“โซเดียม” เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดโรค “ความดันโลหิตสูง” ซึ่งเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมองตีบ/แตก อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ “รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ” นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม หนึ่งในคณะผู้วิจัย เครือข่ายลดบริโภคเค็มร่วมกับนพ.ศิริชัย วิริยะธนากร และ รศ.นพ.ธีรภัทร ยิ่งชนม์เจริญ ระบุว่า จากข้อมูล คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ยวันละ 9.1 กรัม สูงกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ที่ 5 กรัมต่อวัน ไปถึงเกือบ 2 เท่า ส่งผลต่อโรคความดันโลหิตสูง แต่กลับมีเพียง 30% เท่านั้นที่ควบคุมความดันให้อยู่ในเกณฑ์ได้

รศ.นพ.สุรศักดิ์

ทั้งนี้ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารนานาชาติ The Journal of Clinical Hypertension เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นงานวิจัยในผู้ป่วยความดันโลหิตสูงที่ยังควบคุมไม่ได้ (ไม่ว่าจะรับประทานยาลดความดันโลหิตหรือยังไม่ได้เริ่มยาก็ตาม) โดยนำเอาอุปกรณ์เครื่องวัดปริมาณโซเดียมในอาหารหรือเครื่องวัดเกลือ (Salt meter) ทราบผลในเวลาไม่กี่วินาที

วิธีการคือจุ่มลงไปในนํ้าแกงหรือซุป เครื่องจะวัดความเข้มข้นของเกลือจากระดับความเหนี่ยวนำไฟฟ้าของนํ้าแกงและแสดงค่าระดับความเค็มเป็นเปอร์เซ็นต์เกลือและการแสดงออกของใบหน้าบนหน้าจอ หากมีความเค็มที่เหมาะสมจะแสดงผลเป็นหน้ายิ้ม ระดับความเค็มปานกลางเป็นหน้านิ่งเฉย และระดับเค็มมากเป็นหน้าเศร้า

สำหรับเครื่องวัดเกลือนี้ถูกพัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และนำมาใช้ในสถานการณ์จริง โดยให้กับผู้ป่วยไปใช้ที่บ้านร่วมกับการให้ความรู้โดยนักโภชนาการเกี่ยวกับการลดบริโภคเค็ม เปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการให้ความรู้เพียงอย่างเดียว โดยติดตามผล 8 สัปดาห์ หรือประมาณ 2 เดือน

ผลการศึกษาพบว่า ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้ใช้เครื่องวัดเกลือร่วมด้วย มีการบริโภคเกลือลดลง ไปถึง 31 มิลลิโมลต่อวัน และยังทำให้ความดันโลหิตซิสโตลิก (systolic blood pressure) ลดลงไปถึง 14.4 มิลลิเมตรปรอท และความดันโลหิตไดแอสโตลิก (diastolic blood pressure) ลดลงไป 5.5 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับสถาบันวิจัยอาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำการทดสอบความไวของการรับรู้รสเค็มของลิ้นซึ่งจะแย่ลงในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง และในผู้ที่บริโภคเค็มเป็นเวลานาน พบว่า มีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงความไวในการรับรู้รสเค็มไปในทางที่ดีขึ้น ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้ใช้อุปกรณ์เครื่องวัดเกลือในอาหาร ซึ่งช่วยในการแยกแยะอาหารที่มีเกลือเป็นองค์ประกอบในปริมาณที่สูงได้ดีขึ้น ไม่ต้องพึ่งพาเครื่องวัดเกลืออีก

“ดังนั้นเครื่องวัดเกลือในอาหารมีประโยชน์ในการช่วยปรับพฤติกรรมทำให้ลดการบริโภคเกลือ ปรับลิ้นให้มีความไวในการรับรู้รสเค็มได้ดีขึ้น และส่งผลให้มีความดันโลหิตที่ควบคุมได้ดีขึ้นมาก ซึ่งระยะยาวก็น่าจะส่งผลช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล และความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงจากการต้องกินยาลดความดันโลหิต และในระยะยาว”

หากอุปกรณ์นี้ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในครัวเรือน ร้านอาหารในชุมชน ในโรงเรียน ก็จะส่งผลดีต่อภาพรวมทางสาธารณสุขทั่วประเทศอีกด้วย.

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก
เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง