เข้าสู่ปี 2565 แล้ว ก็ต้องขอส่งความปรารถนาดี ความหวังดีให้แก่ทุกท่าน หวังว่าอะไรจะได้ตามประสงค์ ใช้ชีวิตไม่ลำบากมากนัก หลังจากที่ในปี 2563-2564 ทั่วโลกลำบากกันเหลือเกินจาก การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 รัฐบาลก็พยายามทำอะไรให้ได้มากที่สุด ทั้งให้ฉีดวัคซีนได้ครบร้อยล้านโด๊ส ระดมสรรพกำลังในการรักษา ซึ่งก็หวังว่าวิทยาการต่อไปจะทำให้เราได้ยาดีขึ้นจนโควิดมันกลายเป็น “หวัดกระจอก” ธรรมดาๆ ที่ป่วยก็กินยาเสียตั้งแต่มันมีอาการ

เชื้อที่ระบาดใหม่คือ โอมิครอน ซึ่ง ติดง่ายกว่าเดลตาถึง 2.45 เท่า แต่ยังมีโชคช่วยเล็กๆ ว่า โอมิครอนเป็นเชื้อที่อาการไม่รุนแรงนัก มันจะไม่ลงปอดจนอาการหนักแบบเดลตา เราก็ยังคงต้องระวังตัวกันต่อไปเพราะ “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” กฎรักษาระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด รักษาความสะอาดก็ยังต้องยึดเอาไว้เสมอ วินัยในการรักษาตัวจะทำให้ไม่เกิดคลัสเตอร์ขนาดใหญ่จนรัฐบาลต้องสั่ง ล็อกดาวน์ แล้วภาคธุรกิจก็กระเทือนอีก

เมื่อสั่งล็อกดาวน์ สิ่งที่ตามมาคือ ผลกระทบภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก แรงงานตัวเล็กตัวน้อยซึ่งมีเป็นจำนวนมากในประเทศไทยที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ทำงานไม่ได้ก็จำเป็นต้องรับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล ขณะที่ภาษีก็เก็บไม่เข้าเป้า การจะกู้เงิน เท่าที่กู้ไปเป็นหลักล้านล้านตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าจะใช้ได้หมดตอนไหน ถ้าต้องปิดเมืองอีกก็ต้องขยายเพดานเงินกู้แล้วกู้เพิ่มมาช่วยอีก ก็กลายเป็น ภาระประเทศระยะยาว

เรื่องโอมิครอนก็เรื่องหนึ่ง เรื่องการเมืองก็เรื่องหนึ่งที่ปีนี้ดูทรงดุเดือดเลือดพล่านแน่ๆ มีแต่คนทายว่าจะต้องมีการยุบสภาในปี 65 และท่าทาง “บิ๊กตู่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” น่าจะไปไม่สวยเท่าไร ฟากรัฐบาลก็ยืนยันว่าจะไม่มีการยุบสภาแน่นอน แต่ฟากที่ไม่ชอบรัฐบาลก็ว่าที่เขายืนยันกันอย่างนี้เพราะรัฐบาลต้องการอยู่จัดทำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2566 ก่อน กู้เงินเพิ่มมาทำประชานิยมก่อน และที่สำคัญต้องเป็น เจ้าภาพการประชุมสุดยอดเอเปค ตอนปลายปีก่อนเพราะมันเป็นหน้าตาของประเทศ หน้าตาของรัฐบาล ที่เขาตั้งใจว่าเที่ยวนี้จะไม่ประชุมทางไกลด้วย

ทีนี้เรามาพูดกันว่า “ปัจจัยอะไรที่น่าจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จะไปไม่สวย” ประเมินจากที่ฝ่ายต่างๆ ออกมาพูด เริ่มตั้งแต่นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ออกมาตั้งข้อสังเกตว่า “ความสัมพันธ์ของ 2 ป.ไม่น่าจะรอด” เพราะต่างก็แย่งซีนกันเหลือเกิน มีปัญหาตั้งแต่ปี 64 เกิดเหตุการณ์แห่งปีคือข่าวการวิ่งล็อบบี้ให้เปลี่ยนนายกฯ ในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ด้วยข่าวลือสะพัดว่า “พี่ใหญ่ 3 ป.อาจอยู่เบื้องหลังด้วยแรงยุจากบางคน” และเกิดข่าวลือวิ่งล็อบบี้จ่ายเงิน ส.ส.ให้ยกมือโหวต ซึ่งตอนนี้ทางสภากำลังสอบ ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร แต่น่าจะเดากันได้ไม่ยาก..

ถึงไม่พูดออกมาเป็นคำพูดชัดๆ แต่การปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ออกจากตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ และปลด นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน ซึ่งเป็นคนสนิทของ ร.อ.ธรรมนัส ..ทั้งสองคนทำงานให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ก็ฟ้องปัญหาในพรรคได้ ต่อมาก็มีข่าวเรื่อง ร.อ.ธรรมนัสทำโพล ส.ส.ใต้ ว่ามี ส.ส.ปัจจุบันของพรรค มีโอกาสสอบตกในสมัยหน้าถึง 12 คน ..ว่ากันว่า เพื่อเป็นการดึงกลุ่ม ส.ส.ใต้และกลุ่ม ส.ส.กทม. ที่ใช้คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ มาสิโรราบกับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส

ข่าวนี้ทำเอา พล.อ.ประยุทธ์เดือดดาล เรียกรัฐมนตรีในโควตา พปชร.ไปประชุม จนบิ๊กป้อมรับปากจะแก้ปัญหาโดยลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค เพื่อเปิดให้มีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เขี่ย ร.อ.ธรรมนัส ออกจากตำแหน่งเลขาฯพรรค แต่สุดท้ายบิ๊กป้อมเองที่กลับลำ ด่ารัฐมนตรีที่กดดันซะอีก “ก็พวกมึงรุมกู” แค่นี้ก็น่าจะฟ้องได้ว่า ความ “ปึ้ก” ระหว่างหัวหน้าพรรคกับเลขาธิการพรรคเป็นอย่างไร

จากนั้นก็เกิดเหตุเหมือนแย่งซีนกัน ตั้งแต่การกรวดน้ำท่วมที่บิ๊กป้อมไปบางบาล บิ๊กตู่ไปเพชรบุรี กลายเป็นการวัดขุมกำลัง ส.ส.ว่า “ไปกับนายกฯ หรือกับหัวหน้าพรรคมากกว่ากัน” จนเมื่อสิ้นปี พรรค พปชร. สรุปผลงานบิ๊กป้อมแบบยาวเป็นหน้าๆ มีโพลออกมาเชียร์เป็นบุคคลแห่งปีจนหลายคนสงสัยสำรวจกันอย่างไร เพราะรองนายกฯ ก็ผลงานไม่ค่อยเด่น

ภาพที่ออกมาคือ 2 ป.กำลังแย่งซีนกันทำงาน (หรือใครจะว่าช่วยกันทำงานคนละไม้คนละมือก็ได้) ขณะที่ข่าวก็มีมีเรื่อยๆ ว่า พล.อ.ประยุทธ์นั้นเตรียมเอาพี่คนกลาง 3 ป.คือ บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ย้ายไปอยู่พรรคใหม่ ลือกันถึงขนาดว่าจะเป็นพรรคที่ใช้แผนเศรษฐกิจนำเป็นจุดขาย เพราะ เศรษฐกิจแย่เหลือเกิน ..การปรากฏภาพแย่งซีนกันมันก็ดูจะเป็นการบอกกลายๆ ว่า คือการช่วงชิงเพื่อให้ตัวเองเป็นผู้มีอำนาจตัวจริง ..ถึงจะบอกว่ารักกันหวานปานจะกลืนแค่ไหนแต่ผลประโยชน์มันไม่เข้าใครออกใคร แล้วถ้าเลือกตั้งไป คิดว่าพรรคใหม่จะมีพลังหนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้เท่า พปชร.หรือ

วิบากต่อมาที่กำลังลุ้นๆ กันว่าจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปไม่สวยหรือไม่ก็คือเรื่องคดี บริษัทคิงส์เกต ฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะใช้อำนาจหัวหน้า คสช.สั่งระงับการทำเหมืองทองอัคราเพราะกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งถ้าแพ้ขึ้นมาก็ไปไล่เบี้ยกันเองว่าใครจะจ่าย และก็น่าจะถูกเพ่งเล็งว่าจะมีการ “เจรจาทางลับ” แลกสัมปทานอะไรเพื่อผ่อนปรนค่าเสียหายหรือไม่ รัฐบาลอยู่มานานฝ่ายค้านหมั่นไส้มีอะไรกระโดดงับแน่

เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องที่ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทายเอาไว้ว่า “จะเป็นตัวแปรใหญ่ในการที่จะมีม็อบลงถนนมาขับไล่รัฐบาล” คือกรณีการตีความคุณสมบัติ การดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ถ้านับตั้งแต่เป็นนายกฯ และหัวหน้า คสช. ซึ่งถ้านับรวมเวลากันก็ต้องครบ 8 ปีเดือน ส.ค. 2565 แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกว่า “ต้องมีเหตุให้จำเป็นต้องตีความก่อนถึงยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ ถ้าแค่ถามความเห็นศาลไม่รับพิจารณา” ทำให้ฝ่ายค้านเล็งจะยื่นตีความเอาช่วงๆ นั้นแหละ

อยู่ๆ ปรากฏว่าฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรมาให้ความเห็นทำนองว่า การตีความต้องไม่มีผลย้อนหลัง ที่ไม่เป็นคุณต่อผู้บังคับใช้กฎหมาย ดังนั้น ให้เริ่มนับเวลาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ตอนปี 62 ก็โดนด่าไปอึงพอสมควรว่า..ใช่หน้าที่เหรอ..และกลัวจะกลายเป็นการชี้นำศาลรัฐธรรมนูญ ..อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 60 ก็รับรองสิ่งที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวยุค คสช. เท่ากับว่ารับรองสถานะความเป็นนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ตั้งแต่ตอนนั้นสิ 

นายบัญญัติทำนายไว้ว่า “เรื่องนี้ระวังจะเป็นเรื่องใหญ่ที่จะเรียกม็อบลงถนนไล่รัฐบาล ทำงานเข้าศาลรัฐธรรมนูญ” หากมีการตีความในเชิงเดียวกับฝ่ายกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎ ..กระแสเผด็จการกินรวบอำนาจยาวจะถูกจุดขึ้นมาต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ แล้วตีเป็นประเด็นศีลธรรม คุณธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้วจะมีการไล่เรียงเหตุการณ์ที่ฟ้องว่า คสช.อยากอยู่ยาว ย้อนไปตั้งแต่สมัยคว่ำรัฐธรรมนูญที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการยกร่าง ไล่ไปจนถึงเรื่องการให้ ส.ว.ที่ก็คนกันเองกับ คสช.แทบทั้งนั้นมีอำนาจเลือกนายกฯ ได้สองสมัย ชี้ชัดว่าแบบนี้มันเผด็จการสืบทอดอำนาจนี่หว่า และอาจมีตัว “ฮาร์ดคอร์” ทางการเมืองเปิดหน้ามาเป็นแกนนำม็อบได้

มีโอกาสที่จะผสมกันเป็นกำลังระหว่างฝ่ายการเมือง กับฝ่ายภาคประชาชน เยาวชนที่เคลื่อนไหวต้านรัฐบาลตั้งแต่ปี 63 “ตัวเปิด” น่าจะพร้อมทั้งคนใน คณะก้าวหน้า พรรคก้าวไกล ไปจนถึง พรรคเพื่อไทย ในภาวะโลกล้อมประเทศการเคลื่อนไหวใดๆ ของรัฐบาลที่บอกว่าตัวเองมาจากการเลือกตั้งย่อมถูกโลกจับตา แม้รัฐบาลจะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับกองทัพ ก็ต้องคิดหนักหากจะให้กำลังพลออกมาปะทะ  ..ซึ่งก็ไม่รู้คิดไปเองหรือเปล่าว่าฝ่ายพรรคเพื่อไทยฮึ่มฮั่มส่งสัญญาณมากลายๆ แล้วว่า ..ถ้าอยากลงจากตำแหน่งอย่างสง่างามให้ลาออกตอน ส.ค.65

การตีประเด็นให้เป็นปัญหาคุณธรรมจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ เราเคยเห็นบทเรียนกันมาแล้วคือในคราว ม็อบไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ที่ก็ปลุกขึ้นด้วยประเด็นคุณธรรม ขายหุ้นให้กลุ่มเทมาเส็กไม่เสียภาษี และต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็โดนเหมือนกัน คือเรื่องการลักหลับออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์แก้อย่างไร กปปส.ก็ไม่พอใจ จนสุดท้ายเกิดเป็นภาวะสุญญากาศให้ คสช.เข้ายึดอำนาจ

เอาแค่ที่เล่ามา คือที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในปีนี้ ก็ดูจะ หนัก กับ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว อาจมีความจำเป็นให้ต้อง เปลี่ยนตัวนายกฯ โดยการที่ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกก็ได้..ในทางการเมืองอะไรเกิดขึ้นได้เสมอ แต่เงื่อนไขการยุบสภายังติดขัดเรื่องห้วงเวลาในการประกาศใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเสร็จในสมัยประชุมหน้า (พ.ค.- ก.ย.65) หรือให้เสร็จในสมัยประชุมนี้ (ก.พ.65) เสร็จแล้วต้องตรวจสอบความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ แล้วก็ต้องให้เวลาในการแก้ไขระเบียบอะไรให้เข้ากับ พ.ร.ป.อีก ที่สำคัญคือการเพิ่ม ส.ส.เขต 400 คน ก็ต้องแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ซึ่งต้องให้เวลา กกต.ทำงาน

หากเลือกตั้งไป มีโอกาเปลี่ยนรัฐบาลสูง เนื่องจากหลายกระแสเสียงมองว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่มานานแล้ว อยากได้คนใหม่มาทำงานบ้าง พรรค พปชร.น่าจะลองเช็กๆ อะไรดูดีๆ ว่าทำไมเพื่อไทยเขาถึงมั่นใจมากว่าจะได้ ส.ส.ถึง 253 คน ถ้าไปรวมกับพรรคอื่นๆ ได้ ส.ส.ถึง 376 เสียง คราวนี้เสียง ส.ว.เลือกนายกฯ ก็ไม่มีความหมาย…แล้วก็น่าสนใจดูท่าทีว่า ..การเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้ ถ้าเขี่ย พล.อ.ประยุทธ์ออกไปแล้วเพื่อไทยกับ พปชร.ก็อาจจับมือกัน ก็เพื่อ “คนที่คุณรู้ว่าใคร”

เกมการเมืองสนุกรากเลือดแค่ไหนก็ขอแค่ว่า อย่าเล่นกันจนประเทศชาติพังแล้วกัน..

………………………………………………………
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”