ตลอดปี 2564 เรียกว่า เสถียรภาพของรัฐบาลก็ไม่ดีนัก  เป็นบทเรียนให้“บิ๊กตู่”ได้รู้ว่า “การเมืองของจริงเป็นอย่างไร” ไม่ใช่อะไรก็สั่งได้ง่ายๆ เหมือนสมัยเป็นรัฐบาล คสช. ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ( สนช.) คสช.ก็เลือกมา พอมารัฐบาลจากการเลือกตั้งมันก็เจอกับทั้งฝ่ายค้านที่คอยแซะรัฐบาลเป็นระยะ ( และเที่ยวนี้มีอำนาจเต็มจะทำ ไม่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ เหมือนสมัยยังใช้ประกาศ คสช. มีมาตรา 44 ) และฝ่ายรัฐบาลกันเองที่ต้องตกลง ประสานผลประโยชน์ให้ได้ คสช.ไม่ใช่อะไรที่ “ใหญ่ที่สุด” อีกต่อไป

นอกจากความเรรวนปรวนเปรในเวทีการเมือง  สถานการณ์ภายนอกก็เรียกว่าหนักบักโกรกอย่างมาก สำคัญที่สุดคือเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด -19 สายพันธุ์เดลตา ( สายพันธุ์อินเดีย ) ที่เริ่มระบาดจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงเมื่อราวๆ ปลายไตรมาสแรกของปี 2564  ..ตอนนั้นมีข้อครหาว่า “รัฐบาลปิดเมืองช้า” ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อจากการเคลื่อนย้ายของประชากรออกนอกกรุงเทพ สักพักหนึ่ง เชื้อเดลตาก็ติดกันทั้งแผ่นดิน เรียกว่าช่วงระบาดแรงๆ มีผู้ติดเชื้อวันละหลักหมื่น รัฐบาลก็ต้องใช้มาตรการแบบต่างประเทศ คือการปิดเมืองเข้าสกัด

ในที่สุดก็ประคองสถานการณ์ผ่านมาได้ แต่ก็ต้องลุ้นว่า ในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค.นี้จะเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิคร่อนอีกหรือไม่ ซึ่งหลายคนก็ได้แต่เฝ้าภาวนาว่าอย่าให้มีซ้ำ เพราะเชื่อกันว่า “ภาวะอย่างนี้รัฐบาลปิดเมืองไม่ไหวแล้ว” การปิดเมืองแต่ละครั้งต้องมีการจ่ายชดเชยผู้ที่เสียโอกาสในการทำงาน  จะจ่ายก็เป็นเงินกู้ซึ่งกู้มาจะเต็มเพดานแล้ว จะให้กู้เพิ่มก็ต้องมั่นใจการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องการส่งออกและการท่องเที่ยว รัฐบาลเพิ่งเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ไม่นานยังกระตุ้นเม็ดเงินได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะยังไม่มีกำลังท่องเที่ยวจากชาติหลัก คือ จีน

ย้อนกลับไปเรื่องการเมือง  ที่จะเป็นตัวแซะความมั่นคงของรัฐบาลได้มากที่สุด  เพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระบอบรัฐสภา ก็มักจะมาจาก“ตัวละคร” ในแวดวงนี้แหละ ..พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เริ่มจะไม่มั่นคงทางการเมืองมาตั้งแต่ช่วงกลางๆ ปีที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ข่าวว่า มีการ“วิ่งเต้น”ใช้เสียง ส.ส.ให้โหวตไม่ไว้วางใจนายกฯ เพื่อให้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องลาออกแล้วมีการโหวตเลือกนายกฯ ใหม่ การที่มีข่าวการวิ่งเต้นล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ก็เพราะมีข่าวว่า “แบ่งปันผลประโยชน์ในพรรคไม่ลงตัว” และ ส.ส.เข้าถึงยาก

แต่ในที่สุด การล้มนายกฯ ก็ไม่สำเร็จ ทั้งนี้มี ส.ส.ฟ้องประธานสภาว่า “มีการจ่ายเงินแลกซื้อโหวต” อยู่ในสภากว้างใหญ่นั่นแหละ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนของคณะกรรมการชุดที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาตั้งขึ้น ว่า ข้อกล่าวหามีมูลเพียงใด ในช่วงการอภิปรายและหลังการอภิปราย  เราเห็นการ“แบะท่าปรับตัว”ของนายกฯ มากขึ้น ที่ว่าจะให้ ส.ส.เข้าหาได้ง่ายกว่านี้ มีการเชิญรัฐมนตรีที่เป็นแกนนำ ส.ส.เข้าหารือ และจะให้มีการแบ่งการดูแล ส.ส.รัฐมนตรี 1 คน ดู ส.ส.10 คนอย่างไรก็ว่าไป ในช่วงนั้นมีข่าวการวางแผนเอาใจ ส.ส.ออกมาเป็นระยะ ( ก็หวังเสียงโหวต )

และก็เหมือนนายกฯ แบไต๋ออกมาเองว่า “ขัดแย้งกับใคร” เพราะหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็มีการปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ( พปชร.) ออกจากตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์แบบสายฟ้าแล่บ ( พร้อมกับนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ เหรัญญิกพรรค ถูกปลดจาก รมช.แรงงาน ) แม้ ร.อ.ธรรมนัสจะออกมาแถลงทำนองว่า “ลาออกเองเพื่อต้องการเวลาไปทำพื้นที่” แต่คำสั่งที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแทบจะในเวลาเดียวกับที่ ร.อ.ธรรมนัสแถลง ก็ฟ้องอยู่ว่า“อะไรเป็นอะไร”..สายตาพุ่งมาที่นายกฯ นี่คือการจัดการ “หอกข้างแคร่”หรือไม่ เพราะในช่วงนั้น มีรายงานข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัสอยู่เบื้องหลังการจะคว่ำ พล.อ.ประยุทธ์  

พรรค พปชร.ดูเหมือนถูกแบ่งเป็นสองขั้วทันทีจากเหตุการณ์นี้ คือขั้ว “เอานายกฯ” และ“ไม่เอานายกฯ” กลุ่มแรกคือ ส.ส.ในกลุ่มสามมิต อีกกลุ่มคือกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส ที่คุมเสียงเหนือและอีสานอยู่  .. “เกมงัดข้อ” นัดแรกคือเมื่อครั้งมีเหตุการณ์น้ำท่วม มีการ“แบ่งกำลัง”ว่าใครจะไปตรวจน้ำท่วมกับใคร ระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไปเพชรบุรี กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช. หัวหน้าพรรค พปชร. ที่จะลงพื้นที่บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่ง ร.อ.ธรรมนัสกับนางนฤมลไปด้วย ผลคือ ส.ส.ไปกับฝั่ง พล.อ.ประวิตรแบบล้นหลาม ไปกับนายกฯ นิดเดียว

การงัดข้อครั้งต่อมา คือมีกระแสข่าวออกมาว่า “มีการทำโพลของพรรค พปชร. เพื่อใช้พิจารณาส่งผู้สมัคร ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป” ซึ่งผลก็คือ ส.ส.ที่ได้คะแนนบ๊วยส่วนใหญ่เป็น ส.ส.ใต้กับ ส.ส.กทม. ซึ่งเป็นกลุ่มที่ถูกมองว่า “ไม่ขึ้นกับ ร.อ.ธรรมนัส” ทำให้มี“เสียงลือเสียงเล่าอ้าง”ทันทีว่า เป็นความพยายามบีบ ส.ส.ทั้งสองกลุ่มนี้ให้ไปขึ้นกับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสแลกส่งลงเลือกตั้ง  เพราะ ส.ส.สองกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็น ส.ส.หน้าใหม่ และที่เข้ามาได้เพราะ “กินบารมี คสช.” คือคนที่เลือกยังเลือกเพราะชอบ พล.อ.ประยุทธ์ ทำให้อาจมีความต้องการสลายขั้ว พล.อ.ประยุทธ์

เรื่องนี้เล่นเอานายกฯ ควันออกหู ขนาดเรียกรัฐมนตรีของพรรคเข้าพบที่ทำเนียบ หลังการประชุม ครม. แสดงความไม่พอใจว่า “ผลโพลออกไปแบบนี้ไม่เป็นผลดีกับพรรคและรัฐบาล” ..ง่ายๆ คือทำโพลมาด้อยค่าตัวเอง ร้อนถึง “พี่ป้อมของน้องตู่”ต้องออกโรงเคลียร์อีก โดยมีข่าวตอนแรกว่า “บิ๊กป้อม”จะลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อเปิดให้มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แล้วจะเปลี่ยนเลขาธิการ แต่กลายเป็นว่า พี่ใหญ่ คสช.เจอมนต์เป่าแป้งอะไรเข้าก็ไม่รู้ ไม่เปลี่ยน และไปโวยวายใส่คนที่กดดันให้เปลี่ยน กก.บห.พรรคว่า “ก็พวกมึงรุมกู”

คราวนี้ก็เลยมีข่าวพรรคจะแตกอีก ( คือพรรค พปชร.นี้มีข่าวจะแตกแล้วแตกเล่าจนน่าขำ ) มีข่าวที่ไม่รู้จะเป็นการ “โยนหินถามทาง”หรือไม่ว่า นายกฯ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย  เตรียมจะย้ายไปเข้าพรรคไทยสร้างสรรค์ ถึงขนาดมีการปล่อยโลโก้พรรคออกมาแล้ว ที่จะย้ายน่าจะเป็นเพราะน้อยอกน้อยใจที่พี่ใหญ่หัวหน้าพรรคฟังแต่เลขาพรรค.. คนก็อยากเห็นกันใหญ่ว่าพรรคนี้มีตัวเด็ดๆ กี่คน และทำไมถึงมั่นใจว่าชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ขายได้ แถม พล.อ.อนุพงษ์ก็ไม่ใช่ มท.1 ที่มีข่าวเรื่องผลงานนัก ตั้งแต่สมัย คสช. ที่กระทรวงคลองหลอดเงียบๆ

ความวัวไม่ทันหาย…เมื่อมีข่าว พล.อ.ประยุทธ์จะย้ายออก คราวนี้มีข่าวกลุ่มสามมิตร คือนายสมศักดิ์ เทพสุทิน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ นายอนุชา นาคาศัย จะย้ายกลับไปพรรคเพื่อไทย ..พรรค พปชร.อยู่ในสภาพที่นี่ไม่มีรัก..มีแต่คนอยากจะย้ายออกไปให้พ้นๆ  แต่ในที่สุดรัฐมนตรีทั้ง 3 คนก็ออกมาปฏิเสธข่าว ..แต่เมื่อมีข่าวออกมามันก็เหมือน “มีมูล”ล้วอะไรจะเกิดขึ้นต่อไปอีกก็ไม่รู้

พล.อ.ประยุทธ์ประกาศจะอยู่ครบวาระคือเดือน มี.ค.66 แต่แค่สถานการณ์ในพรรคยังโกลาหลอลหม่านขนาดนี้ เผลอๆ ปีหน้าเราอาจได้เจอการ “ยืมมือฆ่า” นายกฯ ในสองเรื่องคือในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ( ที่ฝ่ายค้านน่าจะยื่นแน่ในการเปิดสมัยประชุมเดือน พ.ค.) ช่วงโหวตคงวิ่งกันสนุกอีก แล้วก็อีกครั้งหนึ่งคือราวๆ เดือน ก.ค.65 ก็มีลุ้นอีกว่าฝ่ายค้านจะยื่นตีความคุณสมบัติของ “บิ๊กตู่”ถือว่าเป็นนายกฯ ครบ 8 ปีแล้ว ต้องลงจากตำแหน่งหรือไม่..และท่าทีของ “บิ๊กป้อม”ก็สำคัญว่าจะยังเป็นตัวใหญ่ที่คอยปกป้อง“น้องตู่”ต่อไปหรือไม่

เอาแค่ทุบกันเองในพรรคก็สนุกแล้ว ยังแทบไม่ต้องพูดถึงปัจจัยภายนอก.  

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”