หลาย ๆ คนคิดว่า “อ้วน” เป็นแค่เรื่องน้ำหนักตัวมาก ถ้าไม่เป็นโรคก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ความจริงแล้ว “ความอ้วน” จัดเป็นโรคชนิดหนึ่ง ที่ส่งผลต่อทุกระบบในร่างกาย โดย นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย  ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง บอกว่า ผลกระทบของโรคอ้วนสามารถแยกเป็น 9 หัวข้อหลัก ได้แก่ 1. ระบบหัวใจ และหลอดเลือด โดยน้ำหนักตัวที่มากเกินไป จะเพิ่มภาระการทำงานของหัวใจ ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง และเกิดการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดเลือด ทำให้เกิดความเสียหายต่อหลอดเลือด จนหลอดเลือดแดงแข็งตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคสมองขาดเลือดจนเป็นอัมพาต เส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจขาดเลือด และ หัวใจล้มเหลว

2. ระบบทางเดินหายใจ สะท้อนผ่านปัญหาการนอนกรน ซึ่งในผู้ป่วยโรคอ้วนกว่า 90% จะมีสภาวะนอนกรน เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะการหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ ทำให้เราขาดออกซิเจนเรื้อรัง ไม่เพียงแต่ทำให้เราพักผ่อนไม่เพียงพอแล้ว ยังทำให้มีความจำสั้นลง ความดันในเลือดสูง ตลอดจนหัวใจล้มเหลวตามมาได้

3.ระบบต่อมไร้ท่อ หรือ ฮอร์โมนต่าง ๆ โดยผู้ป่วยโรคอ้วนมักตามมาด้วย โรคเบาหวานชนิดที่สอง และ สภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลที่มีอยู่ในเส้นเลือดได้ และเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ตามมา ไม่ว่าจะเป็น แผลเรื้อรังที่ขา, เบาหวานขึ้นตา, เบาหวานลงไต

4. ระบบทางเดินน้ำดี ตับ ตับอ่อน ทั้งนี้เมื่อ ถุงน้ำดี เกิดความผิดปกติ ทำให้เกิดโรคไขมันเกาะตับ และทำให้เกิดการอักเสบตลอดเวลา จนทำให้เกิดสภาวะตับแข็งตามมา และรวมถึงยังทำให้เกิดโรคนิ่วในถุงน้ำดี ซึ่งสามารถพบได้มากในผู้ป่วยโรคอ้วน เนื่องจากส่วนประกอบในน้ำดีที่เปลี่ยนแปลงไปจากระดับคลอเรสเตอรอล ที่สูงขึ้นทำให้เกิดนิ่วชนิดที่เรียกว่า Cholesterol Stone

5. ระบบทางเดินอาหาร เมื่อเรามีไขมันสะสมอยู่มาก ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องมากขึ้น จนเกิดเป็นโรคกรดไหลย้อน ตามมาซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งตามมาได้ในอนาคต

6. ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เนื่องจาก ข้อต่อ ต่าง ๆ ของร่างกายต้องรับน้ำหนักมากขึ้น จะทำให้มีอาการปวดเข่า ข้อเท้า สะโพก ได้ และอาจจะส่งผลให้เกิดข้อเข่าเสื่อมตามมา โดยเมื่อยิ่งมีอาการปวด เรายิ่งออกกำลังกายได้ลดลง ก็ยิ่งทำให้น้ำหนักตัวเราเพิ่มมากกว่าเดิมขึ้นไปอีก

7. ระบบสืบพันธุ์ ซึ่งโรคอ้วนทำให้เกิดการมีบุตรยากทั้งในเพศชายและเพศหญิง รวมถึงภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างเราตั้งครรภ์ เช่น โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ อาการครรภ์เป็นพิษ  

8. ระบบภูมิ คุ้มกัน เมื่อมีไขมันในร่างกายในปริมาณมาก จะสร้างสาร Pro-In flammatory Cy tokines ทำให้เกิด อาการอักเสบทั่วร่างกายโดยไม่รู้ตัว

9. ระบบไหลเวียนเลือด น้ำหนักตัวที่มากเกินไป ส่งผลทำให้ความดันในหลอดเลือดดำที่ขาสูงขึ้น จนเกิดเป็นโรคเส้นเลือดขอด บริเวณขา ทำให้มีอาการขาบวมได้ ซึ่งในรายที่มีอาการรุนแรงจะทำให้เป็นแผลอักเสบเรื้อรัง หรือมีการอุดตันของเส้นเลือดดำที่ขา  

“ไม่เพียงแต่โรคอ้วนจะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ข้างต้นแล้ว ยังทำให้เรามีอายุขัยที่สั้นลง มีงานวิจัยรายงานว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนที่มี BMI > 40 ขึ้นไป ทำให้มีอายุขัยสั้นลงได้ถึง 14 ปี โดยสาเหตุหลักของการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับโรคอ้วน ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งหากเราสามารถแก้ไขโรคหรือดูแลสภาวะร่างกาย ต่าง ๆ ทุกอย่างที่กล่าวมานี้ให้ดี เพียงแค่นี้ เราลดน้ำหนักลงมา ซึ่งทำได้ไม่ยากเลย” นพ.ศิรสิทธิ์ ระบุตอนท้าย.