“ฐานะที่ทำงานกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า อยากเรียกร้องให้รัฐบาลพูดเรื่องการจัดสรรวัคซีน ด้วยความจริง มีความชัดเจน โดยเฉพาะวัคซีนยี่ห้อที่ได้รับ เวลา ปริมาณที่แน่นอน และต้องมีการแจ้งที่ชัดเจนทุกครั้ง เพราะมีผลต่อการจัดการในระดับหน้างาน กระบวนการจัดการวัคซีนของรัฐบาล ที่ผ่านมาไม่เคยมีความชัดเจน ตั้งแต่เริ่มฉีดครั้งใหญ่เมื่อ 7 มิถุนายน เป็นต้นมารศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ระบายถึงปัญหาของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่ตอนนี้นอกจากจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการติดเชื้อแล้ว ปัญหาการเปลี่ยนแผนการฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อให้กับประชาชน ก็มีผลต่อการจัดการทางการแพทย์ด้วยเช่นกัน

บุคลากรการแพทย์ลุยงานหนักต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ทีมข่าว 1/4 Special Report เคยไปเกาะติดการทำงานของ กลุ่มทีมบุคลากรแพทย์ด่านหน้า ที่ รพ.สนาม ของ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ   อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ตั้งแต่ปลายเดือน เม.ย.64 ช่วงกำลังเริ่มวิกฤติโควิดฯ ระลอก 3 ช่วงนั้นยอดติดเชื้อใหม่รายวัน ยังแค่เพียงวันละ 2,000 คน พบว่าสถานการณ์ก็เริ่มจะขาดเตียงไอซียู พอมารอบนี้กลางเดือน ก.ค.64 ยอดติดเชื้อรายวัน พุ่งไปอยู่ระดับวันละ 10,000 คนไปเรียบร้อยแล้ว จากเตียงไอซียู ไม่เพียงพอก็เริ่มขยับมาเป็น ปัญหาที่เก็บศพของ รพ.กำลังจะล้นเช่นกัน ทำให้ รพ.ต้องสั่ง ตู้คอนเทเนอร์ (แบบห้องเย็น) มาสำรองไว้แล้ว 2 ตู้เพื่อเก็บศพ เนื่องจากมีทั้งศพผู้ป่วยทั่วไป ศพจากพื้นที่อื่นถูกส่งมาชันสูตร ที่นิติเวช รพ.ธรรมศาสตร์ฯ และศพผู้ป่วยโควิดฯ

รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ให้สัมภาษณ์สถานการณ์ปัจจุบันว่า ตอนนี้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด ในการระบาดรอบที่ 4 แล้วประมาณ 60 คน ซึ่ง 90% ติดเชื้อมาจากชุมชนที่พักอาศัยและครอบครัว ส่วนอีก 10% ติดจากผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาล โดยบุคลากรที่ติดส่วนใหญ่มีอายุน้อยได้ฉีดวัคซีนซิโนแวค หรือแอสตราเซเนกาแล้ว อาการป่วยส่วนใหญ่ยังไม่หนักถึงกับต้องเข้าห้องไอซียู  บุคลากรทางการแพทย์ที่ติดโควิด รอบนี้มีผลต่อการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลโดยตรง เนื่องจากส่วนใหญ่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด แต่โรงพยาบาลไม่สามารถลดงานในการดูแลผู้ป่วยได้ ตอนนี้รองรับผู้ป่วยประมาณ 70–80 เตียง ในรพ.หลัก ส่วน รพ.สนาม รองรับผู้ป่วยที่ 300 เตียง

ด้วยบุคลากรที่มีไม่สามารถลดงานได้ แต่ยังต้องมีงานเพิ่มผ่านระบบ โฮม ไอโซเลชั่น (Home Isolation) ดังนั้นการจัดการโรงพยาบาลพยายามหมุนกำลังพล โดยให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานในหอผู้ป่วยหมุนเวียนมาทำงานด้านอื่นมากขึ้น เช่น หอผู้ป่วยนอก ถ้าไม่ได้นัดกับแพทย์ไว้จะไม่รับคนไข้ เพื่อลดปริมาณผู้ป่วยส่วนนี้ จึงพยายามแก้ไข โดยประชา สัมพันธ์ให้ประชาชนที่ติดเชื้อ และมีอาการไม่รุนแรงรักษาตัวเองที่บ้าน เพราะถ้าเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลทั้งหมดบุคลากรทางการแพทย์ที่มีจะรองรับไม่ได้ เพราะโดยปกติผู้ป่วย 100 คน จะมีผู้ป่วยขั้นวิกฤติประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้ป่วยที่รักษาตัวเองที่บ้านอีก 70 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยลดความแออัด และลดการแพร่ระบาดมาสู่บุคลากรทางการแพทย์ได้

“ต้องยอมรับว่า วิกฤติบุคลากรทางการแพทย์ในด่านหน้า มีมาตั้งแต่การแพร่ระบาดในรอบล่าสุด ถ้าเรายังใช้การดูแลคนไข้แบบเก่า เตียงในโรงพยาบาลจะเต็ม และเกิดวิกฤติทางการแพทย์มากกว่านี้ ดังนั้นนโยบายในการบริหารควรมีความชัดเจนในกระบวนการที่ผู้ป่วยจะต้องเข้าสู่โรงพยาบาล โดยต้องมีนโยบายระดับประเทศ ที่กำหนดว่า ผู้ป่วยอาการหนักแบบไหนต้องเข้ามารักษาในโรงพยาบาล หรือรักษาตัวเองที่บ้านได้”

ในส่วนของวิกฤติไอซียู ผู้ป่วยหลายท่านต้องรักษาแบบประคับประคอง หรือรักษาในลักษณะผู้ป่วยระยะสุดท้าย เนื่องจากไม่สามารถนำผู้ป่วยทุกคนเข้าไปรักษาในห้องไอซียูได้หมด ตัวอย่างเช่น มีผู้ป่วยอายุเกิน 60 ปี อยู่ 10 คน แต่ห้องผู้ป่วยไอซียู ที่มีเครื่องช่วยหายใจอยู่แค่ 6 ห้อง ซึ่งยังไม่รวมผู้ป่วยที่มีอายุน้อย แต่มีภาวะของโรคที่รุนแรง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ดังนั้นจึงต้องใช้กระบวนการรักษาแบบประคับประคองมาช่วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบด้านจิตใจกับบุคลากรทางการแพทย์และญาติผู้ป่วย

ชี้ชาวบ้านกังวลฉีดวัคซีนสูตรผสม

รศ.นพ.พฤหัส กล่าวต่อว่า สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า นอกจากการดูแลคนไข้แล้ว ยังต้องสลับไปบริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน หลังจากที่รัฐบาลประกาศแผนการฉีดวัคซีนใหม่ โดยให้ฉีดซิโนแวค 1 เข็ม และแอสตราเซเนกา 1 เข็ม เริ่มจะมีปัญหาในด้านการบริหารจัดการ เพราะนโยบายรัฐบาลประกาศออกมา แต่ตัวแผนการในการรับวัคซีน หรือปริมาณวัคซีนที่จะได้รับยังไม่มีการประกาศออกมาอย่างชัดเจน สิ่งนี้ทำให้กระบวนการจัดการหน้างานมีปัญหาเพราะเมื่อรัฐบาลประกาศออกมา คนที่ก่อนหน้านั้นฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 1 เข็ม เมื่อมาฉีดเข็มที่ 2 อยากได้วัคซีนแอสตราเซเนกา ตามสูตรผสม แต่ทางโรงพยาบาลไม่ได้มีวัคซีนที่เพียงพอจะฉีดให้ โดยเฉพาะคนที่มารับวัคซีนในตอนนี้จนถึงปลายเดือนกรกฎาคม

แม้กระทั่งผู้ที่มาฉีดวัคซีนเข็มแรก ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ก.ค. พอได้รับซิโนแวคเข็มแรกไป เริ่มมีความกังวล และมีการเรียกร้องกับแพทย์หน้างาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ที่ตอนเริ่มลงทะเบียนบอกว่าจะฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม แต่พอมาเปลี่ยนสูตรการฉีดวัคซีนแบบผสมกะทันหัน ทำให้เกิดปัญหาการจัดการวัคซีนหน้างานดังนั้นรัฐบาลจำเป็นจะต้องพูดให้ชัดเจนถึงปริมาณวัคซีน และระยะเวลาที่จะจัดสรร รวมถึงวันที่เริ่มต้นฉีด เพื่อจะวางแผนวัคซีนให้เพียงพอเหมาะสมกับระยะเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งรัฐบาลควรจะฉีดแอสตราเซเนกา
ให้เสร็จสิ้นตามโควตา จนถึงสิ้นเดือนนี้ก่อน แล้วค่อยมีการกำหนดการฉีดสูตรผสมแบบใหม่ในเดือนถัดไป แต่ต้องประกาศให้ชัดเจน และชี้แจงให้เห็นภาพว่า วัคซีนที่จะเข้ามาเพียงพอกับการฉีดแบบผสมผสาน ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารจัดการหน้างาน

“ถ้ามาดูหน้างาน ประชาชนมีความกังวลกับการฉีดวัคซีนแบบสลับเยอะ บางคนก็ไม่ยินยอม ขณะที่วัคซีนที่โรงพยาบาลได้รับจัดสรรมา ก็ไม่เป็นไปตามที่ประชาชนเรียกร้อง โดยการฉีดวัคซีนของโรงพยาบาลจะต้องฉีดให้ประชาชนวันละ 2,000–2,500 คน ดังนั้นความต้องการของผู้รับวัคซีนจึงมีความหลากหลาย และบางอย่างก็เกินความสามารถที่บุคลากรทาง การแพทย์หน้างานจะแก้ไขได้”

ความหวังฉีด “เข็ม3” วัคซีน mRNA

ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  กล่าวทิ้งท้ายว่า ด้านการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ของบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ยังพอมีวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่ได้รับการจัดสรรอยู่ส่วนหนึ่ง แต่จะเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์เลือกว่า วัคซีนเข็มที่ 3 จะฉีดของ แอสตราเซเนกา หรือ ไฟเซอร์ ที่จะมีการเร่งจัดสรรเข้ามา เช่นเดียวกับวัคซีนโมเดอร์นา ที่จะเข้ามาในเดือนตุลาคมนี้  สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ที่คาดหวังจะฉีด วัคซีน mRNA เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หากยังไม่มีการนำเข้ามาตามวันที่กำหนด หลายคนมีความกังวล เพราะถ้ารัฐบาลไม่ประกาศชนิดวัคซีนที่นำเข้ามา รวมถึงวันที่แน่นอน และจำนวนที่นำเข้ามาชัดเจน จะเป็นปัญหาต่อการตัดสินใจของบุคลากรทางการแพทย์

ตัวอย่างเช่นตอนนี้กลางเดือนกรกฎาคม ถ้ามีประกาศชัดเจนว่า จะนำเข้าไฟเซอร์ มาตอนสิ้นเดือน ก.ค. เท่ากับเราเสียโอกาสไป 15 วัน ในกลุ่มคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย เพราะในระยะเวลา 15 วัน ถือเป็นช่วงอันตรายที่บุคลากรทางการแพทย์ยังคงต้องทำงานสัมผัสกับผู้ป่วยโควิดฯ เหมือนเดิม แต่ถ้าไฟเซอร์ไม่มาก็จะได้ตัดสินใจฉีดแอสตราเซเนกา ที่เมื่อฉีดแล้ว 2 อาทิตย์ถึงจะมีภูมิต้านทานเพิ่ม ดังนั้นเวลาจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญ ในการตัดสินใจของบุคลากรทางการแพทย์อย่างยิ่ง.