ในต่างประเทศ ดนตรีบำบัด (Music Therapy) ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง แต่ในไทยหลายฝ่ายยังขาดความเข้าใจในกระบวนการบำบัดด้วยศาสตร์นี้ ส่งผลให้ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจัง ไม่มีแผนการสร้างบุคลากรด้านดนตรีบำบัด ขาดแคลนทั้งคนและความรู้ คุณค่าและความหมายของดนตรีในสังคมไทยจึงไปไม่พ้นแวดวงวิชาการและบันเทิงคดี

ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์

ทั้งนี้ ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เรื่องนี้ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้ศึกษาวิจัยดนตรีบำบัดกับผู้ป่วยโรคไตที่กำลังฟอกไต ผู้ป่วยมะเร็งที่รักษาด้วยเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่กำลังรอผลการวินิจฉัยโรค และผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น พบว่าดนตรีบำบัดช่วยบรรเทาความเจ็บปวด ลดความดันโลหิต รักษาความปกติของอัตราการเต้นของหัวใจ คลายความกังวลให้ผู้ป่วยทั้งระหว่างได้รับการรักษาและระหว่างรอผลการวินิจฉัยโรค อันส่งผลให้ขั้นตอนการรักษาดำเนินไปอย่างราบรื่น

“ดนตรีบำบัดคือการใช้ดนตรีและวิธีการทางดนตรีในการช่วยฟื้นฟู รักษา และพัฒนาด้านอารมณ์ ร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ก่อนบำบัดก็ต้องได้รับการเห็นชอบจากผู้เชี่ยวชาญโดยดนตรีจะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้บำบัดกับผู้เข้ารับการบำบัด และทุกกิจกรรมบำบัด ไม่ว่าจะขับร้อง ฟังเพลงบรรเลงหรือดนตรี ล้วนถูกออกแบบมาให้เหมาะกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้เข้ารับการบำบัด”

หนึ่งในงานวิจัยของคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ คือการศึกษาปฏิกิริยาทางอารมณ์และพฤติกรรมทางสังคมของผู้สูงอายุหลังการฟังเสียงเพลงจากเครื่องดนตรี “อังกะลุง” ผลสรุปว่าเสียงดังกล่าวได้ กระตุ้นพลังใจและความเบิกบานให้คนวัยนี้อย่างมีนัยสำคัญ ความกระชุ่มกระชวยกลับมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับกำลังใจและความทรงจำ บั้นปลายชีวิตไม่ได้ผ่านเลยไปอย่างไร้ความหมาย ความมีชีวิตชีวาถูกปลุกขึ้นภายในซึ่งทำให้คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ได้รับการฟื้นฟู รอยยิ้มและเสียงหัวเราะเริ่มปรากฏจากทัศนคติเชิงบวก และผลพลอยได้ที่เกิดขึ้นระหว่างกิจกรรมบำบัดคือชุมชนคนขิงแก่

นอกจากนี้ “ดนตรี” ยังช่วยรักษาผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม (Dementia) ได้ ผ่านการได้ยินเสียงและเริ่มร้องตามได้ เนื่องจากเชื่อว่าสมองส่วนดนตรีเก็บข้อมูลไว้ได้นาน ขณะที่สมองส่วนที่ใช้ไม่ได้ก็จะหมดสภาพ สมองส่วนดนตรีจึงเป็นเสมือนกล่องข้อมูลเก่าที่รอวันเสียงดนตรีดังขึ้น กระตุ้นการทำงานของสมองส่วนนี้ให้ทำงานอีกครั้ง เซลล์สมองข้างเคียงก็จะกระชุ่มกระชวยตามไปด้วย

“ดนตรีบำบัดมีรายละเอียดมากกว่าการฟังเพลงเพื่อการผ่อนคลายและบันเทิง ศาสตร์นี้มุ่งเน้นทุเลาความเจ็บปวดและขจัดความวิตกกังวลของผู้ป่วย ซึ่งในการบำบัดจำต้องมีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เข้ารับการบำบัด เช่น สภาพร่างกายปัจจุบัน ความสามารถในการขยับตัว บุคลิกภาพ พื้นฐานครอบครัว ปูมหลังชีวิต และที่สำคัญต้องรู้คือแนวดนตรีและเครื่องดนตรีที่ชื่นชอบ ซึ่งนักดนตรีบำบัดจะประมวลข้อมูลเหล่านี้จากการพูดคุยกับผู้ป่วยและคนใกล้ชิดก่อนออกแบบดนตรีในรูปแบบ Bedside Music Therapy ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันในแต่ละบุคคล”

ทั้งนี้ ดนตรีบำบัดมี 2 รูปแบบ ได้แก่ การบำบัดแบบเดี่ยว (Individual Music Therapy) เหมาะสมกับผู้ที่ชอบเก็บตัวและผู้ป่วยที่ถูกควบคุมใกล้ชิด แต่กระนั้น ถ้าผู้ป่วยภาวะปกติสนใจการบำบัดแบบเดี่ยวก็ทำได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและความพร้อมของผู้เข้ารับการบำบัด

การบำบัดแบบกลุ่ม (Community Music Therapy) เหมาะสมกับผู้ที่ไม่อาจใช้ดนตรีบำบัดตัวเองเพียงลำพัง ข้อดีของการบำบัดแบบกลุ่มคือโอกาสที่ผู้เข้ารับการบำบัดจะได้สนทนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนอื่นซึ่งการเรียนรู้ร่วมกันนี้ก็จะลดทัศนคติเชิงลบของตน คลายความเหงาได้จากการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ส่วนดนตรีที่นำมาใช้บำบัดก็จะคัดสรรจากค่าเฉลี่ยแนวดนตรีที่ทุกคนในกลุ่มนิยมฟัง

“ปัจจุบัน ทางคณะฯ ได้เปิด หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีบำบัด (หลักสูตรนานาชาติ) เพื่อผลิตนักดนตรีบำบัด รองรับสังคมไทยที่ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยและมีแนวโน้มการป่วยด้วยโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น โดยต้องมีความรู้หลากหลายสาขา ทั้งระบบประสาท การทำงานของสมอง จิตวิทยา และทักษะการเขียนเพลงสำหรับการด้น ที่พอเหมาะพอดีกับสภาพของผู้เข้ารับการบำบัด ซึ่งทักษะที่ว่านี้ต้องฝึกฝนมาต่อเนื่องไม่ตํ่ากว่า 900 ชั่วโมง พร้อมประกาศนียบัตรรับรองความถนัดทางวิชาชีพ” ผู้สนใจหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีบำบัด (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ค้นหาข้อมูลเพิ่มใน https://www.faa.chula.ac.th/subjectmain/indexcourse/147

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง