วันที่ 27 ธันวาคม 2564 นี้ จะครบรอบ 7 ปี ที่มีการประกาศและมีผลบังคับใช้ พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นส่วนตัวว่า สำหรับกฎหมายฉบับนี้ มีรากคิดมาจากวิวัฒนาการเกี่ยวกับการใช้สัตว์ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เช่น มีการใช้สัตว์เป็นพาหนะลำเลียงสินค้า มีการใช้สัตว์ในการทำสงคราม การใช้แรงงาน การค้า การบริโภค รวมถึงการใช้สัตว์เพื่อเป็นเพื่อน เป็นต้น สำหรับแนวความคิดเกี่ยวกับสัตว์ก็มีความชัดเจน เช่น กลุ่มแนวความคิดเกี่ยวกับสิทธิสัตว์ (Animal Right) มองว่าสัตว์ควรอยู่อย่างอิสระ มนุษย์ไม่ควรนำสัตว์มาใช้งานหรือถูกฆ่าเพื่อกินเนื้อและทรมาน หรือกลุ่มแนวคิดด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) มองว่ามนุษย์สามารถใช้งานสัตว์ได้ตามสมควร แต่ต้องมีขอบเขตการใช้ อย่างมีมนุษยธรรม ด้วยการหามาตรการ วิธีการ แนวทางดูแลสัตว์นั้น ไม่ให้ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างไม่มีเหตุสมควร

ประเทศไทยนั้น มีกฎหมายที่ดูแลคุ้มครองสัตว์ที่สำคัญ เช่น พ.ศ. 2435 มีการตราพระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ ร.ศ. 110 พ.ศ. 2443 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสำหรับรักษาช้างป่า ร.ศ.119 เพื่อควบคุมการล่าช้างป่า ในปี พ.ศ. 2445 มีการออกข้อบังคับสำหรับป้องกันการทรกรรมสัตว์ ซึ่งบรรทุกลงกำปั่นไปจากกรุงสยาม ร.ศ.120 ถือว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกที่แสดงให้เห็นถึงมนุษยธรรมที่มีต่อสัตว์ซึ่งถูกขนส่ง และมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อปกป้องสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของสัตว์ในขณะเดินทาง พ.ศ. 2451 มีการตรากฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 สำหรับการกระทำการทารุณต่อสัตว์หรือฆ่าสัตว์โดยให้ได้รับทุกขเวทนาอันไม่จำเป็น หรือผู้ใดใช้ให้สัตว์ทำงานจนเกินสมควรหรือใช้ให้ทำงานอันไม่สมควร เพราะเหตุที่สัตว์นั้นป่วยเจ็บ ชราหรืออ่อนอายุ มีโทษทางอาญา ในปี พ.ศ. 2503 มีการตราพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ขึ้น และ พ.ศ. 2535 มีการออกพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เพื่อเป็นการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า เป็นต้น

สำหรับพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 กว่า 7 ปี ที่ประกาศใช้ มีการออกกฎหมายลำดับรองที่ต่อเนื่องกว่า 14 ฉบับ และมี 4 ฉบับลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อปลายปี พ.ศ.2563 และมีผลบังคับใช้ในปี พ.ศ. 2564 นี้ ประกอบด้วย เรื่อง การจัดสวัสดิภาพสุนัขในสถานที่เพาะพันธุ์สุนัข การจัดสวัสดิภาพแมวในสถานที่เพาะพันธุ์แมว การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง การจัดสวัสดิภาพสัตว์ในสถานที่จำหน่ายสัตว์

ที่ผ่านมา กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดี ในฐานะผู้รับผิดชอบหลักในพระราชบัญญัติฉบับนี้ นอกจากการจัดตั้งกองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการบริการช่วยเหลือและรับข้อร้องเรียนต่าง ๆ เหตุตาม พ.ร.บ.นี้แล้ว ซึ่งมีการจัดตั้งสถานพยาบาลสัตว์ ประจำอำเภอและจังหวัดกว่า 45 แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อให้บริการด้านสุขภาพสัตว์ ครอบคลุม 5 กลุ่ม เช่น สัตว์ป่วย สัตว์พิการ สัตว์ตั้งท้องหรือลูกอ่อน สัตว์ในสถานสงเคราะห์รวมทั้งสัตว์ที่ไม่มีเจ้าของที่อาศัยอยู่ในวัด โรงเรียน โดยสถานพยาบาลประจำอำเภอทุกแห่งของกรมปศุสัตว์จะมีสัตวแพทย์ประจำ ในการดูแลสัตว์ในภาวะฉุกเฉิน ก่อนส่งต่อในการทำหมัน ฉีดวัคซีน ซึ่งการบริการเหล่านี้ไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำหรับประเด็นทางสังคม (HOT ISSUE) เช่น กรณีลิงเก็บมะพร้าว กรมปศุสัตว์ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์และสัตววิทยาประยุกต์ วิทยาลัยการแพทย์เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยการนำของ รศ.นสพ.ปานเทพ รัตนากร คณบดี ได้ศึกษาวิจัยและจัดทำคู่มือการจัดสวัสดิภาพการเลี้ยงลิงกัง เพื่อใช้งานและใช้ในการแสดงให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 หรือกรณีการจัดสวัสดิภาพช้างเลี้ยง ก็มีการศึกษาวิจัยและจัดทำคู่มือการจัดการและสวัสดิภาพของช้างเลี้ยงเอเชียที่ใช้ในการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดย รศ.นสพ. ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นแนวทางการดำเนินงานควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมาย นอกจากนั้นสภาผู้แทนราษฎรยังมีการแต่งตั้งอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสิทธิสัตว์ โดยมี นายสรชัด สุจิตต์ เป็นประธานในการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ด้วย เป็นต้น

ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 นับว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญ สร้างการตื่นรู้ของคนในสังคมไทย ให้มีการเลือกปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีมนุษยธรรมมากยิ่งขึ้น วัดได้จากสถิติการร้องเรียนการดำเนินคดีต่าง ๆ และการนำเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน ซึ่งมีทิศทางในทางบวกและประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก และที่สำคัญมีการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาแนวทางการดำเนินงานและมีหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน

ซึ่งหลังจากนี้ก็จะเป็นเรื่องท้าทายสำหรับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ชุดที่ 2 ที่จะเสนอนโนบาย แผน มาตรการและแนวทาง ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่เด็ดขาดจริงจัง คือการสร้างความตระหนักรู้ทางสังคม การเสริมสร้างจิตสำนึกสาธารณะ การรักเมตตาสัตว์อย่างรับผิดชอบ การเสนอเพิ่มรายชื่อสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติให้ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้มากยิ่งขึ้น การเยียวยาความเสียหายเดือดร้อนอันเกิดจากสัตว์ การแก้ปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ การป้องกันโรคต่าง ๆ ที่สัตว์เป็นพาหะ รวมถึงวิธีการควบคุมจำนวนประชากรสัตว์จรจัด การจัดตั้งกองทุนเพื่อใช้งบประมาณในการช่วยเหลือสัตว์ การพัฒนาสถานสงเคราะห์สัตว์ประจำท้องถิ่นทั้งภาครัฐและเอกชน รวมทั้งการเพิ่มบทบาทขององค์กรภาคเอกชนอย่างเหมาะสม เสริมรับกับแนวทางภาครัฐในการแก้ไขปัญหาของชุมชนสังคมและสัตว์อย่างสันติวิธี เป็นต้น

กฎหมายจะเอื้ออำนวยความยุติธรรมและสร้างดุลยภาพให้เกิดขึ้นได้จริง ก็อยู่ที่ผู้ใช้กฎหมายนั้นใช้เพื่ออะไร ถึงแม้สัตว์จะพูดเองไม่ได้ เฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ แต่สัตว์ย่อมรับรู้ได้ถึงความเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน มนุษย์จึงควรปฏิบัติกับสัตว์อย่างมีเมตตาธรรมมากยิ่งขึ้น “ความดียิ่งบอกเล่า ยิ่งมีพลัง”.