คงจะผ่านตากันมาบ้างแล้ว สำหรับ ปืนช็อตไฟฟ้า (Taser Gun) อาวุธใหม่ของตำรวจไทยที่นำมาใช้ในการป้องกันเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนผู้บริสุทธิ์ มันสามารถสยบคนที่กำลังคลุ้มคลั่งให้สิ้นฤทธิ์หมดแรงลงได้

ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 13 ต.ค. เกิดเหตุ พระนาวิน หงส์ทอง อายุ 30 ปี มีอาการคลั่งยาเสพติด อาละวาดทำลายข้าวของในกุฏิวัดรางทอง อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ในช่วงเวลานั้นพระในวัดต่างหวาดกลัวไม่กล้าเข้าใกล้ เมื่อตำรวจ สภ.บางปลาม้า ไปถึง ก็เข้าไปไม่ถึงตัวเช่นกัน เพราะ พระนาวิน ยังถือไม้คมแฝกเอาไว้ในมือพร้อมทำร้ายตลอดเวลา

ช่วงจังหวะที่เผลอตำรวจตัดสินใจใช้ ปืนไฟฟ้า ยิงเข้าไปบริเวณลำตัวด้านหลังทำให้ พระนาวิน ล้มทั้งยืน ก่อนที่ตำรวจจะรุมเข้าไปล็อกตัวไว้ได้ โดยที่ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเป็นอันตราย

หรือจะเป็นเหตุการณ์ที่โรงแรมในซอยเจริญกรุง 44 เขตบางรัก เมื่อวันที่ 22 ต.ค. นายกำพล นากระโทก อายุ 31 ปี เกิดอาการเครียดจนคลั่งชักมีดยาวจี้คอชายชราวัย 70 ปี แม้จะพยายามเกลี้ยกล่อมเท่าใดก็ไม่เป็นผล ปลายแหลมของมีดยังจี้อยู่ที่ลำคอของตัวประกัน ท่ามกลางความเป็นกังวลของชาวบ้าน

ทันใดนั้นในช่วงที่ นายกำพล พาตัวประกันเดินออกมานอกโรงแรม ตำรวจได้จู่โจมใช้ปืนไฟฟ้ายิงใส่ที่แผ่นหลัง ทำให้ นายกำพล เกิดอาการช็อตและชาชั่วขณะ ก่อนจะล้มลงกับพื้น ตำรวจจึงกรูเข้าควบคุมตัวไว้ได้ ไม่มีผู้บริสุทธิ์คนใดได้รับบาดเจ็บ

นี่เป็น 2 คดีชัดๆ ที่ “ปืนไฟฟ้า” เพิ่มประสิทธิภาพให้กับการทำงานของตำรวจได้เป็นอย่างดี และสามารถช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยได้ แต่ประสิทธิภาพก็อาจนำมาซึ่งความผิดพลาดได้เช่นกัน ถ้าตำรวจไม่มีความรู้ในเรื่องปืนชนิดนี้

ดังนั้น พล.ต.ต.สำเริง สวนทอง รอง ผบช.น. จึงเปิดโครงการฝึกอบรมการใช้ปืนไฟฟ้าให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายป้องกันปราบปรามทั้ง 88 โรงพักในกรุงเทพฯ เพื่อลดความสูญเสียในการปกป้องคุ้มครองชีวิตประชาชน

นอกจากการฝึกภาคปฏิบัติแล้ว ภาคทฤษฎีก็สำคัญ เพราะมันต้องมีความรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับปืนไฟฟ้าทั้งหมด รวมทั้งสถานการณ์ไหนที่ต้องตัดสินใจว่าจะยิง ไม่ใช่ว่าจะยิงส่งเดชไปแบบมั่วๆ ซั่วๆ เช่น 1.กฎความปลอดภัยในการใช้ปืน 2.เทคโนโลยีระบบเฉพาะและการทำงาน 3.ส่วนประกอบปืน 4.การจัดการที่ปลอดภัย 5.การใช้อย่างถูกวิธี 6.ขั้นตอนการบรรจุแบตเตอรี่และบรรจุกระสุน 7.เทคนิคการดูแลและแก้ไขปัญหา 8.คำเตือนและความเสี่ยง 9.ข้อควรระวังของปืน

10.ข้อควรระวังบุคคลที่ไม่ควรใช้ 11.การสร้างความคุ้นเคยกับอุปกรณ์รอบเอวสายตรวจ 12.ตำแหน่งยิงหัวกระสุนที่เหมาะสมและโซนเป้าหมายที่ยิงได้เหมาะและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด 13.ระยะหวังผลของอาวุธและการยิงซ้ำเมื่อคนร้ายขัดขืน 14.ทดลองกับผู้สมัครใจทดสอบถูกยิงอย่างปลอดภัย

15.ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพความสามารถของปืน 16.กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่และระงับเหตุ 17.ระดับการใช้กำลังที่เหมาะสมต่อการใช้ในการระงับเหตุ 18.การเก็บหัวกระสุน 19.พยานหลักฐานหลังการใช้ระงับเหตุหรือหยุดยั้งคนร้าย

นี่เป็น 19 ข้อหลักๆ ที่ตำรวจปราบปรามต้องรู้และฝึกฝน ก่อนจะใช้ปืนไฟฟ้าระงับเหตุ ในเมื่อมันเป็นของใหม่ ทุกอย่างใหม่หมด หากใช้แบบไม่รู้จริง จากเพิ่มประสิทธิภาพก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นความสูญเสียได้.

โบนัสแทร็ก..ปืนช็อตไฟฟ้า (Taser Gun) กระสุน 1 นัด มี 2 เข็ม หากยิงโดนแค่เข็มเดียวจะไม่ช็อต การลั่นไกครั้งนึงจะช็อต 5 วินาที แต่กดช็อตซ้ำได้อีก และปืนใส่ได้ 2 นัด

ตำรวจชุมชนสัมพันธ์

มอบเสื้อสะท้อนแสง
นายเจริญ มหาโภคา รองประธาน กต.ตร.สภ.เมืองฉะเชิงเทรา ฝ่ายจราจร พร้อมด้วย นายประชา คล้ายสิงห์ กต.ตร.ภ.จว.ฉช. ประธานที่ปรึกษา กต.ตร.สภ.เมืองฯ นายมานัส โท้เป๋า ประธาน กต.ตร.สภ.เมืองฯ นายสิทธิโชค เมฆสุวรรณ์ กต.ตร. ร่วมมอบเสื้อสะท้อนแสงให้ตำรวจจราจร สวมใส่ลดความเสี่ยงภัยบนท้องถนน โดยมี พ.ต.ท.จุมพฏ มัณยาภา รอง ผกก.จร. พ.ต.ต.สมภพ มาพิงค์ สว.จร. รับมอบ ณ ห้องปฏิบัติการจราจร สภ.เมืองฉะเชิงเทรา

มีมนุษยธรรม
พล.ต.ต.กิตติศักดิ์ จำรัสประเสริฐ ผบก.ภ.จว.หนองบัวลำภู พร้อม พ.ต.อ.กริช ปัตลา รอง ผบก.ภ.จว.หนองบัวลำภู ไม่ได้นิ่งนอนใจและไม่สบายใจเมื่อมีเหตุทำให้คู่กรณีเสียชีวิตและบาดเจ็บ อันเนื่องมาจากเหตุที่มีชายวัยกลางคนเมาสุราและพกพาอาวุธเดินไปมาในถนนสาธารณะภายในหมู่บ้าน ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าระงับเหตุ สุดท้ายอีกฝ่ายเสียชีวิตจึงเป็นเหตุให้ฝ่ายภรรยาของผู้เสียชีวิตร้องขอความเป็นธรรม ขณะที่คดีอยู่ในชั้นศาลผู้พิพากษาจะเป็นผู้พิจารณาความผิดถูกตามกฎหมาย แต่ในด้านมนุษยธรรมคนเราต้องมีน้ำใจ ว่าแล้วผู้การหนองบัวลำภู หลังเข้ารับตำแหน่งที่นี่ไม่ได้นิ่งนอนใจ บอกว่ามนุษยธรรมสำคัญที่สุด ความสัมพันธ์อันดีของตำรวจกับประชาชนต้องมาก่อน จึงเป็นที่มาของการมอบเงินเยียวยาในเหตุ เมื่อ 3 เดือนก่อน ทำเอาญาติของผู้เสียชีวิตซึ้งในน้ำใจคนเป็นนายใหญ่ที่บอกกล่าวพร้อมจะให้ความเป็นธรรมตามกระบวนทางกฎหมาย

ช่วยทำเตียง
ร.ต.อ.วายุ คำภา รอง สวป.สภ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งประกอบเตียงนอน จัดห้องพัก รพ.สนามเมืองชุมแพ ไว้รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ระดับสีเขียว จาก รพ.ชุมแพ หลังพบคลัสเตอร์การแพร่ระบาดกระจายวงกว้างในพื้นที่ จนทำให้มีผู้ป่วยสะสมหลายราย ขณะเดียวกัน พ.ต.อ.รัตนสุข คำวงศ์ ผกก.สภ.ชุมแพ ได้ชำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกนาย ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

*****************************

คอลัมน์ : สน.รอตรวจ
โดย : บิ๊กสลีป