เห็นข่าวว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์  จะเสนอของบกลางในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 ม.ค.นี้ วงเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท มาจัดทำโครงการพาณิชย์ลดราคา! ลดค่าครองชีพประชาชน เพื่อเพิ่มทางเลือก สร้างความสมดุลด้านราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ ซึ่งจะเป็นโครงการระยะ 90 วัน หลังจากราคาเนื้อสัตว์พุ่งกระฉูด

โดยเฉพาะราคาเนื้อหมูสามชั้น ปรับขึ้นไปถึงกก.ละ 250 บาท ถือว่าแพงเป็นประวัติการณ์แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรฯ ซึ่งกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ แถมมีแนวโน้มว่าราคายังไม่สิ้นสุดแค่นี้ หลังจากได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (Afican Swine Fever) หรือ “ASF” ทำให้หมูในฟาร์มของเกษตรกรรายย่อย และฟาร์มเอกชนขนาดกลาง ล้มตายเป็นจำนวนมาก

ทีมข่าว “1/4 Special Report” มีโอกาสคุยกับ “เสี่ยตู่” ผู้มีประสบการณ์ในวงการหมูมากว่า 20 ปี ในพื้นที่ จ.ราชบุรี-นครปฐม ตั้งแต่การทำฟาร์มเลี้ยงหมู-โรงฆ่าสัตว์-หน้าร้าน-แปรรูป เรียกว่าครบวงจร!

ไม่มี “รายย่อย” ถ่วงดุล “5 พี่เบิ้ม” วงการหมู

“เสี่ยตู่” เปิดเผยว่าตอนนี้เกษตรกรรายย่อย รวมทั้งเอกชนขนาดกลาง ๆ ที่ทำฟาร์มเลี้ยงหมู เหมือนน้ำท่วมปาก พูดมากไม่ได้ ขืนพูดไปเดี๋ยวกรมปศุสัตว์ปรารถนาดีส่งคนเข้ามาตรวจหาเชื้อโรคในฟาร์ม แล้วสั่งทำลายหมูทิ้งหมดทั้งฟาร์ม ถ้าพูดมากเดี๋ยวเจ้าหน้าที่สรรพากร จะแวะมาหาถึงฟาร์ม

ต้องเข้าใจว่าบ้านเรามีเกษตรกรรายย่อย และเอกชนขนาดกลางที่เลี้ยงหมูประมาณ 190,000 ราย ไว้คานอำนาจและถ่วงดุลกับ “5 พี่เบิ้ม” ในวงการหมู

ช่วงปี 62 หมูในประเทศจีนเป็นโรคล้มตายจำนวนมาก เหลือหมูไม่พอกิน จีนต้องสั่งนำเข้าหมูเป็น ๆ จากประเทศไทย หมูเป็น ๆ จากนครปฐม-ราชบุรีถูกส่งไปจีนด้วย ต้องขนไปลงเรือที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ขนส่งทางเรือไปตามลำน้ำโขง ขึ้นไปยังตอนใต้ของจีน ซึ่งตอนนั้นเกษตรกรขายหมูเป็น ๆ ให้ “โบรกเกอร์” กก.ละ 80-85 บาท ถือว่าได้ราคาดี แล้วโบรกเกอร์ส่งออกไปเมืองจีนด้วยราคา กก.ละ 100 กว่าบาท (ช่วงนั้นราคาหมูเป็น ๆ ในไทย กก.ละ 70 บาท)

เมื่อขนหมูเป็น ๆ ไปทางเรือ จึงรับเชื้อโรค ASF มากับเรือ หมูที่ติดเชื้ออาจถูกโยนทิ้งลงน้ำโขงบ้าง แล้วเชื้อโรคเข้ามาระบาดที่เชียงรายและเชียงใหม่ จนต้องประกาศปิดด่านทางภาคเหนือ แต่ยังมีการขนหมูเป็น ๆ และลูกหมู ออกไปทางภาคอีสาน ผ่านเวียดนามเข้าไปเมืองจีน แล้วรับเชื้อ ASF เข้ามาระบาดในภาคอีสาน เพียงแค่ระยะเวลา 3 สัปดาห์ เชื้อโรคดังกล่าวลามลงมาถึงนครปฐม-ราชบุรี ซึ่งเป็นแหล่งเลี้ยงหมูขนาดใหญ่ของประเทศ

หลังจากนั้นหมูในฟาร์มก็ทยอยล้มตายกันเรื่อยมา โดยหมูในฟาร์มของ “5 พี่เบิ้ม” อาจมีล้มตายบ้าง สมมุติถ้าเขามี 20 ฟาร์ม แต่หมูตายไป 2-3 ฟาร์ม เขาไม่สะเทือน แต่ถ้าเป็นเกษตรกรรายย่อยและเอกชนขนาดกลาง ถึงขั้นเจ๊งหมดตัวเลย

หมู 1 ล้านตัวหายเข้าไปใน “ห้องเย็น”

“เสี่ยตู่” อธิบายต่อไปว่า เรารู้ว่า “5 พี่เบิ้ม” วงการหมู ทำธุรกิจครบวงจร ทั้งทำฟาร์ม-โรงชำแหละ-หน้าร้าน-แปรรูป-ส่งออก ซึ่งการจะทำแบบนี้ได้ต้องมี “ห้องเย็น” ซึ่งใคร ๆ ก็มีห้องเย็นกันทั้งนั้น แต่ห้องเย็นของ “5 พี่เบิ้ม” มีประสิทธิภาพสูง สามารถฟรีซ (Freezer) เก็บเนื้อหมูได้เป็นเวลา 6-12 เดือน และคงมีห้องเย็นสามารถเก็บเนื้อหมูได้  3-4 แสนตัน โดยเนื้อหมู 3-4 แสนตันที่ว่านี้ จะเป็นหมูเนื้อแดง-สามชั้น-สันคอ-สะโพก ส่วนขาหมูจะไม่เก็บไว้ในห้องเย็น ดังนั้นกรณีที่มีผู้คนรวมทั้งระดับรัฐมนตรีสงสัยว่ามีหมู 1 ล้านตัว หายไปจากตลาด แต่ตนคิดว่าหายเข้าไปอยู่ในห้องเย็นนี่แหละ

“5 พี่เบิ้ม” ในวงการหมู อาจพูดคุยกันบ้างเกี่ยวกับสถานการณ์โรคหมู และราคาหมู ดังนั้นช่วงต้นปี 64 เขาก็ช่วยกันลากราคาหมูเป็น ๆ ขึ้นไปถึง กก.ละ 80 บาท ถ้าหมูเป็น ๆ กก.ละ 80 บาท ตามสูตรให้เอา 2 คูณเข้าไป จะได้เป็นราคาเนื้อหมูชำแหละที่ กก.ละ 160 บาท บรรดาเกษตรกรจึงนำหมูเป็น ๆ และหมูป่วยใกล้ตายมาขายให้ 5 พี่เบิ้ม เพราะเขามีห้องเย็นเก็บได้ 3-4 แสนตัน เรียกว่าทยอยเก็บเนื้อหมูเข้าห้องเย็นไปเรื่อย ๆ พร้อมกับลากราคาหมูเป็น ๆ จาก กก.ละ 80 บาท ลงมาเหลือ กก.ละ 64 บาท ในช่วงกลางปี 64 เรียกว่าลากราคาขึ้นไปสูง แล้วจึงลากลงมาต่ำ

“ผมอยู่วงการหมูมากว่า 20 ปี วันพระไหนราคาหมูปรับขึ้นกก.ละ 0.5-1 บาท จะเป็นเรื่องฮือฮากันมาก เพราะมีผลต่อคนเลี้ยง โรงชำแหละ เขียงหมู และผู้บริโภค แต่ปรากฏว่าเดือน ต.ค.-พ.ย.64 ค่อย ๆลากราคาเนื้อหมูขึ้นไปวันพระละ 2 +บาท/กก. เพราะ 5 พี่เบิ้มคงมองเห็นว่าหมูของเกษตรกรรายย่อยกับเอกชนขนาดกลางตายเกือบหมดแล้ว และห้องเย็นของเขาใกล้เต็ม จึงค่อย ๆ ระบายเนื้อหมูออกมา จากวันพระละ 2 บาท/กก. ขยับขึ้นมาเป็นวันพระละ 4-8 บาท/กก. (1 เดือนมี 4 วันพระ) ช่วงวันพระก่อนสิ้นปี 64 จนถึงวันพระต้นปี 65 ราคาเนื้อหมูพุ่งขึ้น กก.ละ 10-16 บาท งานนี้ต้องมีเงินสะพัด 4-5 หมื่นล้านบาท มันบ้าหรือเปล่า”

หมูยังแพงไม่สุด!-ต้องรีบ “นำเข้า”

หมูแพง ๆ แบบนี้ เกษตรกรรายย่อยกับเอกชนขนาดกลางได้เห็นแต่ราคา เนื่องจากปัจจุบันแทบไม่มีหมูเป็น ๆ เหลืออยู่แล้ว ส่วนพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์-ลูกหมูก็ไม่มี ส่วนเชื้อโรค ASF ยังไม่ไปไหน ต้องใช้เวลาในการพักฟาร์มอีกนาน เพราะไม่มีวัคซีน แต่ “5 พี่เบิ้ม” ยังมีพร้อมทั้งพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์-ลูกหมู และเนื้อหมูในห้องเย็น ถ้าสต๊อกห้องเย็นพร่องลงไป เขายังมีหมูเป็น ๆ ในฟาร์มอีกจำนวนมาก ถึงวันนี้ต้องถามว่ารัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ และกรมปศุสัตว์ คุณตามเกม “5 พี่เบิ้ม” ทันหรือเปล่า หรือว่าทำเป็นเอาหูไปนา เอาตาไปไร่?

“ก่อนหน้านั้นฟาร์มขนาดเล็ก-กลางรู้สถานการณ์ว่าหมูจะขาดแคลน แต่ไม่คิดว่าปัญหานี้จะมาเร็วเกินคาด และปัจจุบันราคาเนื้อหมูยังแพงไม่สุด เพราะหมูยังขาดตลาด ราคาตึงมาก เนื่องจาก 5 พี่เบิ้มไม่ค่อยขายหมูเป็น ๆ ออกมา ต้องการเก็บหมูเป็น ๆ ไว้ชำแหละขายได้กำไรมากกว่า แต่เมื่อหมูราคาแพง ตามแผงหมูยอดขายตกกันทั้งนั้น เพราะผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ หรือเลือกซื้อแต่เนื้อหมูราคาถูก บางโรงเชือด-โรงชำแหละ เคยเชือดหมูวันละ 120-140 ตัว ตอนนี้เหลือ 30 ตัว แผงหมูเคยขายวันละ 4-5 หมื่นบาท ปัจจุบันเหลือแค่หมื่นบาท สภาพความจริงมันเป็นแบบนั้น เนื่องจากไม่มีเกษตรกรรายย่อยและเอกชนขนาดกลางไว้ถ่วงดุล 5 พี่เบิ้ม ดังนั้นปัญหาหมูแพงจะลากยาวต่อไป กรมปศุสัตว์บอกว่าขอใช้เวลา 8-12 เดือนแก้ปัญหา ถ้านานขนาดนั้นบรรดาพี่เบิ้มเขารวยกันเละแล้วครับ ถ้าไม่นำเข้าหมูจากต่างประเทศ” เสี่ยตู่ กล่าว.