จากวันวาเลนไทน์-วันแห่งความรัก วันที่ 14 ก.พ. สำหรับในปี 2565 นี้ให้หลัง 2 วันก็เป็น “วันมาฆบูชา” ที่ปีนี้ตรงกับวันที่ 16 ก.พ. ซึ่งอีกหนึ่งวันสำคัญอย่าง “วันมาฆบูชา” นี้…ก็ถือว่าเป็น “วันแห่งความรักในทางพระพุทธศาสนา” โดยในช่วงเดือน ก.พ. ที่ถือเป็นเดือนแห่งความรัก ที่กระแสเรื่องความรักได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วไปจำนวนมาก ในขณะที่ระยะหลัง ๆ มานี้ในสังคมไทยนั้นกระแสเกี่ยวกับกรณี “รักร้าย ๆ” กระแส “รักแล้วทำลายกัน-รักแล้วทำร้ายกัน” หรือถึงขั้น “รักแล้วฆ่ากัน” ครึกโครมขึ้นอย่างมากอีก!! กับการพลิกแฟ้มเพื่อพินิจ “ความรักในทางพุทธศาสนานี่น่าจะเป็นประโยชน์…

“รักอิงธรรม” นั้นสามารถ “ส่งผลดีกับทุกฝ่าย”

“ผลดีมีแน่” ซึ่งก็ “ไม่เว้นแม้แต่กับผู้ที่พ่ายรัก!!”

ทั้งนี้ ในเมืองไทย ในสังคมไทย ในช่วงหลัง ๆ มานี้ เป็นอีกช่วงที่ดูเหมือนจะเกิด “กรณีสะเทือนขวัญ” กรณีร้าย ๆ ที่ “มีปัจจัยมาจากเรื่องความรัก” ขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิดกรณีน่าสลดใจที่ “มีปัจจัยมาจากความรักที่ไม่สมหวัง” เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกับ “การใช้ความรุนแรงจากปัจจัยความรัก” เรื่องร้าย ๆ อย่างการทำลายกัน-ทำร้ายกัน-ฆ่ากัน จะไม่เกิดขึ้น…ถ้าหาก “หัวใจยึดธรรม” ถ้าหากหัวใจรู้จัก “รักอย่างอิงธรรม” ซึ่งเรื่องธรรมในกรณีนี้มิตินี้ในทางพุทธศาสนามีแง่มุมชวนพินิจ…

กลางกระแสรัก ๆ ก็เชิญชวนมาพินิจพิจารณากัน…

อย่างเช่นแง่มุมในทางพุทธศาสนาที่ทางท่าน ว.วชิรเมธี ได้เคยเผยแผ่ผ่านทางบทความธรรมไว้ว่า… “หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆบูชา” นั้น ล้วนเป็น “หลักธรรมนำไปสู่ความรักอันเป็นสากล” เช่นการ… “ไม่ทำความชั่วทั้งปวง ทำความดีให้ถึงพร้อม ชำระจิตให้บริสุทธิ์” ทั้งนี้ พิจารณารายละเอียด โอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในวันมาฆบูชา ก็จะพบว่า… มีสาระที่ชี้ทางให้มวลมนุษยชาติอยู่ร่วมกันด้วยความเมตตา และปรารถนาดีต่อกัน…

ชี้ทางให้มวลมนุษย์รู้จัก “อยู่ร่วมกันด้วยความรัก

ทางด้าน สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ท่านก็เคยให้โอวาทแก่พุทธศาสนิกชนชาวไทยโดยเป็นโอวาทที่เกี่ยวกับเรื่องรัก เช่น… อุดมการณ์ 4 ของพระพุทธศาสนา นี่ก็ถือเป็น “หัวใจสำคัญ” กล่าวคือ… 1.ความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ที่มากระทบ, 2.ความดับความเย็นสนิทของใจจากกิเลส หรือพระนิพพาน, 3.การไม่ประทุษร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายผู้อื่น, 4.การไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ซึ่งถ้ามนุษย์อยู่ร่วมกันด้วย “ความรักที่อิงธรรม” เช่นนี้ อยู่โดยที่มีความอดทนอดกลั้น รู้จักให้อภัยกัน มีจิตใจที่สุขุมรอบคอบ ไม่เบียดเบียนกัน ไม่ทำร้ายกัน ชีวิตก็จะมีความสุข

รักในมิตินี้…“รักอิงธรรม“ ย่อม “ดีอย่างแน่นอน”

“รักแล้วทำลาย-ทำร้าย-ฆ่า” เช่นนี้ “ไม่น่าจะใช่รัก”

ทั้งนี้ พลิกแฟ้มดูเรื่องเกี่ยวกับ “รัก-ความรัก” ในมิติที่ “ในทางพุทธศาสนาชี้ทางไว้” ที่ผ่าน ๆ มาในสังคมพุทธสังคมไทยก็ได้มีการเผยแผ่ไว้มากมายในหลาย ๆ โอกาส ซึ่งจนถึงปัจจุบันก็ยัง “ร่วมยุคสมัย” และก็ “น่าพิจารณา-น่าปฏิบัติ” ทั้งในปัจจุบัน และสืบเนื่องต่อ ๆ ไปในอนาคต… ซึ่งก็รวมถึงการชี้ทางไว้ตั้งแต่เมื่อกว่า 5 ปีมาแล้ว โดย พระครูสุนทรธรรมพาที วัดนิมมานรดี กรุงเทพฯ ในการเสวนาธรรมพิเศษตามโครงการเรายกวัดมาไว้ที่เซเว่นฯ สัญจร “ธรรมสู่เยาวชน” ที่จัดโดยซีพี ออลล์ โดยการ “ชี้ทางเรื่องรักในทางพุทธศาสนา” ในครั้งนั้น ก็ถือว่าเป็นการชี้ทางอย่างที่สามารถเข้าใจได้โดยง่าย…

พลิกแฟ้มดูหลักใหญ่ใจความ โดยสังเขปนั้นมีว่า…

มีมากมายหลายคนที่เสียใจเพราะรัก มีมากมายหลายคนที่รู้สึกว่าตนเองพ่ายแพ้ให้กับความรัก รู้สึกผิดหวัง จนบางคน คิดทำอะไรที่เป็นการประชดชีวิต นี่ก็ เพราะไร้ซึ่งภูมิคุ้มกัน ดังนั้น “เรื่องความรักควรต้องมีภูมิคุ้มกัน” อย่ารักแบบไม่ลืมหูลืมตา… และขณะเดียวกันก็ ควรมองความรักให้กว้าง มิใช่แค่คน 2 คน ควรมองความรักแบบเมตตา…

โดย “มอบความรักให้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา”

สำหรับ “ภูมิคุ้มกันเรื่องความรัก” นี่ก็มีการขยายความไว้ด้วยว่า… ภูมิคุ้มกันความรักในกรณีนี้ ประกอบด้วย 4 ประการ 4 แบบ กล่าวคือ… “รักตัวกลัวตาย” ซึ่งในที่นี้หมายถึง ต้องรู้จักรักตัวเอง และดูแลตัวเองในทางที่ดี ด้วย, “รักเมตตาโอบอ้อมอารี” ในที่นี้หมายถึง หวังดีต่อคนที่พบเจอ หวังดีต่อคนที่คบหา มีน้ำใจต่อกัน, “รักใคร่ไม่ใฝ่กามา” รักแบบระวัง ไม่มุ่งแต่จะครอบครอง ไม่แย่งชิง และประการนี้ในที่นี้ยังหมายถึง รักกันคบกันแล้วพากันทำสิ่งดี ๆ รวมถึง…

ควร พากันทำสิ่งที่นับเป็นบุญร่วมกัน ด้วย

และอีกประการสำหรับ “ภูมิคุ้มกันความรัก” ที่ “ในทางพุทธศาสนาชี้ทางไว้” ในส่วนนี้ ซึ่งก็ “น่าพินิจพิจารณา” คือ… “รักนี้มีแต่ให้” ซึ่งในที่นี้หมายถึง ความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูก ที่เป็นรักที่ไม่หวังอะไร เป็นรักอีกแบบที่ทั้งสำคัญและทั้ง “น่าตระหนักไว้เพื่อจะช่วยให้ฉุกคิด ให้ยับยั้งชั่งใจ “ไม่ทำอะไรร้าย ๆ เพราะเรื่องรักให้พ่อแม่ต้องเสียใจ”

ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำรักในมิตินี้มาสะท้อนย้ำไว้

รับเทศกาลแห่งรักปีนี้…ยุคที่ “รักร้าย ๆ เกิดขึ้นมาก”

แม้จะ “พ่ายรักแพ้รัก” แต่ “ก็ใช่ว่าชีวิตจะพังสิ้น

“รักอิงธรรม” พินิจไว้…ชีวิตยิ่ง “ไม่พังเพราะรัก”.