แทบจะกลายเป็น วิกฤติซ้อนวิกฤติ ซ้ำเติมพ่อแม่พี่น้องประชาชน นอกจากจะต้องผจญกับปัญหาโรคโควิด-19 กับเจ้าเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนแล้ว ตอนนี้ทั่วประเทศก็ยังมาเจอกับ ราคาหมูแพง เข้าไปอีก ส่งผลกระทบกันไปเป็นลูกโซ่ทั้งผู้บริโภค พ่อค้าแม่ค้า รวมไปถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ

         ราคาเริ่มขยับแพงแบบทุบสถิต ทะลุ 200 บาท มาตั้งแต่ปลายปี 64 โดยปัจจัยหลักที่หน่วยงานเกี่ยวข้องออกมาระบุถึงสาเหตุหมูแพงว่า มาจากราคาต้นทุนเลี้ยง ทั้งอาหาร ยารักษาโรคในสุกรสูงขึ้น รวมถึงมี โรคระบาด ทำให้ทั้งแม่พันธุ์ และลูกหมูล้มตายหายไปจากระบบผิดปกติ ผู้เลี้ยงรายย่อยและระดับกลางหลายพื้นที่ต้องเลิกเลี้ยง โดยกรมปศุสัตว์ออกมาระบุว่า หมูป่วยเป็น โรคเพิร์ส (Porcine reproductive and respiratorysyndrome) หรือ PRRS  ยืนยันไม่ใช่ โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever) หรือ ASF โรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยรักษา

ไทม์ไลน์ข้อมูลผลตรวจ “โรค ASF”

         โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรหรือโรค ASF  ระบาดในหมูไปทั่วโลกมาตั้งแต่ปี 2561 ทั้งทางยุโรป อเมริกา และเข้ามาในเอเชีย จากนั้นปี 2562 มาโผล่ในเวียดนาม แล้วขยายไปยังประเทศย่านอาเซียน กระทั่งผ่านปีใหม่ 65 มาเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น ได้มีเอกสารทางวิชาการหลุดเป็นข่าวว่อนโซเชียล ว่าตรวจพบ โรค ASF จากหมูแคระในไทยมาตั้งแต่ต้นเดือน ธ.ค. 64 ทำให้กลายเป็นข่าวที่สร้างความฮือฮาอย่างมาก!! เนื่องจาก 31 ธ.ค. 64 ทางกรมปศุสัตว์ยืนยันประเทศไทยยังไม่พบหมูป่วยโรค ASF

          ทีมข่าว 1/4 Special Report ต้องขอไปตามไล่เรียงลำดับข้อมูลครั้งนี้ เนื่องจากถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับประเทศอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้น สำหรับเอกสารที่ถูกเผยแพร่ออกมานั้น เป็นสำเนาเอกสาร 3 แผ่น ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2564 โดยแผ่นที่ 1 ระบุเรื่อง รายงานการตรวจพบสุกรป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พร้อมแนบรายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ จำนวน 1 ชุด เนื้อหาเอกสารบรรยายว่า หน่วยงานชันสูตรโรคสัตว์ กำแพงแสน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ทำการผ่าชันสูตรซากสุกร จำนวน 1 ซาก เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของการตายเฉียบพลัน ในเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งรอยโรคที่พบจากซากสุกร ประกอบกับผลการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการนั้น ทำให้วินิจฉัยได้ว่า สุกรตัวดังกล่าวติดเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever virus : ASFv) รายละเอียดตามเอกสารแนบ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 จึงเห็นควรการแจ้งผลของการตรวจพบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรให้ทางหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ได้รับทราบข้อมูล เพื่อให้ดำเนินการสืบสวน ติดตาม และวางมาตรการควบคุมป้องกันการระบาดของโรคดังกล่าวตามความเหมาะสมต่อไป

         นอกจากนี้ยังแนบใบรายงานผลการตรวจเทคโนโลยีทางชีวภาพ พร้อม ผลการชันสูตรซาก ระบุ ปอดอักเสบ มีจุดเลือดออกกระจายที่เนื้อเยื่อปอด และเยื่อหุ้มปอดอักเสบ, หัวใจพบปิ้นเลือดออก มีของเหลวในถุงหุ้มหัวใจ, ม้ามมีการขยายใหญ่, ถุงน้ำดีอักเสบ และการบวมน้ำที่ผนังถุงน้ำดี, ไตพบจุดเลือดออกกระจายบริเวณผิวไตชั้นนอก และเลือดออกบริเวณกรวยไต, ต่อมน้ำเหลืองทั่วร่างมีเลือดออก, ลำไส้เล็กพบเลือดออกที่เยื่อบุผิวด้านนอก ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ระบุ Real-time PCR : ASF positive การวินิจฉัยโรค จากการตรวจวินิจฉัยสุกรตายด้วยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African swine fever virus : ASF)

ตะลึงกรมปศุสัตว์ไม่เห็นรายงาน

         หลังเรื่องนี้ถูกสื่อนำมาตีแผ่ กรมปศุสัตว์ยังไม่ทราบรายงานนี้และก็ไม่ได้ปิดข่าวเพราะดำเนินงานร่วมกันตลอดประชุมกับเครือข่ายทุกเดือน ทุกเรื่องจะต้องนำเข้าที่ประชุมโดยดำเนินการตามขั้นตอนมาตลอดเวลา  เมื่อกรมปศุสัตว์ออกมาปฏิเสธ วันที่ 9 ม.ค. 65 ผศ.นสพ.ดร.คงศักดิ์ เที่ยงธรรม คณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะ ประธานภาคีคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ได้ทำหนังสือแจ้งไปยัง อธิบดีกรมปศุสัตว์  ตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค.64 เรื่อง ข้อห่วงใยต่อสถานการณ์โรคระบาดและการควบคุมโรคในสุกร

       รายละเอียดหนังสือระบุ ตามที่ปรากฏการตายเป็นจำนวนมากของสุกรในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทยมาระยะหนึ่ง ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรขนาดกลางและขนาดเล็ก ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทยทั้ง 14 สถาบัน มีความกังวลกับสถานการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง ประกอบกับได้รับคำถามเป็นจำนวนมากจากเกษตรกรและประชาชน ถึงสาเหตุและแนวทางในการแก้ไข ทั้งนี้ จากการตรวจวินิจฉัยโรคโดยหน่วยงานของสถาบันการศึกษาสัตวแพทยศาสตร์ในประเทศไทย พบเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever : ASF) ในซากสุกรที่ส่งชันสูตรโรค และได้รายงานการตรวจพบโรคต่อกรมปศุสัตว์ตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 แล้วนั้น

         ภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย จึงขอให้กรมปศุสัตว์พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อการควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน เพื่อมิให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นแก่เกษตรกรและอุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรในประเทศไทย และพร้อมสนับสนุนทางวิชาการแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน สร้างความน่าเชื่อถือ และภาพลักษณ์ที่ดีของวิชาชีพสัตวแพทย์ของประเทศไทย

จับตาตั้งกก.สอบใครเซ็นรับหนังสือ

      ผศ.นสพ.ดร.คงศักดิ์ประธานภาคีคณบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ฯ กล่าวด้วยว่า เมื่อตรวจเจอเชื้อใน “หมูแคระ” ขั้นตอนการส่งเป็นไปตามขั้นตอนปกติ ผมเป็นคนลงนามในหนังสือ เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 64 แล้วให้เจ้าหน้าที่ของคณะสัตวแพทย์ ที่บางเขน ขับรถตู้นำเอกสารโดยมี สมุดคุมทะเบียนสีน้ำเงิน ไปส่งที่กรมปศุสัตว์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์เป็นคนเซ็นรับ ซึ่งในสมุดก็จะมีชื่อเจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ว่า “ใครเป็นคนรับ” ซึ่งเจตนารมณ์ของภาคการศึกษาและสถาบันต้องการที่จะให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่ อยากเห็นว่าการแก้ปัญหาเกิดขึ้นอย่างตรงจุด ตรงสาเหตุของปัญหา ถ้ามันไม่ตรงมันแก้ไม่ได้ เหมือนยาจะต้องใส่โรคให้ถูกไม่เช่นนั้นจะแก้ไขและรักษาไม่ได้ เราทำหน้าที่ของเราทางวิชาการจะทำอย่างไรให้เกษตรกรกลับมาเลี้ยงสุกรได้ตามปกติ

         อย่างไรก็ดีค่ำวันที่ 10 ม.ค.65 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยังตอบเช่นเดิม “ไม่เห็นหนังสือแจ้งเรื่อง พบเชื้อในซากหมูแคระ ขณะนี้สั่งตั้งกรรมการสอบสวนหนังสือหายไปไหนคาดว่าในสัปดาห์นี้รู้แน่ใครเก็บไว้”สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งตลอด 1 เดือนเต็มที่ผ่านมา ไม่ได้มีการเร่งสืบสวนหาต้นตอโรค รวมถึงนำมาตรการคุมเข้มมาใช้ยังอาณาบริเวณจุดที่พบ ’หมูตาย“ แต่สุดท้ายวันที่ 11 ม.ค.65 กรมปศุสัตว์ออกมาให้ข้อมูลอีกครั้งว่า หลังจัดส่งชุดเฉพาะกิจลงสุ่มตรวจพื้นที่เสี่ยงใน จ.ราชบุรี และนครปฐม วันที่ 8-9 ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ตรวจพบเชื้อในโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งที่ จ.นครปฐม  จึงประกาศ ประเทศไทยได้พบโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) พร้อมประกาศเป็นเขตโรคระบาดควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกร ในรัศมี  5 กม.  เร่งสอบหาแหล่งที่มา ประสานหารือภาคีเครือข่ายเพื่อควบคุมโรค นอกจากนี้จะเร่งแจ้งองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE)
เพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบ!!.