ไม่ใช่แค่ “ตาดีได้ ตาร้ายเสีย” เหมือนไปเลือกดูสินค้าด้วยตัวเอง เมื่อผู้บริโภคออนไลน์มีโอกาสประสบปัญหาทั้งสินค้าไม่ตรงปก สินค้าด้อยคุณภาพ ไม่ได้รับสินค้า ไปจนถึงได้รับสินค้าทั้งที่ไม่ได้สั่ง หนำซ้ำ เก็บเงินปลายทาง

แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับมิจฉาชีพที่สบช่องทางหากิน สุ่มส่งพัสดุสินค้าราคาถูกไปยังผู้บริโภคทั่วสารทิศ หวังมีคนพลาดท่าจ่ายเงินรับสินค้าเพราะเห็นว่าราคาไม่แพง แต่รวมๆ แล้วสร้างรายได้งาม เพราะต้นทุนแสนถูก ส่วนใหญ่ระบุสินค้าต้นทางจากจีน ยกตัวอย่าง ปลายปี 2561 ตำรวจเข้าทลายโกดังใหญ่ย่านคลอง 2 ปทุมธานี ต้นตอพัสดุพร้อมจับกุมเจ้าของชาวจีน ฐานฉ้อโกง

พฤติกรรมมิจฉาชีพดังกล่าวจะสุ่มส่งพัสดุที่ภายในบรรจุสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ไปยังผู้รับ และใช้วิธีเรียกเก็บเงินปลายทาง มีการจ่าหน้าระบุชื่อที่อยู่ถูกต้อง ซึ่งรายชื่อส่วนหนึ่งคาดว่ามาจากฐานข้อมูลบริษัทขนส่งพัสดุ ในส่วนพัสดุที่ถูกตีกลับจะใช้วิธีแปะชื่อผู้รับรายใหม่ทับ และนำไปส่งวนไปแบบนี้ ไม่น่าเชื่อแค่ 2 เดือน มีเงินหมุนเวียนสูงถึง 15 ล้านบาท

ที่ผ่านมาแม้จะมีการเข้าจับกุมหลายครั้ง แต่ก็ยังพบเห็นผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อต่อเนื่อง มีการตั้งข้อสังเกต เพราะเห็นเป็นเงินจำนวนเล็กน้อย จึงไม่แจ้งความเป็นคดีให้เป็นภาระ

ประเด็นนี้คือ “ช่องโหว่” และทำให้มิจฉาชีพยิ่งย่ามใจ ปรับเปลี่ยน “เทคนิค” เล็กน้องก็ยังหากินไต้ต่อ อาทิ สุ่มส่งพัสดุที่ชัดเจนว่าไม่ได้มาจากสั่งซื้อ แต่คุณคือ “ผู้โชคดี” ได้รับของฟรี เพียงแค่ชำระค่าส่งที่เรียกเก็บปลายทาง

นายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ศูนย์บริการผู้บริโภคแบบเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดเผย ภาพรวมแผนประทุษกรรมสุ่มส่งสินค้าเก็บเงินปลายทางยังคล้ายเดิม โดยเฉพาะประเด็นที่มักเป็นพัสดุชิ้นเล็ก ราคาไม่แพง ทำให้ผู้บริโภครู้สึกควักเงินจ่ายง่าย เมื่อรู้ว่าถูกหลอกก็คิดแค่โชคไม่ดี ไม่เข้าแจ้งความเอาเรื่อง โดยรายชื่อผู้รับสันนิษฐานว่าส่วนหนึ่งมาจากการโพสต์ที่อยู่บนเฟซบุ๊กเพื่อสั่งซื้อสินค้าแล้วถูกมิจฉาชีพลอกข้อมูลมาใช้ อีกส่วนวิเคราะห์ว่ามาจากบริษัทรับส่งสินค้า ซึ่งหากติดตามเส้นทางการเงินกับบริษัทขนส่งเชื่อว่าการหาตัวผู้ส่งไม่ยาก

อย่างไรก็ตาม จุดอ่อนสำคัญคือผู้บริโภคยังไม่ค่อยตระหนักถึงสิทธิตัวเอง มองว่าเป็นเงินเล็กน้อย ไม่อยากเสียเวลาแจ้งความ ทั้งที่คดีลักษณะนี้ควรแจ้งความให้ตำรวจนำเบาะแส เช่น เลขพัสดุ เข้าไปตรวจสอบข้อมูลกับบริษัทขนส่ง จากนั้นก็ขยายผลเส้นทางการเงินเพื่อรู้ตัวผู้ส่งได้

ปัจจุบันข้อมูลร้องเรียนปัญหาซื้อขายออนไลน์เฉพาะผ่าน สอบ. พบว่า 90% มาจากการหลอกผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ซึ่งมีเทคนิคแนบเนียนมากขึ้น จากเดิมที่มีข้อแนะนำให้ดูรีวิวประกอบการตัดสินใจด้วย แต่ขณะนี้พบว่าแม้กระทั่ง “รีวิว” ก็ยัง “ปลอม” มาหลอกผู้บริโภค  พร้อมยกตัวอย่างกรณีล่าสุดพบเพจหลอกขายจักรยานไฟฟ้าราคาถูก ให้โอนเงินมัดจำล่วงหน้าครึ่งเดียวเพื่อดึงดูดใจ เมื่อส่งหลักฐานโอนแล้วก็จะส่งรีวิวว่าได้ของตามสั่ง ทอดเวลาด้วยการแจ้งว่าสินค้าจะส่งใน 3-5 วัน เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคตามในช่วงนี้

กว่าจะรู้ตัวแต่และติดต่อกลับก็ถูกบล็อกไปแล้ว ยอมรับว่าแม้ผู้บริโภคจะตื่นตัวกับการถูกหลอกมากขึ้นระดับหนึ่ง แต่มิจฉาชีพเองก็ก้าวไปข้างหน้าเพิ่มอีกก้าวเหมือนกัน

“เมื่อก่อนเตือนว่าต้องดูรีวิวเพิ่มด้วยนะ แต่ตอนนี้ก็มีรีวิวปลอม พยายามสร้างความน่าเชื่อถือต่าง ๆ เพื่อทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อก็เป็นความยากระดับหนึ่ง การสั่งสินค้าออนไลน์ผู้บริโภคมักดูที่ราคา สินค้าเหมือนกันแต่ราคาถูกว่า 50-80% ก็จะเลือกซื้อแหล่งที่ถูกกว่า”

สำหรับข้อแนะนำการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เพื่อเลี่ยงการถูกหลอก มองว่าการซื้อบนแพลตฟอร์มปลอดภัยกว่า เพราะอยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎหมาย อย่างน้อยก็มีโอกาสเรียกร้องสิทธิในฐานะผู้บริโภคได้จากคนกลาง เนื่องจากเงินจะถูกรักษาไว้ที่แพลตฟอร์มคนกลางระยะหนึ่ง

ทั้งนี้ ย้ำว่าการรักษาสิทธิของผู้บริโภคเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยยกระดับการขายสินค้าและบริการ ผลักดันให้ผู้ประกอบการปรับตัว จากที่คิดว่าทำสินค้าห่วยๆ ก็ไม่มีใครร้องเรียน ในทางกลับกันหากผู้บริโภครักษาสิทธิตัวเอง ผู้ประกอบการจะระมัดระวังไม่ทำเหมือนเดิม กลายเป็นต้องยกมาตรฐานสินค้าและบริการตามไปด้วย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]