ด้วยความตั้งใจจริงในการมีส่วนร่วมเปิดประสบการณ์ทางศิลปะให้ผู้ที่สนใจในการศิลปะเข้าร่วมสัมผัสการปัดป้ายปลายพู่กันวาดเส้นสายลายสี เป็นภาพวาดจากอินเนอร์ของตัวเองได้อย่างมีความสุขและสร้างสรรค์ ทางสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย Israel in Thailand ร่วมกับ Soul Salt River City จัดกิจกรรมเวิร์กช็อป “Maya x Nui: A Painting Workshop by Israeli and Thai Artists” โดย มายา แพร็ต ศิลปินอิสราเอล และ ชลัช ฉวีสุข ศิลปินชาวไทย ร่วมถ่ายทอดในความเชื่อที่ว่า “ไม่ว่าใครก็สร้างสรรค์ผลงานศิลปะได้” โดยมี ออร์นา ซากิฟ อุปทูตรักษาการสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ร่วมเปิดงานที่ Soul Salt River City เมื่อเร็ว ๆ นี้

มายา แพร็ต ศิลปินอิสราเอลถ่ายทอดถึงมุมมองด้านงานศิลปะว่า “หลายครั้งที่ผู้คนจะมองว่า ศิลปะเป็นเรื่องสูงส่ง จับต้องไม่ได้ ทั้งที่ศิลปะนั้นอยู่กับคนอยู่กับธรรมชาติและสังคมทั่วไปอยู่แล้ว คน เรานอกจากจะมีการใช้ชีวิตอยู่ เพื่อมีชีวิตรอดแล้ว ศิลปะการสร้างสรรค์ต่าง ๆ ทำให้การเติมเต็มความเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบมากขึ้น ศิลปะนั้นสามารถเกี่ยวข้องสิ่งต่าง ๆ ได้มากมาย ส่วนตัวของฉันเองอยู่ในกลุ่มสมาคมของ อาร์ต มูฟเมนต์ ที่มีศิลปินหลายคนร่วมกันทำงาน โดยมองการทำงานศิลปะเพื่อสังคมเป็นหลัก นอกเหนือจากการหารายได้จากงานศิลปะ ทำเพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงเรื่องราวต่าง ๆ ของสังคมผ่านศิลปะ ฉันทำหลายอย่าง ส่วนใหญ่จะทำงานร่วมกับศิลปินท่านอื่นอยู่ตลอด ถ้างานส่วนตัวที่บ่งบอกถึงสไตล์คือ สไตล์ ชอต โคมิค การ์ตูนสั้น เป็นเหมือนการบันทึกการเดินทางออกแนวร่วมสมัย”

ส่วนความตั้งใจในการจัดเวิร์กช็อปครั้งนี้ มายา เล่าว่า “ฉันมองว่าหลักการสร้างสรรค์งานศิลปะนั้น มีอยู่กับคนทุกคนอยู่แล้ว แต่คนส่วนใหญ่จะติดความคิดที่ว่า ต้องมีทักษะถึงจะสร้างสรรค์งานศิลปะได้ คนส่วนใหญ่จะติดเรื่องทักษะ ซึ่งจริง ๆ เป็นความเชื่อว่า การสร้างสรรค์ทักษะก็จำเป็น แต่ไม่ใช่หลักใหญ่ เพราะเราสามารถดึงความรู้สึก ความคิด จินตนาการของเราให้ปรากฏออกมาบนผืนผ้าใบหรือกระดาษวาดรูปได้ ไม่ต้องเลิศหรู ไม่ต้องรอให้ใครชมว่าสวย ขอให้สิ่งที่วาดหรืองานศิลปะที่ทำนั้น มาจากความรู้สึกข้างในความคิดของเรา นั่นเป็นงานศิลปะแล้ว อยากให้คนหลุดจากกรอบที่ว่า งานต้องเลิศ ต้องสวย ขอให้เป็นงานที่ออกมาจากข้างในของตัวเองพอ ขอให้การสร้างสรรค์งานนั้นมาจากตัวเอง เราทำงานในสิ่งที่เราอยากเห็น ไม่ต้องรอให้ใครชม ขอให้ระหว่างทางที่เราทำงานศิลปะมีความสุขก็พอ ไม่ควรก๊อบปี้งานอะไรที่เป็นต้นแบบเพราะถ้าทำแบบนั้นมีแค่เหมือนกับไม่เหมือนเท่านั้นเวลาทำเราจะเหนื่อย การจัดงานเวิร์กช็อป หวังให้ทุกคนที่เข้าร่วม ได้เริ่มสร้างงาน ปลดปล่อยและมีความรู้สึกว่า ศิลปะนั้นสนุก ผ่อนคลาย และได้เติมพลังให้ตัวเองและสังคมไปด้วยกัน”

นอกจากกิจกรรมเวิร์กช็อปที่จัดขึ้นแล้ว สองศิลปินไทยและอิสราเอลได้ร่วมกันสร้างสรรค์ชิ้นงานชื่อ ‘Flood’ (ท่วม) ที่รวมรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ของทั้งคู่ไว้ใน ภาพเดียวซึ่ง ชลัช ฉวีสุข เล่าถึงแรงบันดาลใจว่า มาจากการที่พยายามหาจุดกึ่งกลางระหว่างความเป็นไทยกับอิสราเอลร่วมกัน พอดีวันที่เจอกัน มีเหตุการณ์น้ำทะเลหนุน ทำให้ติดเกาะน้ำท่วมที่สัมพันธวงศ์ ทำให้เกิดแนวคิดว่า เรื่องน้ำท่วมไม่เข้าใครออกใคร เลยมาลงตัวที่ ‘Flood’ (ท่วม) ซึ่งคำว่า ท่วมในความรู้สึกอะไรก็ได้ที่ท่วม คือ การเกินพอ ท่วมท้น ท่วมทะลักเกินจากความพอดี เป็นศิลปะถ่ายทอดออกมาได้หลายมุมเช่น ความรู้สึก ขึ้นอยู่กับการตีความ แต่งานชิ้นนี้ในภาพเป็นสมองที่ชูออกมา คือ การมองจากมุมที่ว่า ถ้าเกิดท่วมจริง ๆ ท่วมแบบมิดหัว สิ่งสุดท้ายที่จะชูคืออะไร เลยมองว่า ความเชื่อ ความคิด สิ่งที่สร้างสมในตัวเรา คือ สิ่งสุดท้ายที่ใครแย่งออกจากตัวไปเราไม่ได้ แม้แต่ธรรมชาติ แม้แต่น้ำท่วมก็แย่งไปจากเราไม่ได้”