คงไม่ใครอยากพบเจอกับประสบการณ์ อันชวนสยองเมื่อผ้าเบรกหรือลูกสูบเบรกหลุดขณะขับรถ จนนำมาสู่อาการเบรกแตก และเกิดความสูญเสียจากอุบัติเหตุในที่สุด ฉะนั้นวันนี้ “รู้ก่อนเหยียบ” จึงขอนำทุกท่านมาหาต้นตอและวิธีป้องกันกันครับ
 
ก่อนอื่นมารู้จักกับชนิดของเบรกกันก่อน “ดิสก์เบรก” (Disc Brake) ประกอบด้วยจานดิสก์ที่ทำจากเหล็กหล่อและหมุนเคลื่อนที่ไปพร้อมกับล้อรถยนต์ โดยมีคาลิปเปอร์ ที่ครอบลงไปบนจานดิสก์ แต่จะไม่หมุนไปพร้อมล้อ ซึ่งภายในคาลิปเปอร์ มีการติดตั้งผ้าเบรก ประกบอยู่สองข้างของจานดิสก์ โดยมีแม่ปั๊มเบรกติดตั้งร่วมอยู่ด้วย และเมื่อแรงดันมาถึงแม่ปั๊มเบรกลูกสูบจะถูกดันออกมาเพื่อดันผ้าเบรกให้ไปเสียดทานกับจานดิสก์ ให้เกิดความฝืดจนสามารถชะลอหรือหยุดรถได้ในที่สุด
 
ส่วน “ดรัมเบรก” (Drum Brake) จะใช้หลักการทำงานของการขยายและหุบตัวของฝักเบรกภายในจานเบรก เมื่อแรงดันมาถึงแม่ปั๊มเบรก ลูกสูบจะทำหน้าที่ดันฝักเบรกที่มีผ้าเบรกยึดอยู่ภายนอกให้เสียดทานกับผนังของจานดรัมเบรก จนเกิดความฝืด

สำหรับปัญหา “ผ้าเบรกหรือลูกสูบเบรกหลุด” ส่วนใหญ่จะเกิดกับ ดิสก์เบรก มากกว่า ดรัมเบรก และมักเกิดจาก 2 สาเหตุหลักคือ 
1.ใช้ผ้าเบรกหมดจนถึงเนื้อเหล็ก แล้วยังฝืนใช้ต่อ เมื่อเหล็กผ้าเบรกเสียดสีกับจานดิสก์ บางลงเรื่อยๆ และหลุดออกจากร่องวางผ้าเบรก จากนั้นลูกสูบเบรกก็หลุดตามมา และเมื่อน้ำมันเบรกรั่วออกจากระบบก็จะเกิดอาการเบรกแตก
2.จานจานดิสก์เบรกที่บางจนเกินไป จะไม่ส่งผลในระยะแรก แต่เมื่อผ้าเบรกบางลงตามอายุการใช้งาน แม้ยังไม่หมดก็สามารถหลุดออกร่องวางผ้าเบรก หรือลูกสูบเบรกหลุดได้เช่นกัน
 
วิธีป้องกันผ้าเบรก-ลูกสูบเบรกหลุด
1.เมื่อผ้าเบรกมีความหนาน้อยกว่า 4 มม. และก้ามเบรกมีผ้าเบรกน้อยกว่า 1 มม. หรือเหลือน้อยกว่า 30% เพราะจะส่งผลให้เบรกไม่อยู่ ทำให้การเบรกมีประสิทธิภาพลดน้อยลง
2.เมื่อมีคราบน้ำมันหรือจารบีมากจนผิดปกติ
3.เมื่อมีรอยร้าวบนดิสก์เบรก หรือก้ามเบรก
4.เปลี่ยนทุกๆ 25,000 กม. โดยจะพิจารณาจากลักษณะการขับและการใช้งานควบคู่ด้วย
5.เมื่อเกิดเสียงดังเวลาเบรก ไม่ว่าจะดังในลักษณะใดก็ตาม ควรนำรถไปตรวจเช็กสภาพทันที และทำการเปลี่ยนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้
6.เมื่อเกิดอาการเบรกครั้งเดียวไม่อยู่ ต้องรีบเปลี่ยนผ้าเบรกทันที…

…………………………….
คอลัมน์ : รู้ก่อนเหยียบ
โดย “ช่างเอก”
ติดต่อสอบถามข้อมูลโดยตรงที่ [email protected]