คลื่นไฟฟ้าสมอง มีประโยชน์ในการวินิจฉัยภาวะลมชัก แต่แพทย์ส่วนน้อยมากสามารถอ่านคลื่นไฟฟ้าสมองได้  มีเด็กมัธยมคนหนึ่งหาญกล้าพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อรับภาระนี้หรืออย่างน้อยช่วยแบ่งเบาภาระนี้ของแพทย์  การพัฒนาก้าวหน้าถึงขั้น concept proof หรือ แนวคิดมีโอกาสเป็นจริงค่อนข้างมาก

ใครๆ ก็คุ้นกับภาวะนอนกรน จำนวนไม่น้อยคงรำคาญหรือลำบากใจถ้าต้องคนข้างๆ นอนกรนถึงขั้นตนเองนอนไม่หลับ  คิวรอตรวจวินิจฉัยภาวะนอนกรนขั้นหยุดหายใจเป็นพักๆอาจนานครึ่งปีหรือกว่านั้น นักเรียนมัธยมกลุ่มหนึ่งกำลังพัฒนา “หมอนเอไอ”  ประกอบด้วยถุงลมย่อยๆ ยุบพองด้วยการอาศัยเสียงกรนให้ปัญญาประดิษฐ์แปลผลสั่งการปั๊มลมเพื่อปรับท่านอนหงาย-ตะแคงจะได้ลดเสียงกรน เช่นเดียวกับรายแรก การพัฒนาก้าวหน้าถึงขั้น concept proof

ความอึดอัดใจของคนจำนวนมากเพราะต้องรอคิวนาน หรือกระทั่งถูกปฏิเสธการตรวจหาไวรัสโควิด อาจมีทางออก เมื่อนักเรียนมัธยมอีกกลุ่มหนึ่งกำลังพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เพื่อวิเคราะห์เสียงไอและ/หรือเสียงพูดเพื่อบ่งชี้การติดเชื้อโควิด  เช่นเดียวกับรายแรก การพัฒนาก้าวหน้าถึงขั้น concept proof

ผลงานของนักเรียนมัธยมที่กล่าวมาเป็นผลงานชนะการประกวดโครงการทั้งหมด395ชิ้นของนักเรียนมัธยมที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีเป็นแม่งานจัดแจงให้เกิดขึ้นในเวลาเพียง3-4 เดือน ที่น่าสนใจเช่นเดียวกันคือ คีย์แมน เจ้าของไอเดียจัดประกวด ไม่ใช่อาจารย์ หรือบุคลากร แต่เป็นนักเรียนแพทย์ปีหนึ่ง

ในความรู้สึกของผม เยาวชนคนหนุ่มสาวเหล่านี้คือ ความหวังของประเทศไทย พวกเขาแสดงให้เห็นตัวอย่าง สมรรถนะแห่งการเรียนรู้ปรับตัวเหมาะสมแก่การเจริญงอกงามในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด  ผมรู้จักผลงานของพวกเขาได้ด้วยความปลื้มปีติ ก็เพราะการจัดการในแนวที่ทำให้ผมคิดถึง เวทีประกวดการแสดงบันเทิง  “ไทยแลนด์ทาเลนท์โชว์” หรือ  “ไทยแลนด์ก็อตทาเลนต์” เป็นต้น 

ทาเลนท์ตามแนวทางที่เล่ามานี้ มุ่งเน้นที่การพัฒนาเทคโนโลยีที่เหมาะสม เสมือน น้ำตาลผงเกลือแร่ ที่เป็นแบบอย่างนวัตกรรมเพื่อการพึ่งตนเองรักษาภาวะอุจจาระร่วงรุนแรงซึ่งเคยพรากชีวิตเด็กเล็กปีละหลายสิบล้านคนทั่วโลก เพราะเข้าไม่ถึงการรักษาในรพ.

ถ้าประเทศไทยมีเวที brain talent show แบบที่กล่าวมาแพร่หลายต่อเนื่องสม่ำเสมอ โฉมหน้าการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นผู้นำเทคโนโลยีจะแตกต่างจากที่เป็นมาสักเพียงใด.

………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด