แม้ตั้งแต่หลายวันก่อนจะมีฝนกระหน่ำในหลายพื้นที่ของไทย แต่กับ “สถานการณ์ภัยแล้งปี 2565” ก็มีทีท่า “มาเร็ว-น่าห่วง” โดยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ไว้ว่า… ตั้งแต่กลางเดือน ก.พ. ประเทศไทยจะเผชิญ “สภาวะฝนน้อย” ปริมาณฝนรวมจะต่ำกว่าค่าปกติ อุณหภูมิประเทศไทยจะเริ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดสภาพอากาศร้อนอบอ้าวและแห้ง ซึ่งกับ “แผนรับมือภัยแล้งปี 2565” หลายหน่วยงานก็เริ่มขยับเขยื้อนกันบ้างแล้ว ส่วนจะรับมือสถานการณ์ได้แค่ไหน?? คงต้องตามดูกันต่อไป…

อย่างไรก็ตาม ว่ากันด้วยเรื่อง “การคาดการณ์สถานการณ์ภัยพิบัติล่วงหน้า” กรณีนี้นับว่า “เป็นเรื่องสำคัญ” ซึ่งนอกจากจะทำให้ประชาชน “รู้ทันเหตุการณ์เพื่อปรับตัวรับสถานการณ์” ได้ดีแล้ว ก็ยังมีส่วนช่วย “ป้องกันความเสียหาย” ได้อีกทางหนึ่ง โดยนอกจากเครื่องมือเดิม ๆ ที่ใช้กันแล้ว ยังมีอีกหนึ่ง “เครื่องมือพยากรณ์ภัยพิบัติ” ที่ก็ถือว่า “น่าสนใจ” นั่นคือ “วัฏจักรน้ำในป่า” ซึ่งวันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” มีผลศึกษาวิจัยโดยนักวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาสะท้อน…

เป็นการวิจัยเพื่อใช้เป็นอีก “เครื่องมือคาดการณ์”

เพื่อ “พยากรณ์แนวโน้มการเกิดภัยพิบัติล่วงหน้า”

ทั้งกับ “ภัยน้ำแล้ง” “ภัยน้ำท่วม” รวมถึง “ภัยไฟป่า”

รศ.ดร.พันธนา ตอเงิน

เกี่ยวกับงานวิจัยเพื่อ “คาดการณ์ภัยพิบัติ” ด้วยการนำ “วัฏจักรน้ำในป่า” มาใช้เป็น “เครื่องมือพยากรณ์” นั้น เป็นผลงานโดย รศ.ดร.พันธนา ตอเงิน ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้ศึกษา “ผลกระทบของความแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศต่อวัฏจักรน้ำในระบบนิเวศป่า” เพื่อหาคำตอบ “แนวโน้มการเกิดภัยพิบัติของประเทศไทย” โดยผลงานนี้เผยแพร่อยู่ใน เว็บไซต์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ ทาง รศ.ดร.พันธนา ระบุถึงวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัยเรื่องนี้ไว้ว่า… หากสามารถคาดการณ์ได้ว่าผืนป่าแห่งหนึ่งช่วยดูดซับน้ำได้เท่าใด เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ก็จะทำให้ประเมินได้ว่า… น้ำป่าที่จะไหลลงสู่แหล่งชุมชนซึ่งอยู่ปลายน้ำจะมีปริมาณมากหรือน้อย จะเกิดภัยพิบัติ หรือจะสร้างความเสียหายให้ระบบนิเวศปลายน้ำ หรือไม่??

แล้วข้อมูลการใช้น้ำของป่าสำคัญอย่างไรต่อการทำนายภัยพิบัติ?? สำหรับเรื่องนี้ทาง รศ.ดร.พันธนา ได้อธิบายไว้ว่า… ปัจจุบันป่าไม้ทั้งในประเทศไทยและหลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะแห้งแล้ง ซึ่งในต่างประเทศได้มีการเฝ้าระวังปัญหาด้วยการเก็บข้อมูลจากป่าอย่างเป็นระบบ แต่ในประเทศไทยนั้น ยังขาดการเก็บข้อมูลในส่วนนี้ โดยการ “ศึกษาวัฏจักรน้ำในระบบนิเวศป่า” ที่จัดทำขึ้น จะเน้น เก็บข้อมูลอัตราการไหลของน้ำในต้นไม้ และปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม เป็นสำคัญ เพื่อนำมา ประเมินอัตราการใช้น้ำของป่า และ ความสามารถในการทนแล้งของพันธุ์ไม้ในป่า ด้วย…

“วัฏจักรน้ำในป่า ประกอบด้วยน้ำฝนที่ตกลงสู่ผืนป่า โดยน้ำฝนบางส่วนจะถูกดูดซับหรือใช้โดยต้นไม้ในป่า จากนั้นจะคายน้ำกลับสู่ชั้นบรรยากาศในรูปของไอน้ำ ซึ่งมีส่วนช่วยลดอุณหภูมิ ทำให้เกิดความร่มเย็น ส่วนน้ำฝนที่เหลือจะไหลออกจากป่าลงไปสู่แม่น้ำหรือชุมชนรอบป่า” …รศ.ดร.พันธนา อธิบายไว้ถึง “หลักการใช้น้ำของป่า”

ที่สามารถ “ใช้ประเมินโอกาสการเกิดภัยพิบัติ”

นักวิชาการวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม แจงไว้อีกว่า… ในทางกลับกัน ถ้าต้นไม้ในป่าลดลงหรือสูญไป การคายระเหยก็จะลดลง ส่งผลให้มีน้ำไหลออกจากป่ามากขึ้น ซึ่งหากไม่มีการบริหารจัดการที่ดี ก็อาจเกิดภัยพิบัติสร้างความเสียหายแก่ชุมชนรอบนอก นี่จึงเป็นที่มาของการ ติดตั้งระบบตรวจวัดอัตราการใช้น้ำในป่า ซึ่งป่าที่ใช้เป็นพื้นที่วิจัย ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเลือกพื้นที่ป่า 2 ส่วน ที่อายุต่างกันเพื่อเก็บข้อมูล ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งแรกที่มีการเก็บข้อมูลการใช้น้ำของป่า

กระบวนการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อ ศึกษาและเก็บข้อมูล “วัฏจักรน้ำในป่า” นั้น เรื่องนี้นักวิจัยท่านเดิมแจกแจงไว้ว่า… ทีมวิจัยจะติดตั้งเสาให้มีความสูงกว่าเรือนยอดของต้นไม้ในป่า เพื่อติดตามสภาพอากาศในป่าทั้ง 2 ส่วน และมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นเองที่เป็นหัววัดอัตราการไหลของน้ำในต้นไม้ จะมีการศึกษาอุณหภูมิ ความชื้นในอากาศ ความเข้มแสงอาทิตย์ ความเร็วลม ปริมาณน้ำฝน ความชื้นในดิน ซึ่งล้วนได้รับอิทธิพลจาก การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและลักษณะโครงสร้างของป่าไม้ แล้วก็ใช้ข้อมูลที่ได้นี้ นำมาคำนวณปริมาณการใช้น้ำของป่า …เป็นการบอกเล่าไว้ถึงวิธีศึกษาวิจัย

“ข้อมูลที่ได้จะบ่งบอกว่าป่าทั้ง 2 ส่วน กักเก็บน้ำได้ในปริมาณเท่าใด และปล่อยน้ำออกสู่ชุมชนรอบนอกปริมาณเท่าใด ซึ่งจะช่วยให้คาดการณ์อนาคตได้ว่า…จะเกิดอุทกภัยมากน้อยเพียงใดในแต่ละปี

ทั้งนี้ กับ “ระบบการเก็บข้อมูลวัฏจักรน้ำในป่า” ดังกล่าวนี้ รศ.ดร.พันธนา ยังได้ให้ข้อมูลไว้ด้วยว่า… ในอนาคตอาจขยายผลการศึกษาไปสู่พื้นที่ป่าอื่น ๆ เพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอที่จะ นำมาใช้สำหรับการวางแผนบรรเทาภัยพิบัติให้กับชุมชน ในพื้นที่ ส่วนอุปกรณ์ที่ได้ติดตั้งเอาไว้แล้วก็ได้เริ่มมีการเก็บข้อมูลการใช้น้ำของป่ามาตั้งแต่ปลายปี 2563 แล้ว และจะติดตามเก็บข้อมูลต่อเนื่องไปอีก 30 ปี หากเป็นไปได้ ซึ่งถ้าเก็บข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยให้วิเคราะห์ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์เชิงนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องการ “วางแผนป้องกันภัยพิบัติระยะยาว” …

เพื่อจะทำให้ “การบริหารจัดการน้ำแม่นยำมากขึ้น”

ทำให้ “การป้องกันภัยพิบัติด้านน้ำมีประสิทธิภาพ”

ป้องกันภัยได้ “เท่าทันโลกยุคอากาศแปรปรวน!!” .