เมื่อพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จนิวัติสู่พระนครแล้ว เมื่อปี พ.ศ.2494 ในเวลานั้นมีหลายประเทศได้ทูลเชิญให้เสด็จฯ ไปเยือนประเทศของตน แต่พระองค์ทรงตั้งพระราชหฤทัยที่จะเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเสียก่อน ด้วยพระราชปณิธานและพระราชอัธยาศัยอันแน่วแน่ เนื่องจากพระองค์ทรงห่วงใยในความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพของราษฎร ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศที่ประกอบอาชีพเป็นเกษตรกรอาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบทซึ่งมีอยู่ในทั่วทุกหนทุกแห่งทั่วประเทศ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะหาแนวทางในการช่วยเหลือพสกนิกรของพระองค์ให้สามารถดำรงชีวิตและดำเนินชีวิตอย่างอยู่ดีมีสุขตามอัตภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบอาชีพเกษตรกรรมในขั้นพื้นฐานนั้น เป็นไปเพื่อการยังชีพ เมื่อได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในพื้นที่ชนบทตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ พระจริยวัตรอันงดงามทรงโน้มพระวรกายเข้าหาราษฎรด้วยความไม่ถือพระองค์ ทรงใกล้ชิดและเป็นกันเองกับราษฎร ทรงมีพระเมตตาและรับสั่งกับราษฎรด้วยไมตรีที่อบอุ่น กล่าวได้ว่าไม่มีช่องว่างระหว่างองค์พระประมุขของชาติกับราษฎรซึ่งเป็นสามัญชน

การเสด็จฯ เยี่ยมเยียนราษฎรในแต่ละครั้ง พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ คือ ศึกษาสภาพปัญหาและความเป็นอยู่ของราษฎร เพื่อจะได้ประมวลข้อมูลในทุกมิตินำกลับไปวิเคราะห์ปัญหา รวมถึงการศึกษา ค้นคว้าและวิจัยตามหลักวิชาการ เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอาชีพของเกษตรกร และการรักษาระบบนิเวศทั้งดิน น้ำ สิ่งแวดล้อมและป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์

ตั้งแต่ พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา พระองค์ทรงใช้พื้นที่ภายในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นพื้นที่ประทับ มีการแปรสภาพพื้นที่ในพระตำหนักฯเป็นสถานที่ศึกษา ค้นคว้าและวิจัย โดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการศึกษาทดลองเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางการเกษตร ทั้งในด้านกสิกรรม ปศุสัตว์ ประมง ป่าไม้ งานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีทั้งโรงสีข้าว บ่อเพาะเลี้ยงปลา การเลี้ยงโคนม โรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์นม โรงผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ตลอดจนอุตสาหกรรมการเกษตรพื้นฐาน และมีการประยุกต์เพื่อการผลิตแบบครบวงจร

ในปีแรกมีการทดลองปลูกข้าวในแปลงนาข้าวทดลอง โดยกรมการข้าวเป็นผู้ปฏิบัติงานสนองพระราชดำริ และมีการปลูกไม้ยางนาในลักษณะของแปลงสาธิตโดยคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ พระองค์ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในการส่งเสริมการเลี้ยงโคนม และ ทรงทำการศึกษาทดลองด้วยพระองค์เอง

การดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ มีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อศึกษาทดลองหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับงานทางด้านการเกษตรต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎร และเพื่อเป็นโครงการตัวอย่างให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงานรวมทั้งฝึกปฏิบัติ โดยสามารถนำกลับไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินการได้เอง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงทุ่มเทพระราชหฤทัยและพระวรกายด้วยการทรงงานหนักตลอดรัชสมัย เพื่อให้ราษฎรในชนบทซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรจะสามารถพึ่งตนเองและมีรายได้ที่มั่นคงในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน โครงการพระราชดำริกว่า 4,000 โครงการที่มีกระจายอยู่ในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เป็นที่ประจักษ์แก่คนในชาติและคนต่างชาติทั่วโลกว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงงานหนักมากที่สุดในโลก แม้แต่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นที่ประทับก็ยังทรงนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการศึกษา ค้นคว้าและวิจัยด้านเกษตรกรรม

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีจำนวน 6 ศูนย์ฯ ทั่วประเทศ แต่ละศูนย์ฯ เป็นตัวแทนของการศึกษาสภาพปัญหาในแต่ละพื้นที่ที่มีความแตกต่างกัน ได้แก่

1.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดฉะเชิงเทรา

2.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี

3. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดจันทบุรี

4.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดสกลนคร

5. ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่

6.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส

พื้นที่ภายในของแต่ละศูนย์ฯ มีการปรับปรุงและฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติพื้นฐาน เพื่อให้สามารถนำมาใช้ประกอบการเกษตรได้อย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ กล่าวคือได้จัดสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง สร้างสภาพป่าและไม้ยืนต้นในบริเวณโครงการและพื้นที่ข้างเคียง เป็นการปรับสภาพแวดล้อมและเพิ่มความชุ่มชื้นให้มากขึ้น สร้างระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้ใช้หญ้าแฝก ในการดำเนินการดังกล่าว และปรับปรุงบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ขึ้น หลังจากนั้นได้ศึกษาหาเทคโนโลยีพัฒนาการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ โดยเน้นวิธีการผสมผสานเป็นการรักษาสมดุลธรรมชาติและประหยัด เพื่อเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรเข้าศึกษาหาความรู้ นำไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเองได้

สภาพการณ์ในปัจจุบันของประเทศไทยและประเทศต่างๆทั่วโลกกำลังประสบกับวิกฤติการณ์ทางด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งนี้เป็นเพราะเกิดการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ไปทั่วโลก ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ประกอบกับสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีปรากฏการณ์ก๊าซเรือนกระจกซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เป็นเหตุให้เกิดภัยพิบัติธรรมชาติอย่างร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของมวลมนุษยชาติอย่างหนักหน่วง แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ แต่ยังโชคดีที่ประเทศไทยมีศักยภาพด้านการผลิตวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรโดยเป็นครัวโลกที่สำคัญแห่งหนึ่ง ฉะนั้นภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรซึ่งเป็นภาคการผลิตที่แท้จริงของประเทศ นับวันจะยิ่งทวีความสำคัญในบทบาทของประเทศไทยมากขึ้นเป็นลำดับ

เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้น ที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้วางรากฐานการพัฒนาภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร เพื่อแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรและประชาชนทั่วไปที่อยู่ในชนบทตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ หากภาครัฐภาคเอกชนและภาคประชาชนมีการระดมสรรพกำลังกันอย่างเต็มที่ และร่วมมือร่วมใจในการขับเคลื่อนตามโครงการพระราชดำริ อย่างจริงจังต่อเนื่องโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ประเทศไทยย่อมจะรอดพ้นจากวิกฤติการณ์อันใหญ่หลวงในครั้งนี้ไปได้

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ :
สาระจากพระธรรม