ แม้มีทางเลือกให้ก็ตาม แต่ทางเลือกก็ต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภคเช่นกัน!!

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”