หนอนโรงพักอาทิตย์นี้ขอไปเรื่องสื่อมวลชนกันอีกสักตอน เราไปต่างประเทศกันครับ หากคุณเป็นคนที่สนใจข่าวสารของโลก จะต้องคุ้นชื่อสำนักข่าวที่ชื่อว่า เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัลซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ที่เนื้อหาหนักแน่นอุดมด้วยคุณภาพ เป็น สื่อหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ที่ดำรงอยู่ในสังคมอเมริกันมายาวนานมาก คว้ารางวัลทำข่าวเจาะมากมาย โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เน้นเรื่องเศรษฐกิจ

สำหรับสื่อมวลชนในอเมริกานี่ก็เหมือนกับสื่อมวลชนทั้งหลายในประเทศที่เจริญแล้วนะครับ คือเขาจะชัดเจนว่านำเสนอเนื้อหาเจาะกลุ่มเป้าหมายไหน เป็นขวา เป็นซ้าย นโยบายข่าวชัดเจนเลย ถ้าคุณเป็น คนชอบพรรคเดโมแครต ชอบนโยบายการเก็บภาษีคนรวย สนับสนุนการคุมอาวุธปืน รัฐมีอำนาจมากหน่อย ก็ถือเป็นซ้าย ก็ต้องไปอ่าน นิวยอร์ก ไทมส์ วอชิงตัน โพสต์ถ้าซ้ายนิด ๆ ก็อาจไปอ่าน เดอะ การ์เดียนของอังกฤษ หรือในอเมริกาก็มีสื่อซ้ายสุด ๆ แบบสนับสนุนรัฐสังคมนิยมก็มี 

แต่ถ้าคุณเชื่อใน การลดบทบาทอำนาจรัฐ ปัจเจกชนควรได้รับการแทรกแซงจากทางการน้อยที่สุด ปลดปล่อยศักยภาพของตัวเราเพื่อพัฒนาธุรกิจของตัวเอง ภาษีไม่ต้องเก็บเยอะ คนจะได้มาลงทุนทำงานกัน คุณก็เป็นขวา ก็จะมีสื่ออย่างเดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล ถ้าขวาจัด ก็ไปดูช่อง ฟอกซ์ นิวส์

แต่ไม่ว่าจะซ้ายหรือขวา สื่อมวลชนในประเทศเจริญแล้ว เขามีมาตรฐานการทำข่าวที่เข้มข้นมาก ไม่ใช่ว่าปั้นน้ำสร้างเรื่องโกหกเหมือนสื่อบางประเทศที่บอกเป็นกลาง (ซึ่งไม่จริง) แต่เนียนอีแอบทำข่าวก็ไม่มีมาตรฐานแม้แต่นิด สร้างเรื่องโกหกต่าง ๆ นานา เขียนข่าวเว่อร์เกินจริง ทั้งที่ก็มีสื่อหนังสือพิมพ์มาเกือบ 200 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังไม่เจริญทางมาตรฐานคุณภาพเท่าใดนัก

ผู้เขียนชอบอ่านนิวยอร์ก ไทมส์ครับ เพราะสะท้อนแนวความคิดของตัวเองได้ดี ตรงใจกับเรา อีกอย่างนิวยอร์ก ไทมส์ มีมาตรฐานการทำงานที่สูง วิจารณ์กันเองอยู่บ่อย ๆ แถมก็วิจารณ์นำข่าวด่าตัวเองมาลงพิมพ์ด้วย ซึ่งก็เป็นวัฒนธรรมอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากนี้สื่อมวลชนที่นั่นเขาไม่มีคติว่าแมลงวันไม่ตอมแมลงวันด้วยกัน สื่อก็ต้องนำเสนอข่าวฉาวข่าวต่าง ๆ ของสื่อด้วยกันเอง อย่าง นิวยอร์กไทมส์ได้หยิบเอาความเปลี่ยนแปลงของสื่อเดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล มานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ

ปัจจุบันนี้ วอลล์ สตรีท เจอร์นัล (ต่อไปจะเรียกว่า WSJ ซึ่งมากจากชื่อเต็มของสื่อฉบับนี้คือ Wall Street Journal) มีเจ้าของคือ รูเพิร์ด เมอร์ด็อก เจ้าพ่อสื่อผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ความล้ำหน้าของ WSJ นั้นถือเป็นสื่อฝ่ายขวาอุดมคุณภาพ ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเกิดกระแสใหม่ ๆ นั้น WSJ เป็นสื่อฉบับแรก ๆ ของโลกที่เก็บเงินคนไปอ่านข่าวของตัวเองในเว็บ โดยที่สื่ออื่น ๆ ยังงง และติดกับแนวคิดว่าทุกอย่างในอินเทอร์เน็ตนั้นฟรีอยู่เลย แต่ WSJ ไม่สนทำก่อนแล้ว มองการณ์ไกลอย่างยิ่ง

ในเวลาต่อมาสื่ออื่น ๆ ของโลกทำตาม นิวยอร์ก ไทมส์ ทำทีหลังแต่มียอดคนเสียเงินอ่านข่าวในเว็บเป็นอันดับ 1 ของโลกแล้ว ส่วน WSJ ติดกับดักเจอปัญหาไม่สามารถเรียกยอดผู้อ่านมาเสียเงินซื้อเนื้อหาข่าวของตัวเองได้อีกต่อไป เหมือนถูกกำแพงกั้นขวางไม่ให้ไปดังเป้าหมายที่ตั้งไว้

พอเจอแบบนี้ WSJ ก็ตั้งทีมงานมาศึกษาว่ามันเกิดอะไรขึ้น ผลการศึกษานั้นพบว่า ผู้อ่านข่าวของ WSJ นั้นแก่แล้ว เป็นพวกคนขาวเอียงขวา เป็นคนแก่อายุมากที่เป็นแฟน WSJ มาอย่างยาวนาน ผลก็คือคนพวกนี้เริ่มแก่ จนฐานคนอ่านหายไป 

“ฐานคนอ่านของเราค่อย ๆ เสียชีวิตลงไปเรื่อย ๆ”

คนรุ่นเก่าเริ่มจากไป แต่ WSJ จูงใจคนรุ่นใหม่มาอ่านข่าวตัวเองไม่ได้ นี่เลยเป็นปัญหาอย่างยิ่ง

หากถามว่าทำไมคนรุ่นใหม่ไม่อ่านกัน นั่นก็เพราะว่า เนื้อหาของ WSJ นั้นไม่หลากหลาย คือยังยึดติดกับผู้อ่านเก่า ๆ ที่กำลังหมดลมหายใจไปทีละช้า ๆ เนื้อหาของ WSJ ที่ทีมวิจัยพบคือมีความหลากหลายน้อยมาก แทบไม่พูดถึงเนื้อหาเรื่องสีผิว ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ในอเมริกาเลย ทั้ง ๆ ที่สื่อมวลชนคู่แข่งเขาเล่นนำเสนอกันหมด ดังนั้นพอข่าวไม่หลากหลายยึดติดกับผู้อ่านเดิม ๆ แล้วใครมันจะเข้ามาอ่านกัน ผู้อ่านเก่า ๆ ก็ล้มหายตายจากไป ผู้อ่านรุ่นใหม่ก็ไม่นิยม

หากถามว่าแล้วทำไมไม่ปรับตัวล่ะ ทีมวิจัยก็พบว่า คนใน WSJ นั้นกลัวการเปลี่ยนแปลซึ่งในองค์กรข่าวถือเป็นเรื่องปกติ ใครก็ไม่อยากเปลี่ยนแปลงตัวเองกัน แต่มันก็ต้องทำ ปัญหาคือการโน้มน้าวให้คนของ WSJ เปลี่ยนตัวเองยากมาก มีกับดักความกลัวเยอะไปหมด ตรงจุดนี้ก็เข้าใจได้นะครับ เพราะเป็นสื่อที่เอียงขวา อยู่แนวอนุรักษนิยม ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วอนุรักษ์ จะเปลี่ยนแปลงอะไรก็ยากหน่อย ไม่เหมือนนิวยอร์ก ไทมส์ ที่มีวัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนตัวเองบ่อย วิจารณ์ตัวเองบ่อยมาก ดังนั้นมันจึงเปลี่ยนถ่ายง่ายกว่า

จุดนี้เมื่อคนรุ่นเก่าไม่ยอมเปลี่ยนก็ต้องรับคนเพิ่ม ทีมวิจัยซึ่งก็เป็นพวก กอง บก.ใน WSJ ยืนยันว่าต้องมีหัวหน้าโต๊ะข่าวทีมทำข่าวหลากหลายกว่านี้ หากยังหวังจะให้มีคนอ่านทั่วทั้งโลกซื้อข่าวเป็นสมาชิก 100 ล้านคน ตอนนี้ทำได้แค่ครึ่งหนึ่ง สำหรับสื่อไทยเราอาจมองว่าเยอะมโหฬารนะครับ แต่นี่คือสื่อภาษาอังกฤษที่เข้าถึงคนอ่านได้ฐานกว้างกว่าเมืองไทย ดังนั้นการตั้งเป้าหมายแบบนี้ก็ท้าทายแต่ไม่ยากจะทำหรอกครับ

นี่คือเรื่องราวความพยายามปรับตัวของสื่อเอียงขวามากคุณภาพ ขอบอกว่า ค่าสมัครสมาชิก WSJ ค่อนข้างแพงนะครับ แถมยกเลิกยากมาก ถ้าคุณไม่ได้อยู่ในอเมริกัน คือต้องโทรฯ ไปยกเลิกด้วยตัวเอง ซึ่งไม่รู้ว่า จุดนี้หรือเปล่าที่ทำให้คนอ่านนิวยอร์ก ไทมส์ วอชิงตัน โพสต์ มากกว่า เพราะมันยกเลิกยาก คนก็เลยลองตัดสินใจอ่านกันดู

ผลก็คือติดงอมแงมกันทีเดียว

การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องใหญ่ ขอบอกว่าแม้ผมจะชอบอ่านนิวยอร์ก ไทมส์เป็นประจำทุกวัน (อันนี้จริงจังไม่กระแดนะครับ แนะนำให้ลองอ่านข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศดู เขามีมุมมองประเด็นข่าวน่าสนใจมาก โดยเฉพาะมุมมองที่เขาเขียนถึงเมืองไทยนะครับ เปิดกะลากันบ้าง) แต่ข่าวนั้นก็ควรมีความหลากหลายมีพื้นที่ให้ครบทุกกลุ่มก้อนในสังคม ด้วยคุณภาพแข่งกัน มุมมองจะแตกต่างกันอย่างไร มันเกิดประโยชน์แก่คนอ่านทั้งนั้นแหละครับ


…………………………………………………………………………………….
คอลัมน์ : หนอนโรงพักโดย “ณัฐกมล ไชยสุวรรณ”
ขอบคุณภาพจาก : Pixabay..